การระบาดของวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ทวีความรุนแรงและยาวนานกว่าทุกครั้ง กดดันต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอย่างต่อเนื่องนับแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามสถานการณ์การระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้ ทำให้หลายสถาบันวิจัยทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยมาเป็นระยะ ล่าสุด แนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นตัวเลขจีดีพีปีนี้เป็น “ลบ”
ครึ่งปีแรกโตจากฐานที่ต่ำ
แม้ว่าตัวเลขจีดีพี 6 เดือนแรกและไตรมาส 2 ของปี 2564 ที่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาจะยังมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัวที่ 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และในช่วง 6 เดือนแรกของปีขยายตัวที่ 2.0%YoY ซึ่งทุกสำนักมองไปในทิศทางเดียวกันว่าเกิดจากการเทียบกับฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวดังกล่าวมาจากการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เศรษฐกิจโดนผลกระทบหนักจากการล็อกดาวน์ แต่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 0.4% QoQ แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแรงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายตัว 7.5% YoY เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ และการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นเป็นหลัก โดยการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 ขยายตัวที่ 36.2% YoY ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand) ขณะที่การบริโภคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 2 ที่ผ่านแม้ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าเนื่องจากฐานที่ต่ำ แต่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัวที่ -2.5 QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ
เช่นเดียวกับ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ผ่านมาขยายตัวที่ 7.5%YOY มาจากฐานต่ำในปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตที่ 0.4%QOQ สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัวและมีแรงส่งค่อนข้างน้อย โดยเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างกันมากในแง่ของการฟื้นตัว (uneven) ระหว่างสาขาเศรษฐกิจ กล่าวคือ ภาคส่งออกสินค้าฟื้นตัวได้ดี ควบคู่ไปกับเม็ดเงินภาครัฐที่อัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) ในประเทศยังซบเซาและได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว โดยหดตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันจากผลของการระบาดระลอกที่ 3 และหากพิจารณาด้านการผลิต เศรษฐกิจไทยก็มีความแตกต่างเช่นกัน โดยภาคเกษตรฟื้นตัวได้ดีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยขึ้น ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมฟื้นตัวตามภาคการส่งออกสินค้า แต่ภาคบริการยังหดตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว
จีดีพีเสี่ยงสูงแตะระดับติดลบ ไตรมาส 3 อ่วม
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยงในระดับสูงทั้งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังสูงอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงความถดถอยทำให้หลายๆ สำนักได้ปรับลดประมาณการจีดีพี และเริ่มเห็นการประมาณการที่เข้าสู่ระดับติดลบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2564 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.0% มาเป็น -0.5% ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด โดยมีรายละเอียดดังนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่มีแนวโน้มรุนแรงและลากยาวขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะแตะระดับสูงสุดในเดือนกันยายน และจะค่อยๆ ลดจำนวนลง แต่กว่าสถานการณ์จะควบคุมได้หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน คาดว่าไม่เร็วไปกว่าไตรมาสที่ 4 ในปี 2564 นี้ ดังนั้น คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน (เริ่ม ก.ค.2564) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตามมา และแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ แต่คงไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ทั้งหมด ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในไตรมาส 3 จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.5 และ -4.9 ตามลำดับ
สำหรับผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอาจน้อยกว่าที่คาด เนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้อาจลดลงอยู่ที่ราว 1.5 แสนคน แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล”
ในขณะที่ภาคการผลิตเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการแพร่ระบาดในโรงงาน โดยหากการแพร่ระบาดยังคงไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้เกิดการปิดโรงงาน และมีผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่การผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นอกจากนี้ อาจทำให้สินค้าในประเทศเกิดภาวะขาดตลาดในบางช่วงจังหวะเวลาอีกด้วย อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และอียู ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าน่าจะยังส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) ได้ปรับประมาณจีดีพีในปี 2564 เป็นเติบโต 0.3% จากเดิมที่ 0.9% เป็นผลจากปัจจัยเศรษฐกิจในแทบทุกด้านโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังไม่สามารถกลับสู่ระดับปกติ โดยเป็นเพียงการเริ่มฟื้นตัวจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า มีเพียงภาคการส่งออกที่เติบโตได้ โดยคาดว่าทั้งปี 2564 จะโตได้ 9.4% และมาตรการภาครัฐที่เป็นแรงพยุงเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงมากได้ ดังนั้น คาดโมเมนตัมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และจะกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาส 4 หลังประเมินการแพร่ระบาดจะสามารถกลับเข้าสู่ระดับควบคุมได้อีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การคลายล็อกดาวน์ในช่วงต้นกันยายน และหากแผนการฉีดวัคซีนคืบหน้าได้ดีต่อเนื่อง และไม่เกิดการระบาดรุนแรงระลอกใหม่ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากฐานต่ำ
