นายอมรเทพ จาวะลา ผูัช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ซีไอเอ็มบีได้ปรับอัตราการเติบโตของจีดีพีลงเหลือ 1.3% จากเดิม 1.9% หลังจากระบาดของโควิด-19 มีความยืดเยื้อ ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนจะเป็นการส่งออกที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกโดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตที่ 15% และปีหน้าเติบโตที่ 10% ขณะที่คาดการณ์จีดีพีปี 2565 ลดลงเหลือ 4.2% จาก 5.1% รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิของภาครัฐที่ออกมา อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นอย่างช้าๆ และมีความไม่เท่าเทียมระหว่างภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาส 4 สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ตัวเลขการระบาดลดลง ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา ทำให้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้ และทำให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าแล้ว ยังเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยงเสริมเข้ามา ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่นิ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายที่ซึม รวมถึงภาวะการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันจากภาคการผลิตที่ฟื้นตัวจากการส่งออก ขณะที่ภาคบริการยังได้รบผลกระทบจากการท่องเที่ยว ขณะที่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทวีความกดดันขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดหรือความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ต้องมีการบริหารจัดการภายใต้การกลายพันธุ์ของไวรัส
อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็วกว่าที่คาด หากมี 4 ปัจจัยเร่ง ได้แก่ สร้างความเชื่อมั่น หากมีการเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว ควบคู่ไปกับเอกชนเข้าถึงวัคซีนทางเลือกรวดเร็ว คนจะกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง ฟื้นแรงงานภาคเกษตร หลังปิดกิจกรรมเศรษฐกิจ คนย้ายถิ่นฐานกลับบ้าน หากเร่งการฟื้นตัวของแรงงานกลุ่มนี้โดยเสริมการจ้างงานในชนบทให้สร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมได้ จะยิ่งเป็นแรงหนุนในการเติบโตอย่างยั่งยืน การเร่งเตรียมแผนรับนักท่องเที่ยวปีหน้า โดยทำ Bubble Tourism กับต่างประเทศเพื่อลดการกักตัวสำหรับผู้ได้รับวัคซีน เพื่อให้สามารถมีรายได้การท่องเที่ยวเป็นตัวหลักฟื้นเศรษฐกิจได้ และเร่งการใช้จ่ายภาครัฐให้ตรงจุด บรรเทาปัญหาแรงงานด้วยการเร่งประกันสังคมชดเชยรายได้ ดูแล SME ให้สามารถจ่ายเงินเดือนพนักงาน มีค่าชดเชยรายได้ที่หาย หรือเครดิตเงินคืนภาษีในปีต่อๆ ไป พร้อมเร่งอัดฉีด Soft Loan เสริมสภาพคล่องไม่ให้ธุรกิจต้องปิดตัว หากรัฐกังวลหนี้ชนเพดานให้หาทางเพิ่มรายได้ เช่น ปล่อยเช่าทรัพย์สิน หรือใช้ตลาดทุนในการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจบางส่วน แล้วพอเศรษฐกิจฟื้นมีรายได้ค่อยมาซื้อคืน
"มาตรการการคลังการเงินที่ออกมาจะเป็นการซื้อเวลาให้เราเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุดจนกระทั่งทำให้ยอดผู้ป่วยลดลง การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขไม่ล่ม ไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหากเราสามารถปรับสมดุลตรงนี้ได้ ความเชื่อมั่นกลับมา เศรษฐกิจก็จะเริ่มขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะมาตรการการคลังที่จะเป็นหลักอยู่ ต้องพยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อหาคนที่ได้รับผลกระทบแรงๆ และเยียวยาได้ถูกจุด เช่นเดียวกับภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่จะทำให้เราเรียนรู้ถึงข้อดี ข้อบกพร่องที่จะนำมาปรับปรุงได้ต่อไปก็จะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่กลับมา แม้จะไม่เร็วนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และนำไปสู่การเติบโตที่ดีขึ้นในปีหน้าได้ ขณะที่มาตรการทางการเงินทั้งเงินกู้ซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ จะต้องเร่งผลักดันให้ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รอดไปจนกว่ากิจกรรมต่างๆจะกลับมา ในทางกลับกันกรณีเลวร้ายสถานการณ์ในไตรมาส 4 ไม่ดีขึ้นหรือมีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 1%ได้"