การเคหะฯ ตั้งหลักฝ่าโควิด-19 ระบุกระทบต่อผลการดำเนินงานในทุกอย่าง พร้อมเร่งเคลียร์การก่อสร้าง หลังเปิดแคมป์มาได้ 1 เดือน พร้อมเตรียมตั้งบริษัทลูกร่วมลงทุนเอกชน (PPP) เดินหน้าเคหะสุขประชา พร้อมอาชีพ 13 โครงการ พ่วงแผนออกบอนด์ 3,000-4,000 ล้านบาท รองรับการทำโครงการ เตรียม MOU กับ 6 กระทรวงใหญ่ พัฒนาที่ดินสร้างที่อยู่อาศัย ปลื้มบริษัทลูก แซมโก้ เริ่มมีกำไรปันผลคืนบริษัทแม่ เร่งล้างขาดทุนสะสม
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สิ่งที่การเคะหฯ พยายามขับเคลื่อนในสิ่งที่สำคัญในปี 2564 นั้น เป็นปีที่ต้องประสบปัญหากับสถานการณ์โควิด-19 ในหลายช่วงหลายตอน มีผลต่อผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานของการเคหะฯ หมดทุกอย่าง ทั้งในเรื่องการก่อสร้าง หน่วยการส่งมอบ และการส่งมอบที่อยู่อาศัยให้ประชาชน ผลประกอบการที่จะคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่วางไว้พอสมควร คาดผลกำไรสุทธิในปีนี้จะทำได้ราว 700 ล้านบาท ขณะที่กองทุนสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้วงเงินที่เตรียมไว้ปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าประมาณการ โดยที่ทางคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ลงเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสได้รับวงเงินสินเชื่อหลังจากที่ไม่ผ่านเกณฑ์จากสถาบันการเงิน เช่น ลดเกณฑ์ในเรื่องการพิจารณาเครดิตบูโร หากไม่ใช่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การลดเรื่องคำนิยามของบ้านหลังแรก เป็นต้น
ในส่วนของผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างชั่วคราว (ในเดือน ก.ค.2564) นั้น ยังคงมีปัญหา แม้ว่ารัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์ แต่เรื่องของแรงงานต้องใช้เวลา เนื่องจากปัจจุบันเป็นแรงงานต่างด้าวซึ่งกำลังหาแนวทางในดำเนินการก่อสร้างต่อ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชน โดยยังต้องมีมาตรการป้องกันและดูแลการก่อสร้างอย่างรอบคอบ เนื่องจากตอนนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่
สำหรับผลงานในรอบ 1 ปีที่เข้ามาดำรงแหน่งผู้ว่าฯ การเคหะฯ นั้น (22 ก.ค.63) นายทวีพงษ์ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส โดยในปีที่ผ่านมา เราได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรและการทำงานเพื่อให้เกิดความมั่นใจใหัผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างความมั่นใจให้บุคลากรของการเคหะฯ ซึ่งวิธีและการทำงานดังกล่าวได้ส่งผลให้คะแนะเรื่อง ITA ปี 2564 การเคหะฯ ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 97.93% เป็นอันดับ 1 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเป็นอันดับที่ 8 ของ 51 หน่วยรัฐวิสาหกิจ
ส่วนเรื่องถัดมาสำคัญมาก คือ การเพิ่มรายได้ให้องค์กร และลดภาระให้ประชาชนไปพร้อมๆ กัน โดยมีการรับคืนอาคารเช่าจากภาคเอกชนกลับมาบริหารจัดการเอง ซึ่งที่ผ่านมา การเคหะฯ ได้ปล่อยพื้นที่ให้เอกชนบริหารประมาณ 32,567 หน่วย ซึ่งมีราคาสูงพอสมควร และหากสามารถกลับมาบริหารได้ จะมีส่วนเพิ่มรายได้ให้องค์กรมากขึ้น และสามารถควบคุมราคาให้ประชาชนได้ คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถให้ประชาชนมาทำสัญญาตรงกับการเคหะฯ ได้ไม่น้อยกว่า 22,000 หน่วย โดยได้มีมาตรการช่วยลดค่าเช่ามาอยู่ที่ 999 บาทต่อเดือน หรือผู้เช่าเดิมจะลดต่ำลงให้อีก 50%
ประเด็นถัดมา เรื่องการแก้ไขปัญหาบริษัทลูก คือ บริษัท จัดการทรัพย์และชุมชน จำกัด หลังจากให้เข้ามาบริหารนิติบุคคลต่างๆ และรับงานของการเคหะฯ ไปดำเนินการและพัฒนาต่อ เริ่มมีผลกำไรจากเดิมที่ขาดทุนอยู่ โดยเริ่มมีผลกำไร 4 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มเป็น 30 ล้านบาทในปี 64 ซึ่งจะเริ่มปันผลให้บริษัทแม่ได้ โดยได้วางแผนที่จะล้างผลขาดทุนสะสมที่ 14 ล้านบาทให้ได้ เพื่อให้กลายเป็นบริษัทลูกที่มีความหมายกับการเคหะฯ
การแก้ไขปรับปรุงห้องเช่าในราคา 999 บาทต่อเดือน ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนผู้เช่าไม่ได้เป็นผู้มีรายได้น้อยเข้ามาอยู่ ซึ่งได้พยายามจัดห้องที่มีอยู่ประมาณ 10,000 หน่วยให้ประชาชนได้เข้ามาพักอาศัยได้
เรื่องการบริหารทรัพย์สินคงเหลือที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (sunk cost) โดยได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.การจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อเข้ามาพัฒนาโครงการเคหะบ้านสุขประชา บ้านพร้อมอาชีพ ซึ่งจะเป็นการเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ตามเป้าหมายภายใน 5 ปีจะต้องดำเนินการให้ได้ 1 แสนหน่วย หรือเฉลี่ยปีละ 20,000 หน่วย โดยมี 2 โครงการนำร่อง คือ โครงการร่มเกล้า และโครงการฉลองกรุง ซึ่งจากแผนที่วางไว้อาจทำให้ต้องพิจารณาหาที่ดินเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างการเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ 6 กระทรวงในการใช้ประโยชน์บนที่ดิน เช่น กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงกลาโหม เป็นต้น และ 2.โครงการบ้านเคหะสุขเกษม (รองรับกลุ่มเกษียณอายุ)
"โครงการเคหะบ้านสุขประชา แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช้ากว่าแผน แต่เราพยายามเร่งรัดและนำเสนอเรื่องต่อสภาพัฒน์ ใน 13 โครงการ จำนวน 6,000 หน่วย เพื่อเร่งดำเนินการโครงการในปี 65 ซึ่งในส่วนนี้จะมีการหาแหล่งเงินทุนผ่านการออกพันธบัตรของการเคหะฯ วงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท โดยในส่วนของโครงการเคหะบ้านสุขประชา จะมีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือ PPP"
และเรื่องการดูแลลูกค้าเช่าซื้อทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ และการนำโครงการบ้านเอื้ออาทรมาลดราคาพิเศษตั้งแต่ 2.5-5.2 แสนบาทต่อหน่วย และการแก้ไขหนี้ให้ลูกค้าเพื่อให้ภาระหนี้ยาวขึ้น