xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 รุมเร้า AOT สภาพคล่องวูบ-ทั้งปีขาดทุนต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มรสุมยังรุมเร้า “ท่าอากาศยานไทย” การแพร่ระบาดของโควิด-19 กดดันให้ต้องขยายมาตรการช่วยเหลือคู่สัมปทาน และพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลยอดหนี้ในปี 2565 เพิ่มพูน คาดทั้งปีนี้ขาดทุน 1.5 หมื่นล้านบาท และลดลงเหลือระดับ 3 พันล้านบาทในปี 2565 ขณะที่สภาพคล่องปัจจุบันจำเป็นต้องมองหาทางกู้เงิน

ปากประตูแห่งแสงสว่างของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ในปีนี้ยังคงเลือนราง เมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่มีท่าทีคลี่คลายลง และยังกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนระบบสาธารณสุขของประเทศอยู่ในสภาวะ Overload แม้ภาครัฐจะพยายามจัดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเหลืออย่างการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ก็ตาม

จากกำไรสุทธิระดับ 2.50 หมื่นล้านบาทในปี 2561-2562 มาถึงปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด กำไรสุทธิของ AOT เหลือเพียง 4.32 พันล้านบาท ขณะที่ 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 บริษัทขาดทุนแล้ว 7.08 พันล้านบาท และในปีงบไตรมาส 3/64 ยังมีโอกาสขาดทุนเพิ่ม เช่นเดียวกับตัวเลขรายได้จากระดับ 6 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันทำไปได้เพียง 4.29 พันล้านบาท

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาด AOT เผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ นานา เริ่มจากการลดลงของรายได้จากปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ขาดหายไป บริษัทยังต้องยอมรับการลดลงของรายได้ในรูปแบบสัมปทานด้วย ขณะเดียวกัน แผนเพิ่มศักยภาพของสนามบินที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากก็ไม่ได้ชะลอการดำเนินงานไป อีกทั้งต้องให้ความช่วยเหลือหรือผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ เพื่อโอบอุ้มคู่ค้าทางธุรกิจให้สามารถอยู่รอดจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ไปด้วยกัน

ล่าสุด อีกหนึ่งพันธมิตรทางธุรกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้ AOT อย่าง บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า AAV ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ประกาศขยายเวลาหยุดให้บริการทุกเส้นทางการบินภายในประเทศชั่วคราว จากเดิมตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.-8 ส.ค.2564 เปลี่ยนเป็น 31 ส.ค.2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงขึ้น และตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศยานในเส้นทางการบินภายในประเทศ ห้ามปฏิบัติการบินรับส่งผู้โดยสารเข้าหรือออกพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แม้ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ AOT ได้มีมติอนุมัติขยายเวลาการเลื่อนการชำระ และการแบ่งชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) และค่าค่าเครื่องอำนวยความสะดวก (Aircraft Service Charges) เพิ่มเติมออกไปอีก 5 เดือน ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ที่อยู่ในความดูแล เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังรุนแรงต่อเนื่อง นั่นเท่ากับ AOT สูญเสียรายได้จากที่เคยได้รับอยู่เป็นปกติ เพื่อช่วยเหลือพันธมิตรของบริษัท

นอกจากนี้ AOT ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน โดยการลด/ยกเว้นค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน ค่าเช่าสำนักงาน และค่าบริการต่างๆ ซึ่ง AOT ได้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือ จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 ไปจนถึงสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังมีสัญญาณว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคมปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น AOT ยังเตรียมต่ออายุสัญญาร่วมลงทุนชั่วคราวของกิจการสนามบินที่มีความจำเป็น ที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐละเอกชน ตามมาตรา 9 ออกไปเป็นการชั่วคราว จำนวนรวมทั้งสิ้น 28 สัญญา จนกว่าบริษัทจะได้ผู้ประกอบการจากการคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ.2562

เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ก.ค.63 ทางกระทรวงการคลังได้ออกแนวทางและกระบวนการที่ชัดเจนการคัดสรรผู้ประกอบการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งบริษัทประเมินกระบวนการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เห็นว่าต้องใช้เวลาคัดสรรผู้ประกอบการราว 20 เดือน ขณะที่ 28 สัญญาร่วมทุนของ ทอท. จะหมดอายุลงภายในระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถหาผู้ประกอบการรายใหม่ได้ทัน ตามเกณฑ์การคัดสรรใหม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อกิจการท่าอากาศยาน จึงเตรียมขออำนาจ คณะรัฐมนตรี ขอขยายระยะเวลาสัญญาร่วมทุนออกไปก่อนเป็นการชั่วคราว

