xs
xsm
sm
md
lg

3 ส.อสังหาฯ แจงมาตรการผ่อนคลายปิดแคมป์ฯ ลดผลกระทบเยียวยา 1.2 หมื่นล้าน แนะตรวจเข้มแทนปิดยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามสมาคมอสังหาฯ ทำหนังสือแจงผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน พร้อมประสานสภาหอการค้าไทย นำข้อเสนอผ่อนคลายกับรัฐบาล แจงความเสียหายเป็นวงกว้าง ค่าแรงงานคนงาน เงินเดือน ค่าเช่าที่ดิน ดอกเบี้ยเงินกู้ เบี้ยปรับส่งมอบล้าช้า ความเสียหายในส่วนนี้ 12,000 ล้านบาทต่อเดือน หวั่นรัฐมีภาระเยียวยาหนัก ด้าน "สืบวงษ์" ประธานแพทโก้กรุ๊ป แนะใช้วิธีตรวจเข้มแทนปิดยาว คัดคนดี คนป่วยออกจากกัน แคมป์ไหนผ่าน ได้รับไลเซนส์ผ่านการตรวจเชื้อ ก่อสร้างเดินหน้าต่อ ธุรกิจไม่เสียหาย ซัปพลายเชนมีรายได้ ค่ายแสนสิริเตรียมแผม catch up หลังปลดล็อก 30 วันเร่งก่อสร้างได้ทัน มั่นใจภาพรวมไม่กระทบธุรกิจ ด้าน ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน ร่อนหนังสือถึง ศปก.ศบค. เคลียร์สร้างบ้าน ไม่อยู่ในแปลงจัดสรร

สืบเนื่องจาก มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปิดสถานที่ก่อสร้างและที่พักคนงานเป็นเวลา 30 วัน จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ กรรมการสมาคมฯ จึงได้มีการประชุมฉุกเฉินเมื่อเย็นวันจันทร์ที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้ไขสถานการณ์ และได้หารือร่วมกับสมาคมอาคารชุดไทยและสมาคม อสังหาริมทรัพย์ไทย

โดยทั้ง 3 นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร นายกสมาคมอาคารชุดไทย และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ข้อสรุปตามเอกสาร เบื้องต้นสมาคมฯ ได้สื่อสารผ่านสื่อมวลชนหลายสำนักเพื่อให้ภาครัฐทราบถึงความเดือดร้อน และให้เร่งทบทวนมาตรการ นอกจากนั้น ยังได้ประสานไปยังสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำข้อเสนอแนะของสมาคมฯ เข้าหารือกับรัฐบาล ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการก่อสร้างต่อได้เร็วที่สุด จึงแจ้งมาเพื่อให้ท่านสมาชิกได้ทราบ

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ จะก่อให้เกิดความเสียหายไปในวงกว้าง ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรง เช่น ค่าแรงคนงาน เงินเดือนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ค่าเช่าที่ดิน ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งประเมินได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายทางอ้อม เช่น เบี้ยปรับและดอกเบี้ยในการส่งมอบงานล่าช้า ความเสียหายที่เกิดจากการยกเลิกสัญญา ความเสียหาต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งประเมินได้ไม่ต่ำกว่าอีก 6,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำ 12,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะต้องเป็นภาระกับภาครัฐที่ต้องเยียวยาชดเชย

ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล
ประธานแพทโก้กรุ๊ป แนะใช้วิธีตรวจเข้มแทนปิดยาว

ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร แพทโก้กรุ๊ป เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลในการปิดแคมป์คนงาน เพื่อป้องกันเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ปิด 30 วัน นานเกินไป ขอเสนอทางออก โดยปิดแคมป์คนงานแค่ 7 วัน แทน 30 วัน แล้วเร่งตรวจโควิด-19 กับคนงานทุกคน เพื่อแยกผู้ป่วยออก และหากแคมป์คนงานใดตรวจไม่พบเชื้อเปิดให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ โดยตรวจซ้ำทุก 7 วัน เป็นเวลา 2 เดือน ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถตรวจพบเชื้อภายใน 7 วัน และหลังจากติดเชื้อ กรณีมีผู้ป่วยก็ให้แยกออก รวมถึงคนงานที่อยู่ใกล้ชิดให้หยุด 14 วัน ก็จะเห็นผลในระยะถัดไปเช่นกัน ส่วนคนงานที่ไม่เป็นหรือไม่มีโอกาสจะติดเชื้อจะทำให้เราสามารถแยกแยะแรงงานที่ปลอดภัย เก็บคนดี ออกจากคนป่วยได้เช่นกัน ทำให้ทุกคนไม่เสี่ยง และเป็นวิธีจูงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากปิดแคมป์ยาวอาจทำให้เกิดระบาดหนักในแคมป์คนงาน การเปิดใหม่หลังจาก 30 วันก็จะทำไม่ได้ เพราะจะไปทำให้แพร่เชื้อในวงกว้าง

