ช่วงนี้บริษัทจดทะเบียนประกาศออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนหรือวอแรนต์ (WARRANT) กันอย่างคึกคัก และออกมาเป็นชุดใหญ่ แต่น่าเสียดายที่การใช้วอแรนต์กระตุ้นราคาหุ้น ไม่มีการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเหมือนอดีต
ก่อนหน้า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกวอแรนต์รวดเดียว 3 ชุด และล่าสุดบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ออกวอแรนต์คราวเดียว 3 ชุดเหมือนกัน
BTS แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีมติออกวอแรนต์ รุ่นที่ 6 รุ่นที่ 7 และรุ่นที่ 8 แจกฟรีผู้ถือหุ้นเดิม
วอแรนต์ ทั้ง 3 รุ่นของ BTS ไม่ได้มีวาระการเพิ่มทุนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกวอแรนต์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ เพียงแต่คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องการออกวอแรนต์มาแจกเท่านั้น
ส่วนราคาหุ้น BTS หลังประกาศแจกวอแรนต์ ปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อนที่จะปรับตัวลง
ขณะที่ BANPU แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน มีมติเพิ่มทุน นำหุ้นใหม่จำนวน 1,268.64 จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 5 บาท และออกวอแรนต์ รุ่นที่ 4 รุ่นที่ 5 และรุ่นที่ 6 แจกฟรีผู้ถือหุ้นที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
วอแรนต์ รุ่นที่ 4 จัดสรรให้ในสัดส่วน 1 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอแรนต์ อายุ 1 ปี ราคาแปลงสภาพ 5 บาท วอแรนต์ รุ่นที่ 5 จัดสรรในสัดส่วน 1 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอแรนต์ อายุ 2 ปี ราคาแปลงสภาพ 7.50 บาท และวอแรนต์ รุ่นที่ 6 จัดสรรในสัดส่วน 1 หุ้นใหม่ต่อ 1 วอแรนต์ อายุ 3 ปี ราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 7.50 บาท
ตลาดหลักทรัพย์อนุมัติให้บริษัทจดทะเบียนออกวอแรนต์ได้ เมื่อประมาณปี 2532 โดยธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด หรือ BBC เป็นบริษัทจดทะเบียนแห่งแรกที่ออกวอแรนต์ อายุ 3 ปี แต่วอแรนต์ BBC ตายอย่างสงบ เพราะเมื่อหมดอายุ เพราะไม่มีการนำไปแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ เนื่องจากราคาหุ้น BBC ที่ซื้อขายบนกระดาน ราคาต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ
นับแต่ BBC-W1 บริษัทจดทะเบียนทยอยออกวอแรนต์ ตามมากันนับร้อยบริษัท บางบริษัทออกมาเกือบ 10 รุ่น เช่น BTS โดยมีวอแรนต์รวมแล้วนับร้อยๆ ชุด ซึ่งช่วงแรก นักลงทุนแห่เก็งกำไรวอแรนต์กันอย่างคึกคัก แต่วอแรนต์หมดความนิยม เพราะนักเก็งกำไรเสียหายกันจนเข็ด
เจตนารมณ์ของวอแรนต์นั้นดีมาก เพราะเป็นเครื่องมือในการวางแผนการเงิน โดยอนาคตหากบริษัทจดทะเบียนต้องการระดมทุน จะออกวอแรนต์ และกำหนดเรียกชำระการเพิ่มทุนช่วงที่วอแรนต์หมดอายุ โดยนักลงทุนที่ถือวอแรนต์นำมาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ
แต่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่แปลงเจตนารมณ์ที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ และนำวอแรนต์ มาเป็นเครื่องมือในการสร้างราคาหุ้น หรือเป็นเครื่องมือในการหาเงินของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน โดยออกวอแรนต์เป็นว่าเล่น ไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น
นอกจากนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้รับจัดวอแรนต์ตามสิทธิ ยังทยอยขายวอแรนต์ออก กำเงินสดใส่กระเป๋า โดยไม่ต้องกลัวจะเสียสัดส่วนการถือครองหุ้น เพราะรู้ดีว่า สุดท้ายนักลงทุนรายย่อยจะไม่นำวอแรนต์ไปแปลงสภาพ เนื่องจากราคาหุ้นตัวแม่ต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ
กว่า 30 ปีแล้วที่วอแรนต์ ถูกใช้เป็นเครื่องจักรสังหารนักลงทุนรายย่อย กลายเป็นกลไกในการสร้างราคาหุ้น และเป็นช่องทางการโกยเงินของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน
วอแรนต์ได้เปลี่ยนตลาดหุ้น เป็นห้องเชือดแมลงเม่า โดยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ทั้งอดีตและปัจจุบัน ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่ตระหนักในความเสียหายของประชาชนผู้ลงทุน
การออกวอแรนต์ของ BANPU และ BTS รวดเดียว 3 ชุด แต่ไม่อาจกระตุ้นราคาหุ้นได้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนผู้ลงทุนส่วนใหญ่รู้ทันลูกเล่นบริษัทจดทะเบียน รู้ถึงอันตรายการเก็งกำไรวอแรนต์แล้ว และไม่ตามแห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นทั้ง 2 ตัว
แต่ทำไมจนบัดนี้ผู้บริหาร ก.ล.ต. และผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่มีใครเห็นถึงภัยของวอแรนต์
และทำไมไม่มีใครลุกขึ้นทำลายวงจรอุบาทว์ของวอแรนต์ ทั้งที่เป็นอาวุธร้ายของบริษัทจดทะเบียนในการปล้นเงินนักลงทุน