“โซนิค อินเตอร์เฟรท” ลุยเปิดพื้นที่ให้บริการรับฝากตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม 33 ไร่รองรับแหลมฉบังเฟส 3 และการขยายตัวของลูกค้าในเขตอีอีซี คาดก่อสร้างเสร็จกลางปี 65 ส่วนโครงการนำร่อง 12 ไร่ ลุ้นลูกค้าใช้บริการเต็มพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ ผลพวงธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตสูง เผยอยู่ระหว่างประมูลงานกับบริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่ 2-3 ราย เพื่อให้มาใช้บริการรับฝากตู้คอนเทนเนอร์
ดร.สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC ผู้นำธุรกิจให้บริการการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมที่จะขยายพื้นที่ให้บริการรับฝากตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นอีก 33 ไร่ เพื่อรองรับการขยายตัวของลูกค้าในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และโครงการแหลมฉบังเฟส 3 โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2565 ซึ่งหลังเปิดให้บริการบริษัทจะทยอยรับรู้รายได้ทันที และประมาณการว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5-6 ปี
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทขยายพื้นที่การให้บริการโลจิสติกส์ โดยการลงทุนซื้อที่ดินขนาด 33 ไร่ ในเขตอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มูลค่ารวมไม่เกิน 117 ล้านบาท ค่าพัฒนาที่ดิน 77.4 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 194.4 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทมีพื้นที่ให้บริการรับฝากตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 12 ไร่ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้ามาใช้บริการเต็มพื้นที่ เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์มีการอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมที่จะประมูลงานกับสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ 2-3 ราย เพื่อให้มาใช้บริการเช่าพื้นที่ฝากวางตู้คอนเทนเนอร์
“จุดแข็งของการให้บริการเช่าพื้นที่วางตู้คอนเทนเนอร์ของ SONIC คือเราอยู่ในพื้นที่เขตอีอีซี แหลมฉบัง ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการขยายตัวเติบโตสูง และยังเป็นการต่อยอดให้ธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทให้สามารถบริการลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น” ดร.สันติสุข กล่าว
ดร.สันติสุข กล่าวต่อว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ SONIC ในช่วงครึ่งปีหลังยังเติบโตต่อเนื่องแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น แต่การให้บริการด้านขนส่งของบริษัทไม่ได้มีปัญหา เนื่องจากบริษัทได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการให้บริการขนส่งสินค้าของลูกค้า งตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าของลูกค้า จึงทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าเดิมและจากกลุ่มลูกค้ารายใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าหลัก ยังมาจากการให้บริการขนส่งทางทะเลที่มีสัดส่วนรายได้ถึง 78% การบริการขนส่งทางบก 17% การบริการทางอากาศ 4.5% และสัดส่วนรายได้อื่นๆ อีก 0.5%