สตง. เปิดตัว “โครงการประเมินวินัยการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ” หรือ FFDA เพื่อเป็นมาตรการเชิงบวกในการส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด พร้อมตั้งเป้า นำร่องปี 2564 ประเมินองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาวินัยการเงินการคลังของหน่วยงานของรัฐ รวมถึงบทบาทขององค์กรการตรวจเงินแผ่นดินในการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนปฏิบัติราชการ รวมทั้งมีการบริหารเงินแผ่นดินอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 62 จึงได้จัดให้มี “โครงการประเมินวินัยการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ” (Fiscal and Financial Discipline Assessment : FFDA) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ.2562-2565)
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ สตง. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2.เทศบาลนครและเทศบาลเมือง และ 3.เทศบาลตำบล รวมจำนวน 2,548 แห่งทั่วประเทศ โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และกฎหมายหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล ขณะเดียวกัน สตง. จะได้นำผลการประเมินไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
สำหรับรูปแบบและวิธีการประเมินวินัยการเงินการคลังแบ่งออก 2 ส่วน ได้แก่
1.การประเมินความรู้ความเข้าใจในเรื่องวินัยการเงินการคลังของรัฐและการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ของเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล โดยมีเครื่องมือหลักที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินออนไลน์ ซึ่งคะแนนการประเมินในส่วนนี้จะพิจารณาจาก 1) ผลการประเมินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของหน่วยงานอื่น เช่น ผลการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปี พ.ศ.2563 (Local Performance Assessment : LPA) ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น และ 2) ผลการประเมินตนเองด้านวินัยการเงินการคลัง ภายใต้กรอบการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านรายจ่าย ด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ และด้านการบัญชี การรายงาน และการตรวจสอบ โดยจะทำการประเมินในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564
2.การประเมินแนะนำและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลที่ได้รับคะแนนการประเมินในส่วนที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละประเภท ประเภทละ 4 หน่วยงาน จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่การประเมินในส่วนที่ 2 โดยใช้โปรแกรม “แนวทางในการจัดทำโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นการประเมินพร้อมให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะเพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล โดยจะทำการประเมินในช่วงเดือนสิงหาคม 2564
“สตง. จะประกาศผลการประเมินวินัยการเงินการคลังช่วงประมาณเดือนกันยายน 2564 ทางเว็บไซต์ สตง. (www.audit.go.th) สำหรับประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว นอกจากเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่หน่วยงาน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จะเป็นต้นแบบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเข้ามาเรียนรู้และนำแนวทางการปฏิบัติงานไปประยุกต์ใช้ต่อไปแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ที่จะต้องรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น มีการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ในขณะที่ประชาชนก็ได้รับประโยชน์จากการให้บริการของภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของชาติและความมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนทางการเงินการคลังของประเทศต่อไป” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
นายประจักษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การริเริ่มโครงการประเมินวินัยการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของ สตง. นอกเหนือจากบทบาทด้านการตรวจสอบภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นแบบประเมินการบริหารจัดการการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ ซึ่งถือเป็น Non-audit Products และเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการตรวจเงินแผ่นดิน (Innovative Auditing) ที่องค์กรการตรวจเงินแผ่นดินในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผลักดันให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง