"ชูรัชฏ์ ชาครกุล" ดอ็มดีลลิลฯ ตั้งการ์ดรับมือโควิด-19 ชู 5 กลยุทธ์ เสริมความแข็งแกร่ง "ปรับลดขนาดองค์กร เน้นบริหารความเสี่ยง เตรียมแผนสภาพคล่อง บริหารสต๊อกพร้อมอยู่ และกลยุทธ์ดิจิทัลมาร์เกตติ้ง" ชี้ไตรมาส 4 มีลุ้น! เศรษฐกิจพีกอัป รับปัจจัยรุมฉีดวัคซีน เปิดเมืองท่องเที่ยว ส่งออกเติบโต มั่นใจผลประกอบการปีนี้ พรีเซล รับรู้รายได้ เปิดโครงการใหม่ตามเป้า
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ (LALIN) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์คุณภาพภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี’ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัว เนื่องจากในปี 2563 แม้จะมีการล็อกดาวน์ แต่เป็นช่วงสั้น ภาคธุรกิจ และกลุ่มที่ทำงานอยู่ยังมั่นคง ภาคครัวเรือนยังมีเงินออม ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังดี วงจรเศรษฐกิจยังมีการขับเคลื่อน แต่ปี 2564 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เศรษฐกิจบอบช้ำมาเป็นปี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น การคลายล็อกดาวน์ในคราวนี้ คงไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 (ก.ย.-ธ.ค.) น่าจะดีกว่าไตรมาส 3 เนื่องจาก 1.ช่วงนี้ไปถึงสิ้นปีจะมีการระดมฉีดวัคซีนหนักขึ้น ครอบคลุมถึงหัวเมืองรองทั้งประเทศ เพื่อให้ได้ตามเป้า 100 ล้านโดสตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ จะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ประชาชนยังต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอย่างนี้ 2-3 ปี แต่หากมีการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมาก จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการเสียชีวิต ทำให้ความกังวลลดน้อยลงได้
2.การเปิดเมืองท่องเที่ยวในระยะที่ 2 หลังจากเริ่มโมเดล "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ไปแล้ว จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม และ 3.ปัจจัยเรื่องภาคส่งออก จะเห็นว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัว
"เรามองว่าเศรษฐกิจช่วง 4 เดือนที่เหลือน่าจะพีกอัปขึ้น ถ้าวัคซีนเป็นไปได้ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ และไม่เกิดการระบาดของสายพันธุ์ที่ 5 ซึ่งส่วนตัวผมยังเสียวอยู่ เปิดประเทศแล้วระบาดระลอกใหม่ซ้ำ"
นายชูรัชฏ์ กล่าวถึงแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า แม้ว่าหลายฝ่ายกังวลเรื่องเพดานการก่อหนี้สาธารณะที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากที่อยู่ระดับเกิน 60% แต่เริ่มมีโมเดลที่จะผ่อนคลายเรื่องตัวเลขหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อมาบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 แต่หากมีการอัดฉีดเงินอีก 1 ล้านล้านบาทเข้ามาพยุงและผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีการฟื้นตัว จะช่วยให้วงจรธุรกิจ วงจรเศรษฐกิจ การเงินหมุนและดีขึ้น ตอนนี้ต้องฉีดเงินอย่างเดียว เหมือนในแถบยุโรป หรือ ญี่ปุ่นมีการเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ
ในเรื่องการปรับตัวของบริษัทลลิลฯ อย่างแรก ต้องมาพิจารณาว่า บริษัทมีส่วนเกินตรงไหน แนวทางที่สอง การบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้น ไม่ได้มุ่งเปิดโครงการจำนวนมาก แนวทางที่สาม การบริหารสภาพคล่องให้พอเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยลลิลฯ จะดูเรื่องการเงินอย่างใกล้ชิด เตรียมแผนสำรอง โดยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร (ยังไม่ได้เบิก) 2,600 ล้านบาท มีวงเงินหุ้นกู้เหลือที่ยังไม่ได้ออกอีก 2,000 ล้านบาท จากก่อนหน้าออกไปแล้ว 3,000 ล้านบาท และเงินสำรองภายในองค์กร
แนวทางที่สี่ การเตรียมที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท แนวทางที่ห้า การปรับองค์กร โดยนำระบบเทคโนโลยี (IT) เข้ามาใช้ในทุกส่วนขององค์กร การใช้ดิจิทัลมาร์เกตติ้งที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง (นิชมาร์เกต) ซึ่งให้ประสิทธิภาพประสิทธิผลที่สูง เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ามีความต้องการข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมากขึ้น เป็นต้น
ในส่วนของภาพรวมผลประกอบการดำเนินงานในครึ่งแรกของปี 64 (ม.ค.-มิ.ย.) ทำได้เกินเป้าหมายเล็กน้อย สามารถรับรู้รายได้ไปแล้ว 3,200 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของเป้าทั้งปีที่ 6,600 ล้านบาท ตัวเลขยอดขายวางไว้ทั้งปี 7,000 ล้านบาท มั่นใจจะรักษาเป้าขายได้ เนื่องจากดีมานด์มีการเคลื่อนย้ายจากโครงการคอนโดมิเนียมมาเลือกสินค้าแนวราบมากขึ้น
ขณะที่แผนเปิดตัวโครงการยังบริหารอยู่ที่ 9 โครงการ มูลค่า 6,000 ล้านบาท โดยในครึ่งปีหลังเปิด 4 โครงการ แบรนด์โปรดักต์ที่จะเปิดตัวครอบคลุมกำลังซื้อตั้งแต่ 2-8 ล้านบาท และในอนาคตมีแผนที่จะขยับสัดส่วนบ้านแพงให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 5% ซึ่งในแต่ละปี ภาพรวมการเปิดโครงการแนวราบมีประมาณ 45,000 หน่วย แต่ละทำเล มีความต้องการซื้อในแต่ละกลุ่มราคาที่ไม่เหมือนกัน โดยพฤติกรรมของผู้ซื้อจะเลือกโครงการใกล้ที่ทำงาน ใกล้ที่อยู่อาศัยเดิม และใกล้บ้านพ่อแม่ เป็นต้น