โดย 28 สัญญาร่วมทุนที่จะดำเนินการนั้นเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกี่ยวเนื่องจำนวน 12 กิจกรรม เช่น การให้บริการล้างเครื่องบินด้วยระบบเคลื่อนที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การให้บริการขนส่งสัมภาระที่เกิดการตกค้างระหว่างเดินทาง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การให้บริการด้านผู้โดยสาร (Passenger Handing Service) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และ เชียงราย กิจการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เพื่อบรรเทาปัญหาการแพร่บาด โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ AOT ได้เดินหน้าจัดทำโรงพยาบาลสนามระดับสูง (สนามบินสุวรรณภูมิ) ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของพื้นที่ไว้แล้วโดยประสานกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำระบบไอซียูซึ่งจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะเรียบร้อย ซึ่งจะรองรับผู้ป่วย 4,500 เตียง โดยชั้นที่ 2 ของอาคาร SAT-1 จะเป็นที่ทำการแพทย์ และเตียงผู้ป่วย ICU รวม 940 เตียง ส่วนชั้นที่ 3 และ 4 เป็นเตียงผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีเขียว 3,560 เตียง

พร้อมกันนี้ AOT ขยายระยะเวลางานจ้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 จำนวน 3 สัญญา ได้แก่ 1.ขยายระยะเวลาสัญญางานจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออกโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 871.888 ล้านบาท รวมถึงอนุมัติขยายระยะเวลาสัญญางานซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Movew : APM) ให้นิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี มูลค่าสัญญา 2,999.90 ล้านบาท ขยายระยะเวลาแล้วเสร็จอีก 330 วัน และอนุมัติขยายระยะเวลางานซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) มูลค่าสัญญาเงิน 3,646.560 ล้านบาท โดยเป็นการขยายระยะเวลาแล้วเสร็จ จำนวน 214 วัน เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศได้ตามกำหนด

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT แสดงความเห็นถึงภาพรวมผลกระทบทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกรวมถึงไทย และปริมาณการเดินทางยังไม่กลับมาเป็นปกติ ซึ่งสถิติการเดินทางเข้าออก 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ AOT ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าลดลงเหลือเฉลี่ย 1 หมื่นคนต่อวัน ติดลบราว 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 โดยปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ลดลงนั้น ส่งกระทบต่อรายได้และรายจ่ายของ AOT ทำให้ล่าสุดกระแสเงินสดของบริษัทลดลงเหลือเพียง 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดือน เม.ย.2564 ที่มีอยู่ราว 2.3 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2 พันล้านบาทในช่วงไม่กี่เดือน และลดลงจำนวนมากหากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่บริษัทมีกระแสเงินสดเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

และหากเปรียบเทียบกับรายจ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายตามแผนการลงทุน  AOT คาดว่าอาจจะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หรือเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.2565 เป็นต้นไป แม้ว่าภาระเบิกจ่ายงบลงทุนช่วงนี้จะปรับลดลงจากมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างสนามบินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดตามมาตรการของรัฐบาลก็ตาม

ส่วนความคืบหน้าในการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) ได้อนุมัติกรอบวงเงินไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ด้านการบินช่วงเริ่มตารางบินฤดูหนาว ในเดือน ต.ค.นี้ เพราะอาจทำให้เห็นความชัดเจนเรื่องการเปิดน่านฟ้าของแต่ละประเทศ และทำให้คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารได้ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจกู้เงิน โดยหากมีการเปิดน่านฟ้ามากก็อาจจะกู้เงินน้อยลง

นอกจากนี้ ยอมรับว่ามาตรการห้ามบินพื้นที่ 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รุนแรง เริ่ม 21 ก.ค.นี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่ทำการบินผ่านสนามบินของ AOT ให้ปรับลดลงอีก เนื่องจากทั้ง 2 สนามบินหลักของ ทอท. คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ในเขตจังหวัดห้ามทำการบิน

ส่วน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้ถอดประเทศไทย ออกจากรายชื่อประเทศที่ปลอดภัยที่ควรเดินทางไปในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะมีผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศมายังภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัส เบื้องต้น ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันจำนวนผู้เดินทางยังมีปริมาณน้อยอยู่ ประมาณวันละ 1 พันคน อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตและสมุยเป็นลักษณะของเกาะ มีมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นมาตรการสาธารณสุข

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จ.ภูเก็ตสั่งปิดเกาะสำหรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด19 รายใหม่แตะ 50 รายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 โดยมีผู้ป่วยรายใหม่รายสัปดาห์รวมที่ 196 ราย เกินกำหนดที่ 90 ราย อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในประเทศนอกเหนือจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม

จากมาตรการดังกล่าวทำให้เชื่อว่า การจำกัดผู้เดินทางภายในประเทศจะสามารถควบคุมโควิด-19 ในภูเก็ตได้ โดยการสั่งปิดเส้นทางท่องเที่ยวภายในประเทศ (ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ) ทั้งหมดที่จะเข้าภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 3-16 สิงหาคม 2564 โดยมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น เหตุฉุกเฉินทางการแพทย์และการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ

ขณะที่รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมนี้ แม้จะมีการติดเชื้อสูงในประเทศไทย แต่รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะเปิดประเทศภายในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2564 (120 วันหลังนายกรัฐมนตรีประกาศในวันที่ 16 มิถุนายน 2564) ล่าสุด สหราชอาณาจักรประกาศบริจาควัคซีนเพิ่มเติม (415,000 โดส) และสหรัฐอเมริกา (เพิ่มเติม 1 ล้านโดส) ที่จะส่งมอบในเดือนสิงหาคม ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีน 63.9 ล้านโดส ภายในเดือนตุลาคม ซึ่งเพียงพอสำหรับฉีดวัคซีนให้คนไทย 50 ล้านคน โดยเข็มแรกจะได้ฉีดทั้งหมดภายในวันที่ 14 ต.ค. ครบ 70% (อย่างน้อยหนึ่ง 1 โดส)

