นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ต.ค.) กระทรวงการคลัง ได้โอนเงินคนละครึ่งรอบที่ 2 จำนวน 1,500 บาท เข้าแอปเป๋าตังแล้ว โดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากในรอบแรกให้อัตโนมัติ ส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 หลังวันที่ 1 ต.ค.นั้นจะได้รับวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,000 บาท กระตุ้นให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
โดยรวมของมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น มียอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 39.08 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 78,611.1 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.33 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 67,604.4 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 34,403.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 33,200.7 ล้านบาท
2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 77,241 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,360 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 98.9 ล้านบาท
3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.53 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,983 ล้านบาท
4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.14 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 564.8 ล้านบาท
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านแพลตฟอร์มฟูดเดลิเวอรี อย่าง GRAB และ LINE MAN ได้ โดยตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30,000 ราย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ New Normal ในยุคโควิด-19 และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.ปี 64 ให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย
สำหรับความคืบหน้าโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ใน 29 จังหวัดล็อกดาวน์ 9 ประเภทกิจการ ล่าสุด กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้โอนเงินเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนสำเร็จ คิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 91,739.06 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.จ่ายเงินเยียวยานายจ้าง จำนวน 150,472 แห่ง รวม 6,270.09 ล้านบาท คิดเป็น 83.20% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด
2.การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 3,444,928 ราย รวม 16,150.56 ล้านบาท คิดเป็น 97.61% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด
3.จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.39 จำนวน 1,342,306 ราย รวม 12,302.12 ล้านบาท คิดเป็น 95.99% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด
4.จ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน ม.40 จำนวน 6,974,857 ราย รวม 57,016.29 ล้านบาท คิดเป็น 95.87% ของผู้ยื่นความประสงค์รับเงินทั้งหมด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลกลุ่มตกหล่นที่ไม่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งผู้ประกันตนสามารถยื่นทบทวนสิทธิได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564
"นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่เพียงแต่จากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ เร่งฟื้นฟูเยียวยาตามภารกิจของแต่ละหน่วยเต็มที่ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว" นายธนกร กล่าวสรุป