xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นแกว่งแคบคล้ายภูมิภาคช่วงรองบฯ กลุ่มแบงก์กดดันจากตั้งสำรองเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นปิดเช้าลบ 5.21 จุด แกว่งคล้ายภูมิภาคช่วงรองบฯ กลุ่มแบงก์กดดันจากตั้งสำรองเพิ่ม สำหรับแนวโน้มการลงทุนในภาคบ่ายคาดตลาดคงจะแกว่งทรงตัว โดยมีแนวรับ 1,535-1,530 จุด ส่วนแนวต้าน 1,545 จุด แนะติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ และตัวเลขส่งออกของไทย

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งทรงตัวคล้ายกับตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวบวก-ลบสลับกัน ในช่วงรอติตตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของแต่ละตลาด และได้ตอบรับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงไปบ้างแล้ว

ทั้งนี้ ตลาดบ้านเราได้รับแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มแบงก์ แม้ว่าผลประกอบการออกมาไม่แย่ แต่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกทั้งหุ้น SCC และ BANPU ปรับตัวลงด้วยปัจจัยเฉพาะตัว มีเพียงหุ้นในกลุ่มสื่อสารและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวขึ้นมาหนุนตลาดได้บ้าง จากการรับประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า

อย่างไรก็ดี บ่ายนี้แนะติดตามผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและซีอีโอภาคเอกชนในเรื่องการรับข้อเสนอต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และพรุ่งนี้จะมีประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างไร

ฝ่ายวิจัยหยวนต้าได้ประเมินผลกระทบจากการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดในครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจคิดเป็นวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาทต่อเดือน ขณะที่เม็ดเงินเยียวยามี 4-5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ยังไม่ Cover กับสิ่งที่เสียไป ดังนั้นเชื่อว่าภาครัฐจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาอีก

ด้านภาวะตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายครึ่งวันเช้าที่ระดับ 1,533.65 จุด ลดลง 5.21 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -0.34% มูลค่าการซื้อขายราว 38,143 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงบ่ายนี้ นายณัฐพล กล่าวว่า ตลาดคงจะแกว่งทรงตัว โดยมีแนวรับ 1,535-1,530 จุด ส่วนแนวต้าน 1,545 จุด แนะติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ และตัวเลขส่งออกของไทยที่เลื่อนออกไปเป็นในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ส่วนนอกประเทศติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 22 ก.ค. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยุโรป


กำลังโหลดความคิดเห็น