xs
xsm
sm
md
lg

กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ฯ ครอง INTUCH เอื้อประโยชน์ทั้งกลุ่มหนุนสภาพคล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” เริ่มมีบทบาทใน “อินทัช โฮลดิ้งส์” หลังเข้ามาถือหุ้นใหญ่แล้วกว่า 42% พบราคาหุ้นทั้งกลุ่มคึก ด้าน GULF เดินหน้าขยายธุรกิจ ส่วน INTUCH ยังเป็นหุ้นเด่นด้านการปันผล ขณะ ADVANC ระยะยาวได้ประโยชน์จาก SYNERGY และระยะใกล้กองทุนอินฟาฯ อาจช่วยGULF คืนหนี้ซื้อหุ้นได้เร็วขึ้น

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกของการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็เป็นอีกก้าวที่สำคัญของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) เพราะหลังจาก หลังจากการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น INTUCH สิ้นสุดลงเมื่อ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานว่าได้ใช้เงินลงทุนประมาณ 4.86 หมื่นล้านบาท กวาดหุ้นเข้ามาเพิ่ม 747.87 ล้านหุ้นเศษ หรือ 23.32% ทำให้ GULF ขึ้นมาเป็นหุ้นใหญ่ INTUCH สัดส่วน 42.25% เป็นที่เรียบร้อย

ที่ผ่านมา GULF ถือเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ดังนั้นการเพิ่มบทบาทของตัวเองด้วยการลงทุนในธุรกิจสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตา โดยล่าสุด GUL เพิ่ง ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) จำนวน 1.40 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 412 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน

สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกำไรของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) หน่วยที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP ภายใต้กลุ่ม GMP และโครงการโรงไฟฟ้า 7 SPP ภายใต้กลุ่ม GJP ที่รับรู้ Core Profit เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น 148% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง ในไตรมาส 2 ปี 2564 ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก PTT NGD จำนวน 63 ล้านบาท จากการที่ GULF เข้าไปลงทุนในสัดส่วน 42% ด้วย

ส่วนแผนเดินหน้าเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH นั้น ผู้บริหารรายงานว่า GULF ได้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศทั้งสิ้นจำนวน 4.86 หมื่นล้านบาท โดย GULF มีแผนในการออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ภายในปีนี้ เพื่อนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ที่ใช้ในการซื้อหุ้น INTUCH ในบางส่วน นอกจากนี้ บริษัทฯ จะรับรู้เงินปันผลจาก INTUCH รับทันที ประมาณ 1.6 พันล้านบาทในไตรมาส 3 นี้

เนื่องจาก ล่าสุดทาง INTUCH ได้ประกาศจ่ายปันผล ระหว่างกาลครึ่งแรกปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 1.23 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ประมาณ 2% โดยกำหนดขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิ์ปันผล (XD) วันที่ 17 ส.ค. 2564 และจ่ายวันที่ 2 ก.ย. 2564

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับดีลดังกล่าว คือ การได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ INTUCH เท่ากับ GULF จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทลูกอย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ดังนั้นถ้าในอนาคต ADVANC เดินแผนจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนบริษัทด้านสื่อสารอื่นๆก่อนหน้านี้ และขายสินทรัพย์ 80% เข้ากองทุน จะทำให้ ADVANC ได้รับเงินสดเข้ามาประมาณ 3.5-4.5 แสนล้านบาท ดังนั้นหากนำเงินในส่วนนี้มาจ่ายเงินปันผลพิเศษให้ผู้ถือหุ้น จะทำให้ GULF จะได้รับเงินสดราว 6.0 – 7.0 หมื่นล้านบาท หมายถึงเป็นเม็ดเงินในจำนวนที่พอๆกับการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นใหญ่ใน INTUCH

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่ GULF ส่งสัญญาณอยากเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH เรื่องดังกล่าว ก็มีผลให้ราคาหุ้นของบริษัทขยับตัว หลังจากเงียบๆมานาน และไม่เฉพาะ INTUCH บริษัทลูกอย่าง ADVANC และ บมจ.ไทยคม (THCOM) ราคาหุ้นก็คึกคักเช่นกัน จนกลายเป็นหุ้นกลุ่มยอดนิยม ราคาพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงเชียร์ของเหล่ากูรู รวมถึงราคาหุ้นของผู้ประกาศตัวเข้าซื้อหุ้นอย่าง GULF

และเมื่อหลังปิดทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา GULF กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน INTUCH ในสัดส่วน 42.25% ของทุนจดทะเบียน และทำให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ADVANC และ THCOM โดยปริยายเพราะ INTUCH ถือหุ้นใน ADVANC สัดส่วน 40.45% และถือหุ้นใน THCOM สัดส่วน 41.43% ดังนั้นปัจจุบันนี้  GULF จึงมีฐานะเป็นหุ้นตัวแม่ของ INTUCH, ADVANC และ THCOM ซึ่งทำให้หุ้น GULF กลายเป็นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ และมีบทบาทในการชี้นำดัชนีหุ้น

นั่นเพราะ หากพิจารณาในแง่มาร์เกตแคปของกลุ่ม จะพบว่า GULF ล่าสุดมีมูลค่า 4.42 แสนล้านบาท ขณะที่ INTUCH มีมาร์เก็ตแคป 2.34 แสนล้านบาท ส่วน ADVANC มาร์เก็ตแคป 5.51 แสนล้านบาท และ THCOM 1.29 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกลุ่ม 1.24 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.04% ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์รวม ซึ่งมีจำนวน 17.62 ล้านล้านบาท และยังสูงกว่าหุ้นเบอร์หนึ่งของตลาดหุ้นอย่าง บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งปัจจุบันมีมาร์เกตแคป 9.85 แสนล้านบาท

แม้มีการคาดการณ์ว่า การจะเข้าไปเก็บหุ้น INTUCH ให้ถึง 50% ในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องยาก เพราะราคาหุ้น INTUCH ที่ระดับปัจจุบัน 72.75 บาทต่อหุ้น (13ส.ค.) จะให้ตัดใจยอมขายที่ระดับตั้งโต๊ะรับซื้อ 65.00 บาทต่อหุ้นนั้นเป็นเรื่องยาก

ล่าสุด INTUCH ก็ออกมายอมรับว่า ADVANC มีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน ยิ่งทำให้มีผลต่อราคาหุ้นในปัจจุบันและในอนาคต แม้จะยังเป็นเพียงแค่การศึกษาความเป็นไปได้ก็ตาม

“นัฐิยา พัวพงศกร” หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการนำสินทรัพย์จากธุรกิจโทรคมนาคมขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)

เพราะปัจจุบันเอไอเอสมีสินทรัพย์ที่หลากหลาย ได้แก่ สายไฟเบอร์ ซึ่งเอไอเอสน่าจะมีมากที่สุด , เสาโทรคมนาคม ที่เอไอเอสเป็นเจ้าของมีมากว่า 2.2 หมื่นเสา โดยบริษัทจะพิจารณาถึงการทำธุรกิจในระยะยาว และผลในเชิงการเงินว่าจะสามารถสร้างให้เกิด Value กับบริษัทได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานADVANC จากนี้จะผ่าน 3 แกนเชิงกลยุทธ์ และ 4 ธรกิจหลัก โดย 3 แกนเชิงกลยุทธ์ธุรกิจ ได้แก่ 1. Optimize Core Business ได้แก่ธุรกิจ Mobile เป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้บริษัท การที่จะรักษาสถานะผู้นำตลาดต่อไปคือ 5G สามารถคอนเนคผ่านรูปแบบเทคโนโลยีใหม่ , ระบบการบริหารจัดการที่กระชับ ,การปรับการให้บริการลูกค้าบนรูปแบบออนไลน์หรือดิจิทัล ให้ธุรกิจยังเติบโตอย่งแข็งแรงต่อเนื่อง ยังเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท

2. Build Growth Engine เป็นการสร้างธุรกิจในระยะกลาง หรือ ระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่ ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน (FBB)หรือ เอไอเอสไฟเบอร์ที่ต่อยอดธุรกิจ Mobile ซึ่งปัจจุบัน 80% เป็นลูกค้ามือถือของเอไอเอสโดยการเข้าถึงครัวเรือนก็จะเปิดโอกาสบริการใหม่ๆ เข้าไปได้ยิ่งเป็นยุค 5G ไม่ว่าจะเป็น Home solution , Security solution ที่จะเข้ามามาก รวมถึงธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กร (Enterprise) ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับ clound , IoT , cyber security ที่จะช่วยการเติบโตในระยะกลาง โดยธุรกิจ Enterprise เป็นธุรกิจที่มีความหลากหลายมาก และมีผู้เล่นที่หลากหลาย โดยวางpositon ให้เร่งการปรับตัวขององค์กรไทยให้เช้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น

