“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าฯ ธปท. เผยแบงก์ชาติต้องปรับเปลี่ยนบทบาท เพื่อรองรับโลกการเงินในอนาคต ผ่าน 3 มิติหลัก หวังให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกรวดเร็ว รับมือการแข่งขันที่จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ภาคการเงินมากขึ้น ระบุระบบการเงินดิจิทัลโตเร็ว แต่ยังมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนต้องระวัง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "The Future of Financial System : อนาคตโลกการเงิน" ว่า การปรับเปลี่ยนบทบาทและแนวทางการกำกับดูแลของธปท. ในโลกการเงินในอนาคต จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเงินทำได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการผ่าน 3 มิติหลัก ได้แก่
มิติแรก More Open Data ทำให้มีการนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การแชร์ Data Footprint ระหว่างธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้ข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อทำได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกมากขึ้น
มิติที่สอง More Open Competition หรือการแข่งขันที่ต้องกว้างขึ้น ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ธนาคาร ให้สามารถเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรม (Existing Player) รวมถึงเปิดให้ผู้เล่นปัจจุบันสามารถปรับตัวเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศจะเห็นว่าธนาคารเริ่มเข้าไปซื้อ หรือทำการควบรวมกิจการ (M&A) บริษัทฟินเทค เพื่อเตรียมตัวรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวทางหนึ่งที่ ธปท.จะช่วยเหลือได้ คือ การปรับปรุงแนวทางการทดสอบและพัฒนาระบบ (Sandbox) เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เกิดผู้เล่นใหม่ และเกิดนวัตกรรมใหม่ เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร
มิติสุดท้าย More open infrastructure หรือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นปัจจุบันให้เข้ามาใช้งานได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรมได้ เช่นระบบฐานข้อมูลกลาง (Central Web Service: CWS) ซึ่งเป็นวิธีการนำข้อมูลใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่อยู่ในระบบมารวมไว้ตรงกลาง เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องการสินเชื่อโดยมีใบแจ้งหนี้เป็นหลักประกัน (Factoring) สามารถเข้าถึงได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งธนาคารและนอนแบงก์สามารถเข้ามาร่วมใช้บริการได้ เพื่อให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ จากปัจจุบันเป็นอุปสรรค (Pain Point) สำคัญของระบบการเงินไทย
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตข้างหน้าภาคการเงินย่อมจะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการมากขึ้น โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เล่นที่อยู่ในภาคการเงินเองเสมอไป แต่อาจมาจาก Sector อื่นๆ รวมถึงธุรกิจที่เข้ามาเชื่อมต่อโดยตรง ทำให้การให้บริการทางการเงินไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ดังนั้นการเงินในอนาคตจะมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงบริการทางการเงินจะต้องเป็นแบบ Any time, Any where, Any device
"แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่รวดเร็วนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด สามารถแก้ปัญหาข้อบกพร่องในอดีตได้ และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่นวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวยอมรับว่า ระบบการเงินในอนาคต หรือระบบการเงินการเงินดิจิทัล ที่จะสร้างผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นผู้ให้บริการในภาคการเงินที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างความท้าทายต่อ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลเป็นอย่างมาก ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งมิติในด้านความเสี่ยง และมิติของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควบคู่กันไป
“ธปท.ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังจากการที่จะเข้าไปลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากมีความผันผวนมาก ความเสี่ยงสูง การจะเข้าไปลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ และควรศึกษาข้อมูลการลงทุนให้รอบคอบ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว