"ไพโอเนียร์ มอเตอร์" เปิดแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง พร้อมเดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 เข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ย้ำเป้าหมายรายได้ปีนี้แตะ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนทำได้ 812.75 ล้านบาท รับอานิสงส์ออเดอร์ปั๊มสระว่ายน้ำไหลเข้าต่อเนื่อง แถมได้ยาดีสินค้า Innovation ช่วยหนุน
นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO-ไพโม่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning Motor) มอเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป (Induction Motor) เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ มอเตอร์สำหรับปั๊มบ้าน (Submersible Pump,Pool Spa Pump and Home Pump) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในครึ่งปีหลังที่หลายบริษัทฯ กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่บริษัทฯ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ประกอบกับได้ศึกษาสินค้าที่มี Innovation สามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น เนื่องจากสินค้าดังกล่าวไม่ต้องมาแข่งขันด้านราคา ในขณะที่สินค้าที่ไม่มี Innovation ต้องต่อสู้กันเรื่องราคา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับสิทธิบัตรในการผลิตสินค้ามอเตอร์ชนิดพิเศษ BLDC ซึ่งเป็นสินค้าประเภทมาร์จิ้นสูงกว่าแบบ AC มีตลาดรองรับในสหรัฐฯ เนื่องจากช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าถึง 40% และสหรัฐฯ ได้อนุมัติกฎหมายข้อบังคับว่าตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ห้ามจำหน่ายมอเตอร์ AC ดังนั้น บริษัทฯ จึงคาดว่ารายได้ปีนี้จะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ทำได้ 812.75 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักได้ดังนี้ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioner Motors) 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์กำลังสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Induction Motors) 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่งและมอเตอร์สำหรับสระและสปา (Submersible Pumpsand Pool &Spa Pump Motors) และส่วนประกอบมอเตอร์อื่น 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ (Pool Pump Motors)
“สินค้ากลุ่ม BLDC ตามมาตรฐานใหม่ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับการติดตั้งปั๊มสระว่ายน้ำจากระบบ AC เป็น DC คาดว่าจะทำให้การขายของบริษัทฯ เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดสระว่ายน้ำในสหรัฐฯ ยังมีความต้องการมอเตอร์ 10 ล้านลูกต่อปีและ PIMO เป็น 1 ใน 5 รายที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายในสหรัฐฯ ทำให้รายได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มลูกค้าในสหรัฐฯ เพราะมีคู่แข่งน้อยรายและมอเตอร์ประเภทนี้เป็นเหมือนสินค้าพรีเมียมที่ทำราคาได้สูงกว่ามอเตอร์ AC จึงทำให้สัดส่วนการส่งออกของบริษัทฯ ขยับขึ้นมาจากสินค้ากลุ่มดังกล่าว” นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ เฉพาะมอเตอร์สระว่ายน้ำบริษัทฯ ผลิตและส่งออกเท่านั้น โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือ ออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้ผลิตปั๊มน้ำสำหรับสระว่ายน้ำจำนวน 8 ราย บริษัทฯ ขายแบบ OEM ให้จำนวน 6 ราย หรือคิดเป็นมาร์เกตแชร์รวมมากกว่า 80% ในขณะที่สหรัฐฯ มีผู้ผลิตปั๊มน้ำสำหรับสระว่ายน้ำจำนวน 16-17 ราย บริษัทฯ ขายให้ผู้ผลิตรายเดียว
เนื่องจากกำลังการผลิตไม่เพียงพอ บริษัทฯ จึงขยายกำลังการผลิตสำหรับรองรับตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังลงทุนสร้างอาคาร Warehouse ใหม่ ขนาดพื้นที่ 3,019 ตารางเมตร ด้วยงบลงทุน 23.1 ล้านบาท เพื่อรองรับสินค้าสำเร็จรูปรวมทั้งเก็บวัตถุดิบในการผลิต ลงทุนอาคารส่วนขยายกำลังผลิตมอเตอร์ AC และลงทุนติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เพิ่มเติมตึก BLDC ด้วยงบลงทุน 8.3 ล้านบาท