แม้ว่าตลาดคริปโตในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาจะซบเซาไปบ้างแต่ยังพอที่จะได้เห็นแนวโน้มการลงทุนใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะแยกแยะออกมาน่าจะแบ่งได้เป็น 3 เมกะเทรนด์คือเกมบนบล็อกเชน (Blockchain Games), พัฒนาบล็อกเชนใหม่เพื่อรองรับการขยายตัว (Scalability) และ นักลงทุนระดับ สถาบัน (Institution Investors) เริ่มที่จะเข้ามาในโลกของ DeFi
เรื่องแรกคือกระแสของ Blockchain Games โดยเฉพาะเกมที่พูดถึงในโลกของคริปโตกันในวงกว้างตอนนี้อย่าง Axie Infinity ซึ่งพัฒนาโดยนักพัฒนาชาวเวียดนาม รูปแบบการเล่นจะต้องสร้างสัตว์เลี้ยงที่ชื่อ Axie ขึ้นมาต่อสู้กันซึ่งการจะได้มาซึ่งตัว Axie จะต้องมีโทเคนที่ใช้ในเกมส์ชื่อ SLP ผู้เล่นจะต้องซื้อโทเคน SLP เพื่อสามารถสร้าง Axie ที่มีความสามารถในการต่อสู้เพื่อเอาชนะโดยราคาเริ่มต้นที่ยังไม่ได้เก่งอะไรมากก็มีราคาตัวละ 20,000 บาทเข้าไปแล้ว
เมื่อชนะในเกมผู้เล่นก็จะได้โทเคน SLP มาซึ่งเลือกได้ว่าจะนำไปผสมพันธ์ Axie ให้เก่งขึ้นหรือจะนำไปขายในศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยน ในประเทศไทย Bitazza เป็นรายเดียวที่เปิดให้ซื้อขายโทเคนนี้ รูปแบบนี้สามารถทำเป็นอาชีพและสร้างรายได้จริงโดยชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจำนวนมากที่ว่างงานในช่วงโควิดก็หันมาเล่นเกมส์เพื่อสร้างรายได้
สิ่งที่น่าสนใจคือภายในระบบนิเวศน์ของเกม Axie Infinity สามารถสร้างรายได้ที่เกิดขึ้นจากค่าธรรมเนียมคิดเป็นมูลค่าถึงสัปดาห์ละ 1,000 ล้านบาท ถือเป็นโปรเจกต์ที่สร้างรายได้สูงสุดทิ้งห่างอันดับสองคือ Pancakeswap ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Yield Farming อันดับต้นๆของโลกอย่างไม่เห็นฝุ่น
กล่าวได้ว่าเป็นการนำคอนเซปต์ของบล็อกเชน, DeFi และ NFT มาผสมผสานเข้ากับการเล่นเกมทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้การจะใช้จ่ายเงินจริงภายในเกมมีอุปสรรคพอสมควร แต่การนำคอนเซ็ปต์ของคริปโตมาใช้ทำให้โทเคนที่อยู่ในเกมสามารถซื้อขายได้สะดวกกับคนทั่วโลก เชื่อได้ว่าอนาคตจะมี Blockchain Games ที่มีระบบนิเวศคล้ายๆกับ Axie Infinity ออกมาอีกอย่างแน่นอน
เมกะเทรนด์ที่สองคือการพัฒนาบล็อกเชนใหม่เพื่อรองรับการขยายตัว (Scalability) ของธุรกรรมบนโลกคริปโตรวมถึง DeFi จากเดิมที่เราเคยมีแต่เครือข่ายอีธีเรียมที่เป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานให้กับโปรเจกต์ด้านบล็อกเชนต่างๆโดยเฉพาะ DeFi แต่ปัจจุบันเรามีเชนใหม่ๆเกิดขึ้นเพื่อมาแข่งกับอีธีเรียม ที่มีปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดเนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนทาก ทำให้ธุรกรรมช้าและค่าธรรมราคาสูงขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว เครือข่ายอื่นๆจึงถูกพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ไม่ว่าจะเป็น Binance Smart Chain ที่พัฒนาโดย Binance หรือที่มาแรงในช่วงนี้อย่าง Solana, Polygon, Thorchain ซึ่งต่างได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนหรือวีซีเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเหรียญรวมถึงโปรเจกต์ใหม่ๆที่เกิดจากผู้ที่ถูกเรียกว่า "ผู้ท้าทายอีธีเรียม" ขึ้นมามากมาย
ส่วนเมกะเทรนด์สุดท้ายคือ เม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันในโลกการเงินดั้งเดิมเริ่มที่จะเข้ามาในโลกของ DeFi เริ่มจากโปรเจกต์ใหญ่ๆ อย่าง AAVE Compound หากเม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันเข้ามามากขึ้นตลาด DeFi ก็จะขยายตัวและเข้าสู่การยอมรับกว้างขวางจากคนหมู่มาก เต็มตัวจากเดิมที่การใช้งานค่อนข้างยากและจำกัดเฉพาะกลุ่ม อนาคตน่าจะได้เห็นโปรดักต์การเงินที่ผสมผสานระหว่างโลกการเงินดั้งเดิมและ DeFi เข้ากันอย่างลงตัวก็เป็นได้
นี่คือ 3 เมกะเทรนด์ในโลกของคริปโตที่น่าจะเป็นกระแสต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า แม้ว่าราคาบิทคอยน์จะยังไม่กลับไปทำจุดสูงสุดใหม่แต่ในโลกของคริปโตยังมีรูปแบบการลงทุนใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงมองว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่เงียบเหงาเหมือนช่วงปี 2018-2019
บทความโดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา ซีอีโอ Bitazza โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และ ก.ล.ต.