และ 3. Invest in Future เป็นการมองหาธุรกิจใหม่ที่มีความเกี่ยวเนื่องในอนาคต สร้างฐานระยะยาว เป็น New Digital Business เช่น AIS Play การทำเกมแพลตฟอร์ม

ส่วนกรณีที่ GULF เข้ามาลงทุนใน INTUCH คาดว่าน่าจะมีโอกาสต่อยอดธุรกิจให้เอไอเอสได้ด้วย อย่างไรก็ดี ในส่วนที่ GULF ทำคำเสนอซื้อ ADVANC ยังต้องรอทราบผลสัดส่วนหุ้นที่สามารถรวบรวมได้ โดยเบื้องต้นรอให้ GULF ผู้ถือหุ้นใหม่ กับผู้ถือหุ้นเดิมของ INTUCH พูดคุยกัน รวมถึงที่นั่งกรรมการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการในส่วนของ INTUCH

สำหรับ THCOM แผนการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น ซึ่งสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 จะสิ้นสุดลงวันที่ 10 ก.ย. 2564 ดังนั้นบริษัทเดินหน้าธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการระหว่างเจรจากับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ หรือซื้อแบนด์วิธต่อจาก NT เพื่อให้บริการลูกค้าของบริษัท คาดจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3/64 หลังจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ลงนามในสัญญาให้สิทธิ NT ในการบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ส่วนในระยะกลาง บริษัทจะต้องย้ายลูกค้าดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยเปลี่ยนรูปแบบในการให้บริการ ขณะที่ในระยะยาว บริษัทมองว่ายังมีความต้องการใช้ดาวเทียมอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและภูมิภาค ดังนั้นบริษัทจึงแสดงเจตจำนงค์ในการเข้าประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ของกสทช.ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 ส.ค. 2564

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแผนธุรกิจทั้ง GULF และบริษัทใหม่ในอาณาจักรของตน เริ่มมีหลายฝ่ายแสดงมุมมองว่า ภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ของGULF บริษัทแจ้งมีแผน ซื้อหุ้นเพิ่มเติม แต่ไม่เกิน 50% ในราคาไม่เกิน 65 บาทต่อหุ้น ในระยะ 1 ปีต่อจากนี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วน ถือหุ้นอยู่ที่ 42.25%

นอกจากนี้ GULF อยู่ระหว่างศึกษาการเพิ่มนโยบายการจ่ายเงินปันผลของ INTUCH จาก 75% มาเป็น 100% รวมถึงศึกษา การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยADVANC เป็นผู้ขายสินทรัพย์เข้ากองทุน ฯลฯ ในการนี้ บริษัทเตรียมเสนอผู้ถือหุ้นของ INTUCH เพื่อตั้งกรรมการจำนวน 4 คนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารส่วน ADVANC จำนวน 2-3 คน

จากแผนงานดังกล่าว ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่ง แนะนำเข้าลงทุนในหุ้น GULF เนื่องจากได้ปัจจัยหนุนจากการลงทุนในหุ้น INTUCH รวมถึงโครงการใหม่อีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะช่วยหนุนความมั่นคงในการเติบโตระยะยาว ส่วน ADVANC แนะนำซื้อจากการต่อยอดธุรกิจ (Synergy) ที่จะได้จากการเข้ามาถือหุ้น ของ GULF ในระยะยาว ราคาเหมาะสม 207.24 บาทต่อหุ้น แต่คาดมีโอกาสปรับขึ้น (อัพไซด์) อีกมาก

ขณะที่ “ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า เตรียมปรับ เพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564 ของ GULF จากเดิมคาดเอาไว้ที่ 9.7 พันล้านบาท และ เพิ่มราคาเหมาะสม อีกราว 2-4 บาท จากเดิมให้ไว้ที่ 40.75 บาทต่อหุ้น เพื่อให้สะท้อนการรับรู้ส่วนแบ่งกำไร จากการลงทุน INTUCH ซึ่งเดิมรับรู้เป็นเงินปันผล นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนเข้าซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มอีกประมาณ 7% จากปัจจุบันถือหุ้น 42.25% แต่ไม่เกิน 50% ซึ่งเป็นบวกต่อรายได้

