xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดเงินดิจิทัลในไทยต้องมี “กฎหมายและเกณฑ์” คุมเข้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกุลเงินดิจิทัลคึก จำต้องมีตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อรับผลิตภัณฑ์มีมากกว่าหนึ่ง ขณะ ก.ล.ต.สวมบทบาทกำกับดูแลและหลักเกณฑ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นไม่เอาเปรียบและคุ้มครองทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย พร้อมทั้งเร่งพัฒนา รวมถึงออกกฎหมายคุ้มครองผู้ที่อยู่ในตลาดคริปโต สร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรม เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน

ในโลกการเงินดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หรือที่รู้จักในชื่อว่าสกุลเงินดิจิทัล ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะมาทดแทนการใช้เงินสดหรือแม้แต่เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างบล็อกเชน (blockchain) ที่มีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน ขณะที่เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงินที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และจากการที่ราคา Bitcoin ที่ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2564 นี้ รวมทั้งการที่ Tesla ซื้อ Bitcoin สูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เกิดความสนใจในการเทรด Cryptocurrency เพิ่มขึ้นอย่างมากในบ้านเราโดยนักลงทุนหน้าใหม่เกิดขึ้นมามากมาย แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง แต่นักลงทุนก็มีจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นในการลงทุน Cryptocurrency

สุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวถึงภาพรวมของการประกอบธุรกิจต่อสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยใน ขณะนี้ว่าปัจจุบันได้มีการกำกับดูแลภายใต้ข้อกฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะกำกับดูแลโปรดักต์อยู่ 2 เรื่องคือ cryptocurrency ซึ่งเป็นสื่อกลางอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง สำหรับในการใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นและผลิตภัณฑ์ที่ 2 ซึ่งอยู่ใน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลที่เรียกว่าเป็นดิจิทัลโทเคน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ตัวอยู่ในภาพรวมของการกำกับดูแล

ในส่วนที่อยู่ใน Ecosystem คริปโตของประเทศไทยนั้นจะมีผู้เล่นที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า 2 ตัวนี้ โดยผู้เล่นอาจจะประกอบไปด้วยตั้งแต่ผู้ลงทุน ผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลาง แล้วรวมถึงตัวสำนักงานเองซึ่งเป็น Regulator (หน่วยงานกำกับดูแล) สำหรับผู้ให้บริการตามกฎหมายในขณะนี้มีอยู่ทั้งหมดอยู่ 5 ประเภท ประเภทแรกคือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทที่สองเรียกว่าคนที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และประเภทที่สาม คือคนที่เป็นผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนประเภทที่สี่คือเป็นที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล และประเภทสุดท้ายคือผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยแต่ละประเภทนี้ทำหน้าที่อะไรบ้างเริ่มจากที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ซื้อขาย ก็เป็นส่วนงานของ Provide แพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน ทำให้มีการเกิดการซื้อขายระหว่างกันโดยที่อาจจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการซื้อขายกันด้วย

สำหรับส่วนที่ 2 เป็นโบรกเกอร์ คือ ทำหน้าที่เป็นนายหน้าหรือที่เป็นคนที่จับคู่สุดท้ายกันระหว่างคนที่ต้องการจะซื้อและคนที่ต้องการจะขาย ขณะส่วนที่ 3 คือคนที่ทำหน้าที่เป็นคู่ค้าหรือที่เรียกว่า Dealer คือเป็นคนที่ให้บริการซื้อขายกับ Portfolio ของตัวเอง คือตัวของผู้ค้าจะมีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่กับตัวของเขาเองถ้าใครจะซื้อจะขายก็สามารถซื้อขายได้

โดยส่วนที่ 4 คือคนที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล คือคนที่ให้คำแนะนำ ให้มูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลว่าควรจะซื้อที่ราคาเท่าไหร่ ขายที่ราคาเท่าไหร่ ณ ตอนนี้ ซึ่งเป็นในรูปแบบของการให้บริการขึ้นมา โดยได้รับผลตอบแทน ถ้าทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา ก็จะเข้าข่ายการเป็นที่ปรึกษา และสุดท้ายคือคนที่ทำหน้าที่รับจัดการเงินทุน ปัจจุบันนี้มีผู้ให้บริการอยู่ทั้งหมดประมาณ 10 ราย ส่วนผู้แนะนำการลงทุน หรือที่ปรึกษาการลงทุนในขณะนี้ยังไม่มี โดยอยู่ในช่วงของการมาขอใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เช่นเดียวกันกับผู้จัดการเงินทุนก็เช่นเดียวกัน

