หุ้นบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถูกถล่มขายทันทีที่เปิดการซื้อขายในวันพุธที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังบริษัทฯ ประกาศเพิ่มทุน นำหุ้นใหม่เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม จนราคาทรุดลงหนัก และฉุดให้หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าร่วงตามยกแผง
RATCH ประกาศผลการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยมติเพิ่มทุน จำนวน 769.23 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 10 บาท จัดสรรขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1.885 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่
และจะกำหนดราคาขายจากราคาถัวเฉลี่ยหุ้นที่ซื้อขาย 7-15 วันทำการ ก่อนหน้าวันที่กำหนดราคาเสนอขาย และมีส่วนลดอีก 25%
ข่าวการเพิ่มทุนแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ ค่ำวันที่ 22 มิถุนายน และเมื่อหุ้นเปิดการซื้อขายในวันที่ 23 มิถุนายน นักลงทุนพากันเทขายหุ้นทันที ทำให้ราคาลดฮวบ
ระหว่างชั่วโมงซื้อขายราคาหุ้นลงไปต่ำสุดที่ 45.75 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นมาปิดที่ 47 บาท ลดลง 4.75 บาท หรือลดลง 9.18% มูลค่าซื้อขาย 4,555.85 ล้านบาท
วัตถุประสงค์การเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
การเพิ่มทุนครั้งนี้ผู้ถือหุ้นมีปฏิกิริยาตอบรับในเชิงลบ และพากันเทขายหุ้นทิ้ง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ต้องการใส่เงินเพิ่มทุน
RATCH เป็นหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง อยู่ในความสนใจของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยมีค่าพี/อี เรโชประมาณ 10 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.64%
ผลประกอบการ RATCH เติบโตอย่างมั่นคง ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 5,963.28 ล้านบาท ปี 2563 กำไรสุทธิ 6,286.685 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 2,087.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,360.82 ล้านบาท
หุ้น RATCH จัดเป็นหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว เพราะกำไรเติบโตสม่ำเสมอ ราคาหุ้นมีความมั่นคง โดยในรอบ 12 เดือน เคลื่อนไหวในกรอบ 46-66 บาท นักลงทุนส่วนใหญ่ถือเพื่อหวังผลตอบแทนจากเงินปันผล
จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 38,126 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 54.99% ของทุนจดทะเบียน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 45% ของทุนจดทะเบียน
ผู้ถือหุ้นรายย่อย RATCH กำลังว้าวุ่น เพราะการประกาศเพิ่มทุนกลายเป็นข่าวร้ายที่ถล่มใส่ตัวหุ้นจนราคาดิ่งลงเกือบ 10% ในวันเดียว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยกับหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
การปรับฐานแรงครั้งนี้ไม่มีใครตั้งตัวทัน เนื่องจากไม่มีเบาะแสล่วงหน้าในการเพิ่มทุน
ผู้ที่ถือหุ้น RATCH ส่วนใหญ่วางแผนไว้แล้ว จะถือหุ้นลงทุนระยะยาว ไม่คิดจะขายหุ้น แต่การเพิ่มทุนกลายเป็นแรงกดดันให้ต้องตัดสินใจขาย เพราะถ้าถือหุ้นไว้ต่อไปจะต้องใส่เงินเพิ่มทุน
หากไม่เพิ่มทุน สละสิทธิการจองซื้อหุ้นใหม่ ราคาหุ้นที่ถือไว้จะปรับฐานราคาลงตามน้ำหนักการคำนวณสิทธิซื้อหุ้นใหม่ ทำให้เสียหายมากขึ้น
แต่ถ้าจะใช้สิทธิการเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนหนึ่งอาจไม่พร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มทุน เพราะเงินส่วนใหญ่จมไปกับการช้อนหุ้นจนเต็มพอร์ตกันหมดแล้ว
ราคาหุ้น RATCH ที่ดิ่งลงมาลึก ถ้าเป็นสถานการณ์ปกตินักลงทุนคงเตรียมหาจังหวะช้อนเก็บกันแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ มีตัวแปรการเพิ่มทุนกดดันอยู่ ใครช้อนหุ้นจะต้องเตรียมสำรองเงินสดเพื่อชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนด้วย
แรงจูงใจในการช้อนเก็บ RATCH จึงน้อยลง และยังสามารถรอคอยจังหวะซื้อได้ รอจนราคาหุ้นปรับฐานเสร็จสิ้นก่อนจึงช้อนเก็บ
แต่ใครจะบอกได้ว่าราคาในจุดใดถือเป็นจุดสิ้นสุดการปรับฐานของ RATCH