xs
xsm
sm
md
lg

วัคซีนโควิด-19 เพิ่มความเชื่อมั่น หนุนหุ้นไทยพลิกผันสู่แดนบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหุ้นกลับมาเคลื่อนไหวแดนบวกหลังภาครัฐเริ่มปูพรมฉีดวัคซีน ส่งผลให้ต่างประเทศเริ่มเชื่อมั่น หนุนฟันด์โฟลว์ส่งสัญญาณไหลเข้า อีกทั้งนานาประเทศเริ่มฟื้นตัวกระตุ้นหุ้นขนาดใหญ่กลับมาโดดเด่น คาดดัชนียังทะยานขึ้นต่อ แต่ใกล้ชนเป้าหมาย 1,670 จุดเต็มที ดันครึ่งปีหลังไม่หวือหวา แต่ปีหน้าหากรัฐใช้มาตรการอัดฉีดมีประสิทธิภาพ ลุ้นเติบโตโดดเด่น

หลังจากถูกการแพร่ระบาดลอกใหม่ในประเทศของโควิด-19 กดดันตั้งแต่ช่วงเมษายน จากยอดผู้ติดเชื้อปัจจุบันในแต่ละวันไม่เคยต่ำกว่า 2,000 ราย แต่ตอนนี้ Set Index กลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวกอีกครั้ง และหลายฝ่ายเชื่อว่ารอบนี้มีโอกาสทดสอบถึงระดับ 1,700 จุด จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยพบว่าตั้งแต่ต้นปีดัชนีปรับตัวขึ้นแล้ว 12.92%

มีรายงานว่าในเดือนพฤษภาคม หลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่าดัชนีเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจการเงิน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 109,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 5 เดือนแรกมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,859 ล้านบาท ส่วนผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รวม 66,870 ล้านบาท ขณะที่ผู้ลงทุนในประเทศมีสถานะเป็นผู้ซื้อสุทธิ 101,236 ล้านบาท

ด้าน Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน พ.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 19.2 เท่า และ 29.65 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า และ 26.8 เท่าตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 2.42% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 2.25%

เหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวดีขึ้น เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นมาก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่กำไรแปรผันตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 1/64 เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แต่หากไม่รวมกลุ่มดังกล่าวพบว่าบริษัทจดทะเบียนไทยรายงานกำไรสุทธิอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว

ไม่เพียงเท่านี้ บรรยากาศซื้อขายในช่วงนี้ยังเป็นบวกจากการฟื้นตัวของกระแสข่าวการเตรียมเปิดเมือง และกลุ่มท่องเที่ยวที่ได้รับประโยชน์จากความคืบหน้าการฉีดวัคซีน โดยมีแรงซื้อหุ้น Domestic Play ซึ่งเป็นธีมเปิดเมือง นำโดย AOT และกลุ่ม Commodity นำโดย BANPU หนุนตลาดด้านราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในระดับสูง ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงาน รวมทั้งการปรับขึ้นของหุ้นธนาคารหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนปรนการจ่ายปันผลได้

“ชัยยศ จิวางกูร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ว่า ดัชนีน่าจะแกว่งตัวระดับ 1,615-1,635 จุด โดยยังคงได้ปัจจัยบวกความคาดหวังการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจใหม่หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย รวมถึงคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ แม้ว่า CPI จะเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ผันผวน รวมถึงแรงขายตามเทคนิคเข้าใกล้ Overbought จะกดดันดัชนีต่อไป

โดยสถานการณ์ในต่างประเทศ ล่าสุด (11 มิ.ย.) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนสหรัฐฯพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 136.9 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค.2564 ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีการขยายตัว หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง และ จากการที่สหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง เห็นได้จากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนพุ่งขึ้น โดยสินทรัพย์ของภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้น 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1/64 ขณะที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่งบดุลเงินสด บัญชีเช็ค และบัญชีเงินฝากของภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้นรวมกันราว 8.50 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลออกมาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 และช่วยเหลือภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หนี้สินของภาคครัวเรือนสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 6.5% ในไตรมาส 1/64 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 ที่มีการขยายตัว 6.2% เนื่องจากการปล่อยกู้เพื่อการจำนองปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 31 มี.ค. ภาคครัวเรือนมีหนี้เงินกู้จำนองบ้านอยู่ที่ 11 ล้านล้านดอลลาร์

“กิติชาญ ศิริสุขอาชา” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยขณะนี้กองทุนในประเทศซื้อขายสลับกับนักลงทุนต่างประเทศ โดยการที่นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาซื้อทำให้หุ้นขนาดใหญ่ปรับขึ้น และมองว่าหุ้นวัฏจักรเศรษฐกิจจะกลับมาในช่วงที่เหลือของเดือน มิ.ย.นี้ ได้แก่ ธนาคาร พลังงาน และค้าปลีก

ขณะที่ประเด็นเรื่องวัคซีโควิด-19 ในประเทศก็ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด รัฐบาลได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส รวมทั้งคาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของประชากรและจะกลับมาเปิดประเทศได้เต็มรูปแบบในปี 2565

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ล่าสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย.2564 เงินฝากเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 14.87 ล้านล้านบาท และหากเทียบกับต้นปีเงินฝากเพิ่มขึ้นมาถึง 1.7% ขณะที่สินเชื่อโตเพียง 1% ทำให้สุทธิแล้วเงินฝากเติบโตมาก ทำให้สภาพคล่องในระบบธนาคารค่อนข้างสูง โดย LDR (สัดส่วนสินเชื่อต่อยอดเงินฝาก) อยู่ที่ประมาณ 4.62 ล้านล้านบาท ส่วน LCR (อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต) ก็มีสัดส่วนประมาณ 185% เรียกว่ายังล้นระบบ เพราะคนยังค่อนข้างระวังเรื่องความเสี่ยง