แยกเป็นตลาดแรกและตลาดรอง

สำหรับตลาดแรกคือ เป็นลักษณะของการที่มีการระดมขึ้นมา จะมีลักษณะคล้ายๆ กับตลาดหุ้น หากมีคนที่ต้องการระดมทุนขึ้นมาเพื่อเอาเงินตรงนั้นเอาไปพัฒนาไปลงทุน ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลเองมีตลาดแรกป็นการระดมทุนที่เรียกกันว่า Initial Coin Offering หรือ ICO นั้นเอง โดยใน Ecosystem นี้จะประกอบด้วย 3 ส่วนที่มีความสำคัญ ส่วนแรกได้แก่ส่วนที่ต้องการระดมเงินทุนเรียกว่า issuer คือคนที่ออกเหรียญตัวนี้ขึ้นมา

ส่วนบุคคลที่ 2 คือคนที่ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็น Financial Advisor หรือ FA ที่จะตรวจสอบในรายละเอียดต่างๆ ว่าผู้ต้องการระดมทุน หรือ issuer ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และตรวจความถูกต้องทุกด้าน รวมถึงโปรเจกต์นั้นเป็นโปรเจกต์ที่ไม่หลอกลวงหรือไม่ โดย FA จะเป็นคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในครั้งแรก แต่ในการสกรีนดูว่า ICO ตรงนั้นเป็นปกติที่เหมาะสมเต็มตัวจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง สุดท้ายที่มีความสำคัญมากที่สุดคือผู้ซื้อขายนั่นเอง เพราะเป็น Ecosystem ในส่วนของตลาดแรก

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการซื้อขายในตลาดแรกแล้ว ต้องมีตลาดรองรับการซื้อขายเพื่อแลกเปลี่ยนมือกัน เพื่อสร้างให้เกิดสภาพคล่องสำหรับคนที่ซื้อ Coin หรือ ICO ตัวนั้นมา แต่ในตลาดรองนี้จะมีความพิเศษขึ้นมาอีกตรงที่ตลาดรองจะประกอบด้วยสินค้าที่หลากหลายมากกว่า เพราะว่าสินค้าที่อยู่ในตลาดแรกจะเป็นเพียงแค่ตัวที่เราเรียกว่าดิจิทัลโทเคนอย่างเดียว ขณะที่ตลาดรองจะมีการซื้อขายทั้ง cryptocurrency และดิจิทัลโทเคนด้วย

เร่งพัฒนาเพื่อประโยชน์สูงสุดในโลกคริปโต

ย้อนกลับไปนิดหนึ่งว่า ธุรกิจสินทรัพย์ที่ตอนนี้เป็นการประกอบวิชาชีพประเภทหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมนี้สิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อขายในตัวสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นสิ่งที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญคือการพัฒนาธุรกิจแบบการเติบโตยั่งยืน หรือ Sustainable เพื่อให้เกิดการเติบโตแบบยั่งยืน จะพัฒนาอีก 2 ด้าน คือบทบาทของ ก.ล.ต. ในเรื่องการกำกับดูแลและการพัฒนา ซึ่งทั้ง 2 อย่างต้องควบคู่กันไป โดย ก.ล.ต.อยากจะให้ผู้ซื้อขายเป็นผู้ที่เราเรียกว่ามีความรู้ มีความเข้าใจในตัวสินค้าและบริการ หรือสิ่งที่อยากจะซื้อจะขายเข้าไป ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำนักงานอยากจะพัฒนาขึ้นมา คือเรื่องของ Empower อาจจะเป็นเรื่องการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจได้เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน เพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจลงทุนได้

ขณะที่ในอีกฝั่งเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทาง ก.ล.ต. เองอยากให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้มีลักษณะของวัฒนธรรมในเรื่องของการ Putting invester first คือหากประกอบธุรกิจอะไรขึ้นมา ให้คิดถึงผู้ลงทุนเป็นหลักว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้ลงทุน เป็นต้น