อย่างไรก็ดี หากยอดผู้ติดเชื้อยังคงสูงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ทำให้ต้องขยายการล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 นี้ และเงื่อนไขการกระจายวัคซีนที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ยืดออกไปเป็นไตรมาส 1 ของปี 2565 กอปรกับการส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากความต้องการในตลาดอาเซียนชะลอลง โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยอาจทำให้การส่งออกของไทยเติบโตลดลงไปที่ 6.6% ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะฉุดให้เศรษฐกิจทั้งปี 2564 หดตัว หรือกล่าวได้ว่าวิกฤตโควิด-19 ทำให้เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผ่านมา
EIC SCB ระบุในภาพรวมตัวเลข GDP ล่าสุดยังสอดคล้องกับการประมาณการของที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในกรณีฐานที่ 0.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่พึ่งพาการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่ การระบาดในประเทศอย่างต่อเนื่องได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงทำให้ปัญหาแผลเป็นเศรษฐกิจด้านการเปิดปิดกิจการ ตลาดแรงงาน และภาระหนี้ปรับแย่ลง จึงทำให้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มซบเซาและฟื้นตัวช้า และเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนของการระบาดในประเทศรอบปัจจุบันที่มีโอกาสปรับแย่มากกว่าคาด ขณะที่อาจมีความเสี่ยงภาครัฐจากเม็ดเงินมาตรการที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด และความเสี่ยงสุดท้ายคือการเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่นๆ ที่อาจต้านทานวัคซีนได้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุแม้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเกินคาด แต่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในระดับสูงและมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน ซึ่งล่าสุดวิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจแตะระดับ 26,000 รายในช่วงต้นเดือนกันยายน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน ดังนั้น คาดว่ากว่าที่ทางการจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน เป็นผลให้อุปสงค์ในประเทศและหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มซบเซา นอกจากนี้ ภาคการผลิตและภาคส่งออกอาจได้รับความเสี่ยงจากการระบาดที่แพร่ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้างขึ้น รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอลงหลังจากหลายประเทศประสบกับการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรกอย่างชัดเจน ขณะที่ประมาณการจีดีพีปีนี้ที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ว่าจะเติบโตที่ 1.2% เผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้นหากมาตรการทางการคลังและการเงินที่กำลังจะออกมาไม่มากเพียงพอที่จะบรรเทาผลเชิงลบดังกล่าว
คาดปี 2565 เข้าสู่จุดเดิม
ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัว 0.5% โดยคาดว่ามาตรการควบคุมโรคแบบกึ่งล็อกดาวน์อาจลากยาวอย่างน้อย 2 เดือนหรือจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงตลอดช่วงที่เหลือของปีตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มหดตัว และเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก พร้อมกันนั้น ยังมองว่าโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงต่ำอย่างมีนัย
นอกจากนี้ ยังคาดเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีหรือในปี 2566 กว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต โดยวิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ให้หดตัวถึง 6.1% และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และวิกฤตครั้งนี้ได้สร้างร่องรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งแรงกระเพื่อมต่อผลิตภาพของไทยในระยะยาวผ่าน 3 ประเด็นหลักคือ
หนี้ครัวเรือนในระดับสูง กดดันความสามารถในการจับจ่ายและการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต โดยไทยเผชิญหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในระดับสูงเกิน 60% นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งจากงานการศึกษาของ BIS (2560) พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวลดลง 0.1% และหากระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงเกินกว่า 60% ก็ย่อมส่งผลกระทบการบริโภครุนแรงขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ วิกฤตโควิด-19 มีส่วนดึงให้ยอดหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวถึง 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.5% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 89.4% ซึ่ง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายและการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือน ตลอดจนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และส่งผลทางลบย้อนกลับมายังเศรษฐกิจต่อไป
ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูล ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 ที่พบว่า จำนวนผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบปี รวมถึงจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวเร่งตัวขึ้น และอีกจุดอ่อนสำคัญของแรงงานไทยคงหนีไม่พ้น “ทักษะไม่ตรงกับความต้องการ” โดยเฉพาะในมิติของสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับความต้องการมากถึง 37% เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 32% โดยผลการศึกษาของ World Bank ชี้ว่า วิกฤตจากการแพร่ระบาดส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลงเฉลี่ย 6% ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ดังนั้น โควิด-19 จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลิตภาพของไทยแย่ลงไปอีก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจสูญเสียผลผลิตตามศักยภาพในระยะยาว
และความเชื่อมั่นและเสน่ห์ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ยังเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึง แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาคส่งออกที่ขยายตัวได้ดี แต่ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างการผลิตของไทยที่ทำหน้าที่หลักเป็นเพียงรับจ้างผลิต (OEM) ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางที่ไม่ซับซ้อนอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งทำให้มูลค่าเพิ่มจากการผลิตต่อจีดีพีของไทยลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2553 สวนทางกับคู่แข่งที่มีพัฒนาการดีขึ้น