xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยออกโรงเตือนนักลงทุนเทรด DeFi

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ออกโรงเตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงในการลงทุนผ่านระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ DeFi โดยชี้แจงว่าสมาคมไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในข้อพิพาททางกฎหมายได้ หลังจากที่ Genesis ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม DeFi อ้างว่า สมาคมจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชดใช้ค่าเสียหาย สำหรับความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากการฉ้อโกง

จากแถลงการณ์ดังกล่าวของสมาคมที่ได้ออกประกาศเมื่อวานนี้ หลังจากมีข้อมูลเกี่ยวกับการสนทนาของเจ้าของ Genesis ปรากฏในห้องสนทนาของ Telegram โดยอ้างว่าเขาจะติดต่อสมาคมเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด โดยคำแถลงที่ออกโดยสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยได้ออกมาเตือนผู้ใช้งานหลังจากเกิดคดีฉ้อโกงใน Genesis ที่พัฒนาโดยนักพัฒนาที่ไม่ระบุตัวตนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน

“วัตถุประสงค์หลักของสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยคือการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล เราไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในข้อพิพาทดังกล่าวและเป็นตัวแทนในการรับทรัพย์สินใด ๆ ในนามของเหยื่อหรือบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงในคดีได้” แถลงการณ์ของสมาคมกล่าว

อย่างไรก็ดีทางสมาคมฯ ได้แสดงเจตจำนงค์ในการให้คำปรึกษาโดยยินดีที่จะประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และส่งผู้แทนไปช่วยให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้กระบวนการดำเนินไปอย่างราบรื่น

“แพลตฟอร์ม DeFi เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มาพร้อมความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจไม่รู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงจาก smart contracts ที่มีข้อผิดพลาดบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะผ่านการตรวจสอบแล้วก็ตาม และความเสี่ยงจากผู้พัฒนา แพลทฟอร์ม DeFi และความเสี่ยงจากการด้อยมูลค่าของโทเค็น ” สมาคมกล่าว

ขณะที่ GEN Token ซึ่งเป็นโทเค็นการกำกับดูแลของ Genesis ถูกเททิ้งในเดือนมิถุนายน และสร้างความเสียหายแก่ผู้ที่เข้าถือโทเค็นนั้นเป็นจำนวนมาก โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโทเค็น GEN บางรายคาดการณ์ว่าการเทขายนี้อาจเกี่ยวข้องกับ YouTuber ที่มีชื่อเสียงและผู้มีอิทธิพลในสกุลเงินดิจิทัลอย่าง “Gor Game” ซึ่งสนับสนุนให้ผู้คนซื้อและลงทุนในเหรียญผ่านห้องสนทนาของ Telegram และวิดีโอ YouTube ของเขาส่วนใหญ่ก็เป็นบทแนะนำเกี่ยวกับวิธีการลงทุนในแพลตฟอร์ม DeFi ขณะที่ผู้ถือโทเค็น GEN ได้ติดตามข้อมูลบนบล็อคเชน และพบว่าเจ้าของกระเป๋าโทเค็นได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ได้รับ และพวกเขาพบว่าเจ้าของกระเป๋าเงินเหล่านี้มีปริมาณการซื้อขายและกิจกรรมการซื้อขายสูงด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เป็นของ YouTuber โดยหลังจากนั้นพวกเขาก็ขอให้มีการออกมาชี้แจงในห้องสนทนาทาง Telegram และห้องสนทนาของคลับเฮาส์ที่มีผู้ฟังมากกว่า 2,000 คนในวันที่ 2 กรกฎาคม โดยเค้าก็ยอมรับว่าเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มและกล่าวว่าเขาจะชดเชยความสูญเสียดังกล่าว โดยขอให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับค่าชดเชยไม่ฟ้องเขา ซึ่งผู้ถือโทเค็นบางคนกล่าวว่าพวกเขาได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อตำรวจในสามจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

ส่วนผู้เสียหายบางรายกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เนื่องจากพวกเขารู้ว่าแพลตฟอร์ม DeFi ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.

“อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า DeFi เป็นดินแดนที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นการยากที่จะดำเนินคดีกับผู้ฉ้อโกงในโลก DeFi อย่างไรก็ดีนับจากนี้พนักงานสอบสวนและอัยการที่ทำคดีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องมีความรู้ทั้งในด้านการเงินและสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งแม้ว่า DeFi จะไม่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานกำกับดูแล แต่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใต้กฎหมายอาญาได้” พีท พีระพัฒน์ นักกฎหมายและนักวางแผนทางการเงิน กล่าวบน Facebook


กำลังโหลดความคิดเห็น