xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผหุ้น 8 กลุ่มเสี่ยงล็อกดาวน์ AAV-ERW-KBANK หนักสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เคทีบีเอสที ระบุ ล็อกดาวน์ กทม.-ปริมณฑล รอบใหม่ฉุดตลาดหุ้นไทยแน่ เปิดโผรายชื่อหุ้น 8 กลุ่มมีโอกาส Underperform ระบุ AAV - ERW - KBANK รับผลกระทบมากสุด ส่วนหุ้น Outperform คาดโรงพยาบาล ไอทีน่าสนใจ ด้าน ZEN หั่นเป้ารายได้ปีนี้เหลือใกล้เคียงปีก่อน จากเดิมคาดโต 15-20% หลังรัฐคุมเข้มร้านอาหาร เผยเหลือกระแสเงินสดรองรับได้แค่ 2 เดือน ค้านแผนล็อกดาวน์ ชี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. พิจารณามาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด การห้ามออกเคหสถาน (ออกเท่าที่จำเป็น เช่น ออกไปพบแพทย์ ไปฉีดวัคซีน หรือซื้ออาหาร) ปิดสถานที่เสี่ยง (ยกเว้นตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกต) work from home ขั้นสูงสุด 14 วัน และปิดพื้นที่เสี่ยง กทม.และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด 14 วัน

โดยข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทยจากการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดในประเทศไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ซึ่งวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อสูงกว่า 9 พันราย และมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นคนต่อวันในสัปดาห์หน้า ดังนั้น มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นลบส่วนใหญ่กับหลายธุรกิจ

ทั้งนี้ มาตรการรอบนี้มีความเข้มงวดน้อยกว่าช่วง เม.ย.63 ที่มีการล็อคดาวน์ เพราะมาตรการที่จะเกิดขึ้นครอบคลุมแค่ 6 จังหวัด จากรอบก่อนที่ครอบคลุมทั้งประเทศ และไม่มีการปิดห้าง แต่เป็นการจำกัดเวลาเปิดปิดแทน

มอง AAV-ERW-KBANK โอกาส Underperform มากสุด

เราประเมินว่าหุ้นที่จะมีโอกาส Underperform มากสุด ได้แก่ AAV จากจำนวนผู้โดยสารจะฟื้นตัวช้ากว่าคาด ซึ่งเดิมเริ่มมีความหวังจะเริ่มฟื้นตัว ERW การท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวช้ากว่าเดิม และ KBANK มีสินเชื่อเที่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและ SME ที่จะได้รับผลกระทบมากสุด

ส่วนหุ้นที่จะได้รับผลบวกจากมาตรการดังกล่าว และมีโอกาส Outperform มากสุด ได้แก่ BCH จากการเป็นหนึ่งใน รพ. หลักในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ใน กทม. และ ปริมณฑลมากสุด และ COM7 จากการขายสินค้า IT สำหรับ work from home เพิ่มมากขึ้น

( - ) Sector/หุ้น ที่คาดว่าจะ Underperform มากสุด ได้แก่
1) Aviation : AAV - BA - AOT
2) Tourism : ERW - CENTEL - MINT
3) Bank : KBANK - SCB
4) Commerce : CRC - BJC
5) Industrial estate : AMATA - WHA
6) Ground transportation : BEM - BTS
7) Energy : TOP - SPRC - ESSO - BCP - IRPC - PTG - OR
8) Others : SPA - MAJOR

( + ) Sector/หุ้น ที่คาดว่าจะ Outperform มากสุด ได้แก่
1) Healthcare : BCH - CHG - EKH - THG
2) IT Distributor : COM7 - SYNEX - SIS
3) Others : MEGA

ZEN หั่นเป้ารายได้ปีนี้หลังรัฐคุมเข้มร้านอาหาร

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดเป้ารายได้ปีนี้เหลือใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ 2,333 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าจะเติบโตราว 15-20% เนื่องจากได้รับผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศระลอกใหม่ ซึ่งทำให้ภาครัฐออกประกาศใช้มาตรควบคุมโควิด-19 ใน 10 จังหวัด โดยการห้ามลูกค้านั่งรับประทานในร้านอาหาร จึงส่งผลให้บริษัทเหลือช่องทางการขายผ่านรูปแบบการซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรีเท่านั้น

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการปิดร้านชั่วคราว เพราะการบริหารจัดการด้านต้นทุน เช่น ค่าเช่าพื้นที่และค่าแรงพนักงานค่อนข้างจะทำได้ยากลำบากในสภาวะแบบนี้

"ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาคงไม่ต้องไปพูดถึง เพราะในช่วงไตรมาส 2/64 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.ไล่ไปจนถึงเดือนมิ.ย.และเดือนปัจจุบัน ซึ่งทำให้บริษัทจำเป็นต้องทบทวนเป้ารายได้และที่สำคัญคือการทบทวนรายจ่าย เนื่องจากบริษัทมีจำนวนร้านอาหารที่อยู่ในเครือหลากหลายแบรนด์ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและบางส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่อยู่นอกศูนย์การค้าสามารถปรับกลยุทธ์ในช่องทางจำหน่ายผ่านรูปแบบการซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรีได้สะดวกมากกว่าร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์การค้า" นายบุญยง กล่าว

เขากล่าวว่า ตอนนี้การบริหารบริษัทต้องเน้นเรื่องการรักษาสภาพคล่องและการควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อให้ประคองธุรกิจเอาไว้ก่อน หลังจากปัจจุบันบริษัทเหลือกระแสเงินสดประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับการดำเนินกิจการได้ 2 เดือน หากมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม แต่ถ้าระยะเวลาล็อกดาวน์ลากยาวเกินกว่า 3 เดือน บริษัทอาจมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินที่เปิดวงเงินให้บริษัทเบิกใช้ได้ในยามจำเป็น

ส่วนแนวโน้มธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องรอดูสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร โดยทิศทางในช่วงไตรมาส 3/64 อาจยังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และจำนวนผู้ติดเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ ซึ่งยังต้องติดตามอีกที แต่ในช่วงไตรมาส 4/64 คาดว่าภาพรวมจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง เพราะตอนนี้ที่สำคัญคือเรื่องการกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้ออาจลดน้อยลงและสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้

"ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ เนื่องจากเชื่อว่านอกจากไม่ได้ช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะมองว่าภาครัฐควรไปป้องกันคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่าเหมือนกับในยุโรปที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงในมุมมองผู้ประกอบการมองว่าการล็อกดาวน์ถือเป็นการปิดช่องทางคนทำมาหากินอีกด้วย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น