"ถ้าผ่านไป 7 วันแล้ว จะมาตรวจซ้ำ ตรวจถี่ๆ ก็ได้ ถ้าเราทำแบบนี้แคมป์คนงานไหนครบ 7 วันแล้วตรวจไม่เจอน่าจะเหมือนได้รับการรับรอง หรือมีไลเซนส์ในเรื่องการตรวจสอบหาเชื้อแล้ว ธุรกิจหรือการก่อสร้าง หรือคนส่วนใหญ่ในแคมป์ก่อสร้างกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เป็นโควิด-19 ไซต์งานนั้นสามารถเดินหน้าต่อได้ ความเสียหายจะได้ไม่ต้องเกิดเยอะ ไม่ต้องเอางบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นภาษีประชาชนมาดูแลอีก ซึ่งการปิดแคมป์คนงานที่นานถึง 1 เดือน จะสร้างความเสียหายมากกว่า มีทั้งเรื่องการโอนให้ลูกค้า ค่าปรับ ดอกเบี้ยต่างๆ ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ในทางกลับกัน หากเกิน 7 วัน ตรงจะไม่ไหว และหากลากไปจนครบ 30 วัน เกิดติดกันมากขึ้น จะเสี่ยงที่จะเปิดไม่ได้"

ดังนั้น วิธีการที่เสนอในเรื่องการคัดกรองจึงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในสถานการณ์แบบนี้ เพื่อคัดคนสุขภาพดีออกมา คนไม่สบายก็นำออกไปดูแล หรือถ้าไซต์งานไหนติดเกิน 50% ก็อาจมาพิจารณาในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือไม่ โดยมีหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันป้องกันและบริหารจัด

ดร.สืบวงษ์ ยังกล่าวด้วยความเป็นห่วงเรื่องห่วงโซ่อุปทาน หรือซัปพลายเชน เนื่องจากทุกอย่างชะงักไป เช่น เสาเข็ม วัสดุก่อสร้างต่างๆ สายไฟฟ้า ล้วนไม่สามารถเข้าไซต์ก่อสร้างได้ ทำให้กลุ่มซัปพลายเชน ยอดขายจะหายไปเป็นเดือนเช่นกัน รวมถึงเรื่องการซ่อมแซมถนนต่างๆ หากเกิดน้ำท่วมขึ้นมา จะหาคนงานที่ไหนมาสร้างหรือซ่อมได้แค่ไหน

นายเศรษฐา  ทวีสิน
แสนสิริมั่นใจหลังปลดล็อก 30 วัน จะ catch up ก่อสร้างได้ทัน

นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) กล่าวว่า แสนสิริพร้อมปฏิบัติตามมาตรการรัฐ โดยให้ความร่วมมือปิดแคมป์งานก่อสร้าง 30 วัน รวมทั้งออกแนวทางส่งเสริมด้านความปลอดภัยในแคมป์ก่อสร้างอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สำหรับแสนสิริ ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดแคมป์ เนื่องจากบริษัท มีการวางแผนการบริหารงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รองรับทุกสถานการณ์ไว้แล้ว ปัจจุบัน บริษัทมีที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่-พร้อมโอนทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง มูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท มีโครงการรองรับทุกระดับราคากว่า 57 โครงการ

“แสนสิริ สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยให้ลูกค้าได้ตรงเวลา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการโอนและรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 เนื่องจากที่อยู่อาศัยที่ต้องส่งมอบได้สร้างเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และไม่กระทบต่อภาพรวมในปีนี้ เนื่องจาก แสนสิริได้เตรียมทำแผน catch up (ตามทัน) งานก่อสร้างหลังกลับมาเริ่มก่อสร้างได้ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทมียอดรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกและแบ็กล็อกที่ Secure เป้ารายได้ในปีนี้ไปแล้วถึง 78% เหลือที่ต้องทำอีกเพียง 22% ในครึ่งปีหลัง รวมถึงยอดโอนในช่วงครึ่งปีแรกที่ทำไปได้แล้วถึง 14,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 50% จากเป้าหมายยอดโอนที่วางไว้ในปีนี้ 31,000 ล้านบาท"

นายวรวุฒิ กาญจนกูล
“ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน” ร่อนหนังสือถึง ศปก.ศบค.เคลียร์สร้างบ้าน

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวภายหลังได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เพื่อขอทราบความชัดเจนในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยมิใช่โครงการจัดสรร ให้สามารถดำเนินการสร้างต่อได้

“นับตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและตีความไม่ตรงกันทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าพนักงานท้องถิ่น รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ทำให้เกิดข้อโต้แย้งที่ยังไม่มีข้อสรุป” นายวรวุฒิ กล่าว

ดังนั้น สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านบนที่ดินของประชาชน ที่ปัจจุบันมีงานก่อสร้างบ้านพักอาศัยสร้างเอง กระจายอยู่ทั่วในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นจำนวนหลายพันหลังต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัยขนาดเล็ก มีแรงงานก่อสร้างเป็นหลักสิบคน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้ อีกทั้งสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีมาตรการในการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี ซึ่งจากที่ผ่านมาพบว่าไซต์งานก่อสร้างของสมาชิกสมาคมฯ ยังไม่มีที่ใดติดเชื้อโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น