ธปท.ระบุแผนการผลักดัน FX ecosystem ใหม่ เปิดช่องให้ลงทุนในต่างประเทศได้ ไตรมาสสุดท้ายปี 63 ถึงเดือน พ.ค.64 คนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 17.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนค่าบาทอ่อนค่าเป็นไปตามภูมิภาค เงินทุนตลาดหุ้นมีไหลออกบ้าง ส่วนตลาดตราสารไหลเข้าสุทธิ ธปท.จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นางชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และนางภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าแผนการผลักดัน FX ecosystem ใหม่ว่า ธปท.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มไปในทางประสบความสำเร็จ ซึ่งบางเรื่องต้องใช้เวลา และมีการปรับปรุงแก้ไขตามไปด้วย
ส่วนค่าบาทอ่อนค่าเป็นไปตามภูมิภาค ที่เราต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ขณะนี้การท่องเที่ยวยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ รวมทั้งตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในไทยยังมีอย่างต่อเนื่องทำให้นักลงทุนอาจจะมีความกังวลใจ ด้านเงินทุนตลาดหุ้นมีไหลออกบ้าง ส่วนตลาดตราสารไหลเข้าสุทธิ ธปท.จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
1.ผลสำเร็จของนโยบายที่ดำเนินการแล้ว
1.1 การปรับเกณฑ์บัญชี FCD ให้สะดวกคล้ายบัญชีเงินบาท
เพื่อส่งเสริมให้บัญชี FCD เป็นต้นทางสำหรับการต่อยอดการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศและการบริหารความเสี่ยงของผู้ประกอบการได้ดีขึ้น โดยผ่อนคลายเกณฑ์ดังนี้ 1) ยกเลิกการแยกประเภทบัญชี 2) คนไทยสามารถซื้อ เงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีได้เสรีโดยไม่จำกัดจำนวน 3) การโอนระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยในประเทศทำได้เสรีโดยไม่ต้องแสดงเอกสาร
- การใช้บัญชี FCD ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนบัญชีและผู้ใช้บริการ โดยปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากประมาณ 101.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (เดือน ม.ค.63 ถึงเดือน พ.ย.63) เป็น 140.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (เดือน ธ.ค.63 ถึงเดือน เม.ย.64) ซึ่งเป็นผลจากหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายและค่าธรรมเนียมที่ลดลง โดยธนาคารหลายแห่งได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับบัญชี FCD ภายในธนาคารเดียวกัน
- ผู้ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ และกระจายไปในทุกกลุ่ม โดยจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดากว่าร้อยละ 60 ที่ทำเพื่อซื้อขายทองคำเป็นสกุลดอลลาร์ สรอ. ขณะที่กลุ่มนิติบุคคลมีธุรกรรมการโอนระหว่างกันเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และยานยนต์ โดยสกุลเงินที่นิยมใช้สูงสุด ได้แก่ เงินดอลลาร์ สรอ. เงินหยวน เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน
1.2. ปรับเกณฑ์และกระบวนการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ง่ายและสะดวกขึ้น
โดย
1) เพิ่มวงเงินลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ.ต่อปี
2) ยกเลิกการจัดสรรวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันภายใต้ ก.ล.ต. และยกเลิกการจำกัดวงเงินของการลงทุนผ่านตัวแทน
3) ขยายขอบเขตสินทรัพย์ FX ที่สามารถซื้อขายในประเทศ ให้รวมถึงตราสารทางการเงินทุกประเภท และการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.
- เกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยสนับสนุนให้การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยนับจากไตรมาสสุดท้ายปี 63 ถึงเดือน พ.ค.64 คนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 17.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่อปีเพียง 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และค่าสูงสุดต่อปีที่ 10 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากภาวะตลาดที่เอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศด้วย ส่งผลให้ความ “ติดถิ่น” ในการลงทุนของคนไทยปรับลดลง โดยดัชนี Home-Bias ไทยปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 0.93 จากระดับ 0.95 ที่เป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการกระจายการลงทุนที่ดีขึ้น
- การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการกระจายการลงทุนของบุคคลทั่วไปเป็นหลัก โดยจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยที่บริหารการลงทุนเองปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 15,660 ราย เป็น 34,897 ราย ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มช่องทางและรูปแบบการลงทุนใหม่ของผู้ให้บริการ ระยะถัดไป ทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศจะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศรายตัวด้วยต้นทุนต่ำ การซื้อขายทองคำเป็นดอลลาร์ สรอ. รวมถึงการซื้อขายตราสารแสดงสิทธิ (Depositary Receipt : DR) อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศ
1.3. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Investor Registration : BIR)
เพื่อยกระดับการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการกับนักลงทุนต่างชาติก่อน และจะดำเนินการกับนักลงทุนในประเทศต่อไป
- ธปท. ได้เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มลงทะเบียนแล้ว เมื่อเดือน เม.ย.64 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ไทย โดยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.65 นักลงทุนต่างชาติต้องผ่านการลงทะเบียนก่อนจึงจะสามารถซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ดีขึ้นในการติดตามพฤติกรรมนักลงทุนได้ทันการณ์ รวมถึงการดำเนินนโยบายและการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้วย
1.4. โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC)
เพื่อผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศ (NR corporate) ที่มีภาระรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในไทยเข้ามาทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขนาดและความลึกของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในไทย (onshore market)
- ตั้งแต่เดือน ม.ค.64 ถึงเดือน มิ.ย.64 นิติบุคคลต่างประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการ NRQC จำนวน 27 ราย จากหลายอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี ยานยนต์ และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีธุรกรรมของ NRQC กับสถาบันการเงินไทยแล้วประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
2.การผลักดัน FX ecosystem ระยะถัดไป
การปรับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulatory Framework) เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินได้ดีขึ้น มีแนวทางเบื้องต้นดังนี้ (1) ลดข้อจำกัดการใช้ FX ทั้งในและต่างประเทศ (2) ผู้ที่มีความเสี่ยง FX สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้น (3) ยกเว้นการแสดงเอกสารสำหรับธุรกรรมที่ทำเป็นปกติ โดยได้หารือกับ stakeholders และอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2564