xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซีทุ่ม 300 ล้าน อัดแคมเปญ “KTC มีแต้มต่อ” กระตุ้นยอดส่งท้ายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางจุด ประกอบกับในไตรมาส 4 เป็นช่วงฤดูกาลของการจับจ่ายใช้สอย เคทีซีจึงจัดแคมเปญใหญ่ “KTC มีแต้มต่อ” เพื่อกระตุ้นยอดใช้จ่าย และมอบสิทธิพิเศษที่คุ้มค่ากับลูกค้า รวมถึงอุดหนุนร้านค้าอันเป็นพันธมิตรของเคทีซี โดยจะเน้นไปใน 2 กลุ่มหลักซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ถือบัตรนิยมในช่วงดังกล่าว คือ กลุ่มร้านอาหาร และชอปปิ้ง โดยเป็นการร่วมกับมากกว่า 170 พันธมิตรร้านค้า ด้วยงบประมาณการตลาด 300 ล้านบาท

สำหรับแคมเปญ “KTC มีแต้มต่อ” คะแนน KTC FOREVER จะมีค่ามากกว่าปกติด้วยสิทธิพิเศษ 2 รูปแบบหลัก ดังนี้ 1) ใช้ 999 คะแนน KTC FOREVER แลกรับส่วนลดมูลค่า 200 บาท แลกรับส่วนลดสูงสุด 30% แลกรับสินค้ามูลค่าสูงสุด 200 บาท หรือแลกซื้อ e-Voucher Deals ในราคาลดสูงสุด 50% 2) ใช้คะแนน KTC FOREVER เท่ายอดใช้จ่าย แลกรับส่วนลดสูงสุด 25% หรือแลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 15% โดยสมาชิกสามารถแลกคะแนนได้อย่างสะดวกสบาย ณ จุดขาย ที่หน้าร้านพันธมิตรกว่า 170 ร้านค้า หรือผ่านแอป KTC Mobile เว็บไซต์ KTC เว็บไซต์ KTC USHOP KTC World Travel Service หรือ QR Point ของร้านค้าที่ร่วมรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 ธันวาคม 2564

“ปัจจุบัน เคทีซีมีฐานสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีกว่า 2.5 ล้านบัตร มีจำนวนคะแนน KTC FOREVER ทั้งสิ้นกว่า 12,000 ล้านคะแนน โดยในช่วงปกติแต่ละเดือนจะมีจำนวนคะแนน KTC FOREVER ที่สมาชิกนำมาแลกประมาณ 400 ล้านคะแนน สำหรับไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีการแลกคะแนนสูงกว่าไตรมาสอื่นๆและคาดว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้ สมาชิกจะให้การตอบรับแคมเปญ “KTC มีแต้มต่อ” อย่างดี ส่งผลให้จำนวนการแลกคะแนนมากขึ้น 20% หรือ 2,000 ล้านคะแนน” นางพิทยา กล่าว

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” กล่าวว่า สำหรับแคมเปญ “KTC มีแต้มต่อ” ในไตรมาส 4 นี้ คะแนน KTC FOREVER ถือเป็นกุญแจหลักในการมอบสิทธิพิเศษให้สมาชิก ดังนั้น หมวดร้านอาหารจึงเป็นหมวดที่เคทีซีให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นหมวดที่สมาชิกนิยมนำคะแนนมาแลกรับสินค้าหรือบริการ โดยตลอดปี 2563 มียอดรวมคะแนนที่สมาชิกนำมาแลกทั้งสิ้นกว่า 1,100 ล้านคะแนน นอกจากนี้ พันธมิตรในหมวดร้านอาหารยังได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เคทีซีจึงได้เชิญชวนพันธมิตรร้านอาหารมากถึง 80 ร้านค้า ครอบคลุมกว่า 3,000 แห่ง เข้าร่วมแคมเปญเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจของพาร์ตเนอร์ โดยร้านอาหารที่เข้าร่วมแคมเปญประกอบด้วย ร้านบุฟเฟต์ อาทิ ซูกิชิ (Sukishi), โออิชิ (Oishi), ชาบูชิ (Shabushi), อะคิโยชิ (Akiyoshi), เรดซัน (Red Sun) ร้าน Stand-alone เช่น วอเตอร์ ไลบรารี่ (Water Library), หงเปา (Hong Bao), จัมโบ ซีฟู้ด (Jumbo Seafood), แคมส์ โรสต์ (Kam’s Roast) ร้านกลุ่มที่ใช้คะแนนน้อย เช่น คริสปีครีม (Krispy Kreme), กาเร็ต ป๊อปคอร์น (Garrett Popcorn), แมคโดนัลด์ (McDonald’s) โดยคาดว่าในหมวดร้านอาหารตลอดแคมเปญดังกล่าวจะมีจำนวนคะแนนที่สมาชิกนำมาแลกมากถึงกว่า 500 ล้านคะแนน

นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้อำนวยการ - ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้สมาชิกคุ้นชินกับการชอปปิ้งออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียของพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นแทนที่การใช้จ่ายที่หน้าร้าน จึงทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 30% เป็น 40% โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่าน e-Marketplace ต่างๆ มีการเติบโตมากขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 (มกราคม-สิงหาคม) สำหรับเดือนกันยายนห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ในศูนย์การค้าฯ ได้กลับมาเปิดกิจการเป็นปกติ รวมถึงไตรมาส 4 เป็นช่วงเทศกาลของการจับจ่ายใช้สอย จึงคาดว่ายอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรในทุกช่องทางของพันธมิตรจะกลับมาคึกคักขึ้น

สำหรับแคมเปญ “KTC มีแต้มต่อ” เคทีซีได้รวบรวมพันธมิตรในหมวดชอปปิ้งมากกว่า 60 ร้านค้า 670 แห่งทั่วประเทศ เพื่อมอบสิทธิพิเศษให้สมาชิก โดยในปี 2563 หมวดชอปปิ้ง (ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์) มีจำนวนสมาชิกนำคะแนนสะสม KTC FOREVER มาแลกสินค้าหรือบริการมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในพอร์ต โดยยอดรวมคะแนนที่มีการนำมาแลกทั้งสิ้นกว่า 1,800 ล้านคะแนน และคาดว่าในหมวดชอปปิ้งตลอดแคมเปญดังกล่าวจะมีจำนวนคะแนนที่สมาชิกนำมาแลกมากกว่า 700 ล้านคะแนน

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนั้น นางพิทยา กล่าวว่า ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในช่วง 9 เดือนแรกของปียังคงลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยอดใช้จ่ายน่าจะดีขึ้นหลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ ประกอบกับเคทีซีมีแคมเปญดังกล่าวออกมา จึงคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 58,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1-2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดใช้จ่ายทั้งปีรวม 195,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 197,000 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าเบื้องต้นตั้งเป้ายอดใช้จ่ายเติบโต 8-10% และมียอดบัตรใหม่ที่ 250,000 ใบ จากการคาดการณ์ที่วิกฤตโควิด-19 คลี่คลายและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น