“ด้วยหลักการตรงนี้จะแปลงมาเป็นเรื่องของหลักเกณฑ์กำกับดูแล หรือ Philosophy ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ว่าจะกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเน้นการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีการจัดการเรื่อง Conflict of interest หรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ดี รวมถึงว่ามีเรื่องของระบบงานที่ดี แล้วมีฐานะทางการเงินที่มีความมั่นคง ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพื่อให้เขาสามารถให้บริการผู้ซื้อขายอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพไม่เอารัดเอาเปรียบ อันจะเกิดการสร้างความเชื่อมั่นเป็นอุตสาหกรรมตรงนี้ขึ้น ส่งผลให้มีความยั่งยืนในธุรกิจนี้ นี่คือสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวที่เราเร่งพัฒนาขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ด้วยธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเองมีพัฒนาการที่ค่อนข้างรวดเร็ว เติบโตอย่างก้าวกระโดด สำนักงาน ก.ล.ต. เองจะมีความเป็นห่วงผู้ซื้อขายว่าจะมีองค์ความรู้เท่าทันหรือไม่ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงอยากจะให้ผู้ให้บริการ เอาใจใส่ในเรื่องของสินค้าและบริการอาจจะเรื่องของการคัดกรองสินค้าต่างๆ ที่มีคุณภาพนำมาให้บริการกับผู้ลงทุน รวมถึงว่าเป็นเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ลงทุน มีเงื่อนไข การกำหนดเงื่อนไขการให้บริการต่างๆ ที่ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดการเติบโตไปด้วยกัน

กฎหมายที่คุ้มครองผู้ซื้อขายคริปโต

ต้องบอกว่า ผู้ที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลปัจจุบันประเทศไทยมีตัวกฎหมายเฉพาะขึ้นมาที่เรียกว่าเป็นพวกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเรียกสั้นๆว่าเป็น พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ตรงกฎหมายฉบับนี้ก็จะให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการพัฒนาส่งเสริม รวมถึงการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

ทั้งนี้ เป็นหน้าที่หลักของ ก.ล.ต. ในการออกหลักเกณฑ์ กติกา และเงื่อนไขต่างๆ ในการประกอบธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการประกอบธุรกิจมีมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนในหลายๆ เรื่อง

นอกจากนี้ จำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินที่ฝากไว้จะได้รับการดูแลอย่างดี ไม่มีการโกงเกิดขึ้นมา หรือว่าอีกเรื่องที่สำคัญคือ เนื่องจากพวกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ จะเป็นการให้บริการโดยผ่านทางระบบไอที ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการให้บริการต่างๆ มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย โดยเฉพาะความปลอดภัยในเรื่องของ Cyber Security

ก.ล.ต. ดูแลอะไรใน Ecosystem นี้

สำหรับวิธีการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. จะบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำคือ ตั้งแต่เรื่องที่ผู้คนสนใจจะประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจก่อน ซึ่งจะช่วยพิจารณาว่าบุคคลที่สนใจที่เข้ามาประกอบธุรกิจนี้มีระบบงานที่เหมาะสมเพียงพอ ดูในเรื่องเงินทุนของเขาเช่นเดียวกันว่าเขามีเงินทุนเพียงพอในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเรื่องสุดท้ายคือมีบุคลากรที่ดีมีคุณสมบัติ แล้วไม่มีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้จะเป็นส่วนแรกที่ ก.ล.ต. จะดูแล ถัดมาพอได้รับใบอนุญาตเสร็จแล้วจะกำกับดูแลในเรื่องของการประกอบธุรกิจแบบ ongoing หรือต่อเนื่องไป ตรงนี้จะมีหลักเกณฑ์หลายเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง หลักเกณฑ์ในเรื่องการทำความรู้จักลูกค้า หลักเกณฑ์ในการเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงทางด้าน iT Security หรือว่าเป็นหลักเกณฑ์ในเรื่องของการบริหารจัดการ Conflict of interest ต่างๆ

อีกทั้งจะมีหลักเกณฑ์พิเศษสำหรับแต่ละประเภทธุรกิจ อย่างเช่นถ้าคนที่ประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขาย ทาง ก.ล.ต.จะกำหนดในเรื่องของหลักเกณฑ์เกี่ยวเรื่องการคัดกรองสินค้าเพื่อนำมาให้บริการว่าสินค้านั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นสินค้าที่หลอกลวง แล้วมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ ถ้าเป็นการประกอบธุรกิจประเภทอื่น เช่น การเป็นนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลจะประมวลในหลักเดียวกัน คือจะต้องบริการที่มี Duty Of Best Execution คือต้องหาราคาที่ดีที่สุดให้ผู้ซื้อขาย พร้อมเข้าไปตรวจสอบ เพื่อมั่นใจว่าตัวผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตรงนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ดี หากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ผู้ประกอบธุรกิจต้องการที่จะออกจากตัวธุรกิจตัวนี้ขึ้นมา ก.ล.ต. เองจะมีเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วยการให้ผู้ประกอบกิจการมีการส่งคืนทรัพย์สินของลูกค้าที่ฝากไว้ ถ้าเรียกง่ายๆ ก็คือ Smooth Exit หลังจากนั้นจึงจะปิดกิจการ และคืนใบอนุญาต

มี Blockchain จำเป็นต้องมี ก.ล.ต.ไหม?

สำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้อยู่ที่การนำเสนอคุณสมบัติ อยากให้การทำธุรกรรมในโลกเป็นโลกที่เสรี ไม่มีตัวกลางขึ้นมา หรือในต่างประเทศนิยามว่า Democratizing of financial service แต่ว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วคนที่ให้บริการ กับคนที่ใช้บริการจะมีข้อมูลที่ไม่เท่ากัน ซึ่งแน่นอนว่า คนที่ให้บริการย่อมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบริการของตนเอง ขณะที่มาใช้บริการอาจจะไม่มีความรู้เทียบเท่ากับผู้ให้บริการ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางกฎกติกาต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสขึ้นมา และขจัดหรือพยายามที่จะลดช่องว่างของความรู้ เรื่องของข้อมูลต่างๆ ให้ทั้งสองฝั่งที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด

“ดังนั้น จึงคิดว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องมี ก.ล.ต. อยู่ หรือมี Regulatory body สร้างให้เกิดความเป็นธรรมตรงนี้ขึ้นมา อีกอย่างสำหรับการซื้อขายต่างๆ เช่น ที่เป็นเรื่องของ blockchain แล้วก็จะมีเรื่องของ smart contract ที่กำหนดขึ้นมาจำเป็นที่อาจจะต้องมีกติกาขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการที่นักลงทุนอยู่ใน Space ตรงนี้มีความเป็นธรรม จึงต้องมีกติกาเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขาย ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าการซื้อขายต่างๆมีความเป็นธรรมและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการนำอะไรก็ตามที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย”

ดังนั้น ความเห็นส่วนตัวถึงแม้จะมี blockchain technology เองก็ตาม แล้ว blockchain นี้กำลังนำเสนอว่าเป็นเสรี ไร้ตัวกลางขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคิดว่ายังมีความจำเป็นอยู่ที่ต้องมีการกำหนดกติกาเพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้นมา ต้องมีหน่วยงานดูแลเรื่องกติกาตรงนี้ เพื่อป้องกันการเอาเปรียบกับผู้ซื้อขายอีกฝั่งที่อาจมีข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน

สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อขายอยู่ในอุตสาหกรรมหรือเข้ามาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังลงทุน หรือซื้อขายอยู่ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากนี้ ก.ล.ต. เองเคยได้ออกคำแนะนำ 6 ข้อควรระวังการลงทุนคริปโต ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะข้อแรกที่ให้ความสำคัญที่อยากแนะนำให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปควรจะศึกษาทำความเข้าใจลักษณะความเสี่ยง ผลตอบแทนรูปลักษณ์ต่างๆ ของตัวสิ่งที่จะลงทุน ให้เข้าใจตัวผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ กำลังจะทำหรือเข้าไปใช้บริการ หรือเข้าไปลงทุน

ขณะรองลงมาคือสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีหลายอย่าง ส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวก cryptocurrency เองอาจจะมีความผันผวนค่อนข้างที่จะสูงมาก เช่น วันนี้ราคาจะเพิ่มขึ้น 30% มาถัดไปอาจจะลดลงไป 50% เลยก็ได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังนั้น ถ้าจะเข้ามาซื้อขายตรงนี้ต้องเตรียมใจไว้ว่าอาจมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งก้อน ซึ่งเป็นเงินที่มีจำนวนเยอะมากทีเดียว ดังนั้นเงินที่เอามาลงทุนในตรงนี้ควรจะเป็นเงินที่มีลักษณะเป็นเงินเย็น ไม่ใช่เป็นเงินร้อน ไม่ควรไปกู้ยืมใครมาลงทุน และต้องพร้อมมั่นใจว่าเราสูญเสียเงินลงทุนตรงนี้ไปจะไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน คนอื่นหรือคนรอบข้างเดือดร้อน และการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยคุณลักษณะที่แตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์โดยทั่วไป

ทั้งนี้ อาจมีของเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น smart contract เรื่องการดูแลตัวสินทรัพย์ตัวเอง ทั้ง wallet ต่างๆ การเก็บรักษา private key ตรงนี้จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจอย่างดีเสียก่อน และเรื่องถัดไปจะเป็นเรื่องการลงทุนเพื่อป้องกันไม่ให้เราสูญเสียมาก โดยอาจจะลองพิจารณากระจายตัวการลงทุน และสุดท้ายคือ การพยายามติดตามดูว่าสิ่งที่เราลงทุนไปมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน และพิจารณาตัดสินใจลงทุนให้เหมาะสมกับแนวทางที่เราถนัด และระยะเวลาการลงทุนด้วย




สุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.


กำลังโหลดความคิดเห็น