"ไอร่า แฟคตอริ่ง" เดินหน้าปรับกลยุทธ์ ขยายช่องทางการให้บริการด้านธุรกรรมสินเชื่อดิจิทัลแฟกตอริ่ง ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม Non Bank พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าด้วยการใช้ Big Data เปิดทาง SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องมากขึ้น เชื่อหากโควิด-19 คลี่คลาย หนุนธุรกิจฟื้นตัวอย่างโดดเด่น
นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้นำด้านการให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้าปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสอดรับกับเป้าหมายการก้าวสู่ผู้นำอันดับ 1 ด้านดิจิทัลแฟกตอริ่ง ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาแพลตฟอร์ม E-Factoring รองรับการรับซื้อเอกสารใบแจ้งหนี้ เอกสารวางบิลในรูปแบบออนไลน์ โดยระยะแรกที่ผู้ใช้บริการที่มาจากโครงการความร่วมมือกับ Sponsor ไม่จำเป็นต้องจัดส่งเอกสารหรือเดินทางเข้ามาสาขา เพียงเข้าระบบ E-Factoring เพื่อทำรายการเลือกบิลที่มีการรับสินค้าแล้วโดย Sponsor พร้อมแสดงความประสงค์จะขอรับเงินกู้ในรูปแบบสินเชื่อแฟกตอริ่ง ก็จะได้รับเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งสะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจวิถีใหม่ (New Normal) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและนำเงินจากการขายเอกสารการค้าไปเป็นทุนหมุนเวียนเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจต่อได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อเพิ่มการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร โดยเป็นการให้บริการสินเชื่อหมุนเวียนแก่ Supply Chain ทั้งวงจร สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้บริการสินเชื่อกับ AF อยู่แล้วในปัจจุบัน ตลอดจนให้บริการสินเชื่อโครงการ (Project Finance) สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงาน และการให้บริการสินเชื่อระยะยาวสำหรับขยายกิจการ พร้อมทั้งยังมีการเสริมระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management : CRM) ที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเดิมที่มีอยู่และขยายฐานลูกค้าใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับการให้บริการสินเชื่อ Supply Chain แก่คู่ค้าผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการสนับสนุนสินเชื่อประเภทนี้ได้ภายในปี 2564 นี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นกับพันธมิตรและพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ระบบประมวลผล (AI) ร่วมกับข้อมูล Big Data ในการวิเคราะห์และประเมินผลเพื่ออนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Big Data มาใช้ร่วมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ต้องการใช้บริการสินเชื่อกับ AF ในอนาคต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวอีกว่า ในปี 2564 คาดว่ามูลค่าการปล่อยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แต่ทั้งนี้หากภาครัฐบาลได้เร่งกระจายการฉีดวัคซีนได้ตามแผน 70% ของประชากรทั้งหมดในสิ้นปี 2564 ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอย คำสั่งซื้อสินค้า และการผลิตสินค้าต่างๆ กลับมาฟื้นตัว
"บริษัทฯ ยืนยันความแข็งแกร่งด้านแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามารองรับการขยายตัวในอนาคต ด้วยการเป็นบริษัทฯ ในกลุ่มของ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งสามารถเข้ามาสนับสนุนแหล่งเงินทุนได้ ตลอดจนมีกระบวนการบริหารจัดการลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเดินหน้าสู่ผู้นำการให้บริการดิจิทัลแฟกตอริ่งในกลุ่ม Non-Bank ในอีก 2 ปีข้างหน้า" นายอัครวิทย์ กล่าว