นอกจากนี้ การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะผสมและจับคู่ Sinovac (เข็มแรก) และ AstraZeneca (เข็มสอง) น่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายมากขึ้น เนื่องจากสามารถฉีด Sinovac ที่มีอยู่เพื่อชดเชยปัญหาขาดแคลนการฉีดวัคซีนเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ทำให้คิดว่าแผนเปิดเมืองเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคมเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็สามารถทำได้เนื่องจากมีการจัดหาวัคซีนที่เพียงพอ ความเสี่ยงที่สำคัญคือความล่าช้าในการฉีดวัคซีนซึ่งอาจทำให้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยาวนานขึ้น ดังนั้น น่าจะทำให้ AOT เป็นหุ้นเด่น เนื่องจากเป็นผู้รับผลประโยชน์หลักจากการที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศในเดือนตุลาคม 2564

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายประเมินว่า มาตรการหนุนสภาพคล่อง (ขยายเวลาการชำระหนี้ 5 เดือนและออปชันการผ่อนชำระหนี้) จาก AOT จะมีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนจำกัดและแก้ปัญหาโดยการดึงเงินสดและสภาพคล่องสำรอง (สภาพคล่อง 2.6 หมื่นล้านบาท เทียบกับการใช้เงินสด 1.5 พันล้านบาทต่อเดือน) แต่มาตรการนี้อาจนำไปสู่การลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวของ AOT หลังประกาศผลประกอบการ โดยเชื่อว่าการขยายการชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการอื่นๆ ครั้งนี้มีความเสี่ยงจำกัด

ที่ผ่านมา AOT ประกาศมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้และออปชันการผ่อนชำระหนี้ให้กับผู้ได้สัมปทานทุกราย (เช่น KingPower, The Mall สายการบิน ร้านอาหาร ซุ้ม ATM) ซึ่งกระทบกระแสรายได้เกิดทุกทาง (สัมปทาน ปล่อยเช่าพื้นที่ รายได้บริการ ค่าธรรมเนียมอากาศยาน ค่าบริการสนามบิน) ดังนั้น การขยายเวลาชำระสินเชื่อเพิ่มเป็น 23 เดือน (เพิ่ม 5 เดือน) สำหรับค่าสัมปทานในช่วงก.พ./เม.ย.-ก.ค. 20 และ 17 เดือน (เพิ่ม 5 เดือน) ซึ่งผู้ได้สัมปทานจะสามารถแบ่งผ่อนชำระค่าสัมปทานมากสุด 12 เดือนเมื่อถึงระยะเวลาการชำระหนี้ นั่นทำให้ AOT จะเป็นสถานะบริษัทมีหนี้ในปี 2565 จากบริษัทเงินสดสุทธิตั้งแต่ 2557

แต่มาตรการเหล่านี้ไม่มีผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนมีเพียงในแง่เวลาของกระแสเงินสด ทำให้คาดว่า AOT จะใช้เงินสดสำรองของบริษัท และใช้สินเชื่อธนาคารเป็นเงินทุนสำหรับงบลงทุนใน 2565 นำไปสู่การที่บริษัทจะเปลี่ยนเป็นสถานะหนี้สุทธิ (net debt) ในปี 2565 และจะแตะระดับสูงสุดภายในปี 2566

อย่างล่าสุด บล.ฟิลลิป คาดว่าไตรมาส 3/64 บริษัทอาจขาดทุน 3,978 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้รวม 1,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% ทั้งจากผู้ใช้บริการและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเที่ยวบินของการขนส่งสินค้าที่มีมากขึ้น

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานคาด -9.6% ลดลงไม่มากจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้ค่าเสื่อเพิ่มขึ้น 54.9% กลบค่าใช้จ่ายอื่นที่ลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการบริหาร (SG&A) เพิ่มขึ้น 118.9% เพราะปีก่อนมีการกลับรายการสำรองโบนัส

ส่วนสถานการณไตรมาส 4/64 คาดดูแย่ลง จากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้การเดินทางในประเทศกลับมาหดตัวอีกครั้ง และสายการบินได้ลดเที่ยวบินและหยุดบินจากมาตรการของรัฐที่เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มีนัยสำคัญ เพราะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเพียง 14,055 คน ภาพรวมจากแนวโน้มที่ดูแย่ลง จึงปรับขาดทุนปี 2564 ของ AOT เป็น 15,022 ล้านบาท และปรับปี2565 เป็นขาดทุน 3,011 ล้านบาท จากความกังวลต่อการเดินทางท่องเที่ยว โดยส่งผลให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 61 บาทต่อหุ้น โดยที่ผ่านมา ราคาหุ้นได้ตอบรับปัจจัยลบไปบ้างแล้ว แนะนำ "ทยอยซื้อ"






กำลังโหลดความคิดเห็น