ล่าสุดมีรายงานว่า ADVANC อยู่ระหว่างศึกษาแผนการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำสินทรัพย์เข้าระดมทุนในกองทุนดังกล่าว และรับรู้รายได้กลับมาเป็นเงินปันผล ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทแม่ INTUCH สามารถปันผลกลับไปยัง GULF และนำเงินที่ได้นำไป ชำระคืนหนี้ที่กู้มาซื้อหุ้น INTUCH ให้ Singtel ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ INTUCH และ ADVANC เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว

นอกจากนี้ GULF มีแผนไขว้สินทรัพย์ กับ ADVANC ซึ่งจะส่งผลให้ได้ประโยชน์จากธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเสริม เช่น ธุรกิจท่าเรือ และสาธารณูปโภค เบื้องต้น GULF เตรียมให้ ADVANC นำระบบเข้าไป บริหารจัดการท่าเรือไร้คนอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้แก่ GULF อย่างไรก็ตาม แม้มีโอกาสปรับเพิ่มราคาเหมาะสม แต่ระดับราคาปัจจุบันเหลืออัพไซด์ค่อนข้างน้อย

ไม่เพียงเท่านี้มีรายงานว่า หาก ADVANC จะขายสินทรัพย์เพื่อตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต เรื่องดังกล่าวนั้นมีทั้งข้อดี-ข้อเสียดังนี้ โดยในส่วนของข้อดีคือ ADVANC จะได้รับเงินสดก้อนใหญ่จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯ และมีการบันทึกกำไรพิเศษจากส่วนต่างราคาสินทรัพย์และนำไปสู่การจ่ายปันผลพิเศษ

แต่เข้าเสียจากแผนธุรกิจดังกล่าว คือ สินทรัพย์ ADVANC ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันบริษัทต้องจ่ายค่าเช่าใช้โครงข่าย ส่งผลให้ต้นทุนในการให้บริการเพิ่มขึ้น และต้องร่วมรับรู้ค่าเสื่อมราคาและภาระหนี้สินผูกพันต่อสินทรัพย์ที่ถูกขายเข้ากองทุนฯ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง รวมถึงเม็ดเงินปันผลที่ลดลงตามไปด้วย

ส่วนแนวโน้มธุรกิจของ INTUCH นั้น เมื่อเร็วๆนี้มีรายงานว่าMSCI และ FTSE ประกาศลดน้ำหนัก INTUCH ระหว่างกาล เนื่องจากสภาพคล่องของหุ้น หรือ Free Float ที่ลดลง โดยในส่วน MSCI คิดเป็นเงินไหลออก 69.33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 2.31 พันล้านบาท และ FTSE คิดเป็นเงินไหลออก 51 ล้านเหรียญฯ หรือ 1.70 พันล้านบาท แต่นักวิเคราะห์หลายแห่งยังคงแนะนำลงทุน หุ้น INTUCH เนื่องจากการปรับลดน้ำหนักการลงทุน จาก MSCI และ FTSEไม่ได้กระทบต่อพื้นฐานของบริษัท อีกทั้งยังมองว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าซื้อในราคาที่ต่ำ เพราะหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นพื้นฐานดี อัตราผลตอบแทนจากปันผลสูง หรือ Dividend Yield ประมาณ 3.5-3.8% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดน้ำหนักในครั้งนี้

ดังนั้น โดยรวมยังคงคาดการณ์กำไร INTUCH ที่ 9.90 พันล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน ซึ่งมาจากผลประกอบการที่อ่อนแอลงจากบริษัทลูกทั้ง ADVANC และ THCOM ขณะเดียวกันเชื่อว่าการ spinoff ทรัพย์สินที่สร้างมูลค่าจะมาจากการขายทรัพย์สินให้บริษัทเสาสัญญาณ ไม่ใช่ขายให้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัท เนื่องจากบริษัทเสาสัญญาณจากสร้างมูลค่าทีแท้จริงให้ผู้ประกอบการมากกว่า แต่อาจเป็นประเด็นท้าทายของบริษัทเสาสัญญาณ เนื่องจากจำเป็นต้องพึ่งความร่วมมือจากทั้งสามผู้ประกอบไม่ใช่แค่รายเดียว นอกจากนี้คาดว่า GULF พยายามจะถือหุ้นมากกว่า 50% ใน INTUCH เพื่อรวมผลงบการเงินของ INTUCH เข้าในงบของบริษัท


กำลังโหลดความคิดเห็น