xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณบวก Q4 ปลุกอสังหาฯ คึก ชี้ส่งออกแรงไม่พอการันตี ศก.ฟื้น ท่องเที่ยวต้องโตอย่างน้อย 30% พร้อมแก้แรงงานขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเดินหน้านโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดูจะมีความหวังมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากยอดการส่งออก 7 เดือนของปี2564 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมการส่งออกเดือน ก.ค.2564 มีมูลค่า 22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่า 20.27% ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยจะยังขยายตัว 25.83% ด้านการนำเข้า ก.ค.2564 มีมูลค่า 22,487 ล้านเหรียญ ขยายตัวต่อเนื่อง

โดยการนำเข้ามีมูลค่า 22,467.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45.94% ทำให้ยังมีดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของภาคการผลิตดีในประเทศ ขณะที่ยอดส่งออกสะสมในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) 2564 พบว่า มีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.20% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 152,362.86 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28.73% ทำให้ดุลการค้า 7 เดือนแรก ยังเกินดุล 2,622.62 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
การที่ภาคการส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่ดีและสะท้อนให้เห็นว่าทิศางเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัวบ้างแล้ว และจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องไปในปี 2565 ซึ่งแน่นอนว่าการฟื้นตัวนี้จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งรวมไปถึงผู้บริโภคที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลดีไปถึงตลาดอสังหาฯ ในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้าด้วย


อิสระ บุญยัง
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในฐานะประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกในช่วงปลายปี 2564นี้ นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำแล้ว การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นอีกปัจจัยที่เอื้อต่อภาคการส่งออกให้ขยายตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อคนในประเทศในระยะถัดไป นอกจากนี้ การเปิดเมืองปลอดภัยรับนักท่องเที่ยว และการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และจำนวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีจำนวนมากขึ้น และเริ่มเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนทยอยได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และทำให้ประชาชนในประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่งผลให้สัญญาณบวกทางเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงทิศทางการฟื้นตัว ยังมีความเปราะบาง เช่น การเปิดประเทศ และเมืองปลอดภัยรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น แม้ว่าในระยะแรกมีความคึกคักและมีชาวต่างชาติแสดงความต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นมีจำนวนไม่มากพอจะขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว สังเกตได้จากโครงการนำร่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งในช่วงแรกนั้นได้รับการตอบรับที่ดีมาก แต่ในระยะต่อมาจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามากลับมีจำนวนลดลง 

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากโครงการไม่ดี ไม่มีความพร้อม แต่เกิดจากการเข้มงวดและการระมัดระวังการคัดกรองนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นมาตรการที่ดี เพราะแม้ว่าในภูเก็ตจะมีการระบาดของโควิด-19 ลดลง แต่ต้องตรวจสอบด้วยว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามานั้นประเทศต้นทางนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นอย่างไรทำให้การคัดกรองต้องมีความเข้มงวดและมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา

“เราต้องเข้าในว่าประเทศไทยนั้นมีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องกลับมาขยายตัว 30-40% เป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระดับดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนแล้วแต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวนั้นต้องยอมรับว่ากลับมาขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร” นายอิสระ กล่าว

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือttb analytics ซึ่งได้ทำการศึกษาประเมินผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2-3 ปี 2564 ทำให้ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์เพียงบางส่วน แต่ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยถึง 20% ของจีดีพี


ทั้งนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด รายได้การท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท หลังการแพร่ระบาดรายได้การท่องเที่ยวปี 2563 ลดลงเหลือ 0.79 ล้านล้านบาท หรือหดตัว 71% เมื่อเทียบปี 2562 และยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) รายได้อยู่ที่ 0.14 ล้านล้านบาท หรือหดตัวลง 92% จากปี 2562 ซึ่งเมื่อรวมผลกระทบตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 20 เดือน (ม.ค.2563-ส.ค.2564) เทียบกับระดับรายได้ปกติปี 2562 พบว่ารายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 3.55 ล้านล้านบาท หรือลดลง 79% โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลง 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67% ที่เหลือเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย ลดลง 1.17 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33%

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบประเมินจากโครงสร้างรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยพบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ โรงแรมและที่พัก (ลดลง 8.8 แสนล้านบาท) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม (ลดลง 7.7 แสนล้านบาท) ร้านขายของที่ระลึก (ลดลง 7.0 แสนล้านบาท) สถานบันเทิง (ลดลง 4.7 แสนล้านบาท) บริการรับส่งนักท่องเที่ยว (ลดลง 3.4 แสนล้านบาท) ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ลดลง 2.7 แสนล้านบาท) และบริการอื่นๆ (ลดลง 1.2 แสนล้านบาท) ล่าสุดการท่องเที่ยวเริ่มมีความหวังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากการที่ภาครัฐประกาศโรดแมปฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยในเดือนตุลาคม พร้อมเปิด 2 โครงการ ได้แก่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” โดยมุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้

โดย ttb analytics ประเมินว่าการคลายล็อกดาวน์จะส่งผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาได้บ้าง โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยจะเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วง High Season ประกอบกับการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐจะทำให้คนไทยกลับมาท่องเที่ยวได้บ้าง ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าการฟื้นตัวยังถูกจำกัด เนื่องจากการเปิดประเทศถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องวางแผนล่วงหน้าก่อนเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาได้เร็วที่สุดคือ ต้นเดือนธันวาคม ทำให้ภาพรวมปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมเพียง 1 แสนคนเท่านั้น จากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 6.7 ล้านคน ทำให้คาดว่าปี 2564 รายได้จากการท่องเที่ยวจากคนไทยและต่างชาติรวมกันจะอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท โดยอัตราเข้าพักโรงแรมคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8% ส่วนแนวโน้มปี 2565 คาดว่ารายได้นักท่องเที่ยวโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนล้านบาท และอัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 23.8% ภายใต้สมมติฐานไม่มีการล็อกดาวน์อีก


นายอิสระ กล่าวว่า นอกจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอย่างน้อย 30-40% ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง คือการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบ จากที่ก่อนหน้าจะเกิดการแพ่ระบาดของโควิด-19 มีแรงงานต่างชาติที่ทยอยเดินทางกลับประเทศต้นทางจำนวนมาก และไม่สามารถเดินทางกลับมาเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ เพาะติดปัญหาการล็อกดาวน์ ประกอบกับในช่วงที่มีการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง ส่งผลให้แรงงานจำนวนมากทยอยเดินทางกลับถิ่นฐานเดิม ทำให้แรงงานในระบบหายไปกว่า 300,000 คน

นอกจากนี้ การเกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งต้องประกาศหยุดดำเนินการ และปิดโรงานจำนวนไม่น้อย ยังทำให้แรงงานจำนวนบางส่วนต้องตกงานและกลับสู่ถิ่นฐานเดิมยิ่งส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจนเกิดการแย่งชิงแรงงานข้ามอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาแต่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจหรือขยายธุรกิจ และในภาครวมเศรษฐกิจจะต้องประสบปัญหาแรงงานไม่เพียงพอรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง ดังนั้นในเบื้องต้นนี้หากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง จึงจำเป็นต้องดูด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาแรงงานในระบบเป็นปัจจัยสำคัญประกอบ

ซึ่งในด้านการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ในเบื้องต้นทราบว่าภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาหอการค้าฯ ได้เตรียมเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการที่สนับสนุนการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นแรงงานหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ โดยรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาและออกประเทศให้แก่แรงงานอย่างปลอดภัย และถูกต้องตามระบบ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ต้องมีการหารือร่วมกันในการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาแรงงานด้วย



อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัญญาณบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่ในฝั่งของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้นยังคงระมัดระวัง และไม่รีบร้อนลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ แต่จะยังคงจับตาดูสถานการณ์ และปัจจัยต่างๆ รอบด้านอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจัยของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สังเกตได้จากการจัดทำแผนธุรกิจที่ต้องมีการประเมินสถานการณ์และปัจจัยที่จะเกิดในระยะสั้นมากขึ้น ไม่เหมือนในอดีตที่ประเมินและวางแผนกันข้ามปี แต่ปัจจุบันมีการประเมินสถานการณ์กันเป็นรายไตรมาส ดังนั้น ในช่วงปลายนี้เชื่อว่าหลายค่ายจะยังไม่เร่งรีบประกาศแผ่นธุรกิจปีหน้าออกมาเพราะยังต้องประเมิณสถานการณ์ในช่วงปลายปีกันอีกรอบก่อนสรุปแผนออกมาก

ซึ่งในส่วนของบริษัท กานดาฯ นั้นขณะนี้ยังไม่มีการสรุปแผนธุรกิจของปี 2565 ออกมา เพราะต้องรอประเมินสถานการณ์ในช่วงปลายปีก่อน ขณะเดียวกัน แผนธุรกิจในปีหน้านั้นต้องมีความยืดหยุ่นให้มากขึ้น ดังนั้นแม้ว่า กานดาฯ จะยังไม่มีการสรุปแผนธุรกิจออกมา แต่มีการเตรียมความพร้อมในโครงการที่จะลงทุนพัฒนาในปีหน้า เช่นการถม และปรับที่ดิน วางโครงสร้างสาธารณูปโภคในโครงการที่มีแผนจะเปิดตัวขายในปีหน้า โดยขณะนี้บริษัทได้เตรียมพร้อมโครงการเดิมที่มีแผนจะเปิดตัวในปีหน้าแล้ว คือโครงการในพัทยา รังสิตคลอง 4 ลำลูกกาคลอง 3 ประชาอุทิศ 90 และรามอินทรา ซึ่งโครงการเหล่านี้แม้จะมีความพร้อมในการเปิดขายแล้วแต่หากสถานกาณณืไม่เอื้อ บริษัทจะเลื่อนแผนการเปิดขายออกไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น