ปัจจุบันสัดส่วนเงินรับฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันต่อจำนวนเงินรับฝากรวม (CASA) อยู่ที่เกือบ 70% แล้ว จากที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 60% ในช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ TD (เงินฝากประจำ) ลดลง ซึ่งจะเห็นได้ว่า คนนำเงินมาฝากแบบสามารถถอนเมื่อใดก็ได้มากขึ้น สะท้อนว่าต้องการเน้นสภาพคล่อง จึงทำให้เงินฝากรายย่อยไปกองรวมอยู่ที่เงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ปัจจุบันได้ดอกเบี้ยต่ำแค่ 0.50% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าเงินฝากของบุคคลธรรมดาที่เกิน 1 ล้านบาท ก็เติบโตขึ้นมาก จากช่วงก่อนโควิด-19 ที่ทั้งระบบอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท แต่ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.37 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% ขณะที่เงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 2.76 ล้านล้านบาท เพิ่มมาอยู่ที่ 2.94 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% ภาพเหล่านี้สะท้อนว่าคนนำเงินออกจากตลาดทุน ตลาดหุ้น มาไว้ที่เงินฝากกันมากขึ้น และการที่ CASA เพิ่มขึ้นก็เป็นผลดีต่อระบบธนาคารที่ต้นทุนเงินฝากลดลง

ส่วนด้านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีรายงานว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้น ภาพรวมหนี้สินของบริษัทจดทะเบียนกว่า 600 บริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (debt to equity ratio : D/E) เพิ่มขึ้นโดยปี 2563 อยู่ที่ 28.95 ล้านบาท จากปี 2561 ที่ระดับ 2.57 เท่า ด้วยตัวเลขหนี้สินรวม 24.31 ล้านล้านบาท สวนทางกำไรสุทธิทั้งตลาดที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 2564 บริษัทจดทะเบียนมี D/E อยู่ที่ระดับ 2.73 เท่า ตัวเลขหนี้สินรวมที่ 29.28 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 258,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 232% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอัตรากำไรสุทธิเติบโต 9.50% จากการฟี้นตัวของหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันโลก

สาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นในตัวเลข D/E หนีไม่พ้น ผลกระทบการระบาโควิด-19 ซึ่งกดดันเศรษฐกิจชะลอ ทำให้รายได้ของบริษัทปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง ซึ่งจะเห็นภาระหนี้เพิ่มขึ้น และยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 อัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้น่ากังวลมากนัก เนื่องจากในปี 2563 หลายบริษัทมีการเพิ่มทุนทั้งธุรกิจโรงแรม สายการบิน และอสังหาฯ ซึ่งโดยปกติกลุ่มอสังหาฯ และโรงไฟฟ้าจะเป็น 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีหนี้สินสูง แต่ปัจจุบันยังสามารถควบคุมได้ เช่นเดียวกับกลุ่มสายการบินและโรงแรมที่หลายบริษัทมีการเพิ่มทุนต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่าจะมีหุ้น IPO เข้ามาระดมทุนอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ขณะที่กระแสตอบรับจากนักลงทุนคาดว่าจะยังดีต่อเนื่องจากช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีความพร้อมระดมทุนแล้ว 4 บริษัทคือ บมจ.มีนาทรานสปอร์ต (MENA) บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP) บมจ.เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว (SECURE) และ บมจ.เซนต์เมด (SMD) ซึ่งจะเข้าเทรดวันที่ 17 มิ.ย.2564 รวมถึงยังมีบริษัทที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) แล้วรออนุมัติอีก 19 บริษัท และคาดมีบริษัทยื่นไฟลิ่งเพิ่มอีก

โดยหุ้นที่เข้ามาระดมทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ จำนวน 14 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO (มาร์เกตแคป) มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเมินเอาไว้ที่เฉลี่ย 2.5 แสนล้านบาทต่อปี นั่นเพราะแม้ในประเทศจะพบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ได้ถูกกระทบอย่างรุนแรง (Hard Hit) ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนเริ่มปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดได้แล้วในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน จากการที่ประเทศไทยฉีดวัคซีนมากขึ้น ได้หนุนให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาตลาดทุนมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้น เพราะประเทศไทยมีโอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น หลายฝ่ายคาดว่า SET Index มีโอกาสเดินหน้าต่อ เนื่องจากช่วงที่เร่งฉีดวัคซีนหุ้นเมืองนอกมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ 3-5% ต่อเดือน

ทั้งนี้ พบว่าการเคลื่อนที่ออกจากบ้านไปซื้อของของประชากรเริ่มกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงต้นปี 2563 และน่าจะเห็นความต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นที่ทยอยออกมา เช่น มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ช่วยหนุนหุ้น Domestic หรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการ Reopening กลับมาคึกคักอีกครั้ง ดังนั้น หุ้น Domestic ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และยังขึ้นช้ากว่ากลุ่มจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นมากในช่วงนี้

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส จำกัด แสดงความเห็นว่า การที่รัฐบาลเร่งกระจายฉีดวัคซีนในท้องถิ่น และเร่งสร้างผลงานในปีนี้ก่อนเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมและตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือปีนี้ ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศเชื่อว่ายังไม่ถึงจุดที่ยุบสภา จึงไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่ปมความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ก่อนการเลือกตั้ง จึงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นไทย ดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,670จุดได้ตามเป้า และมีโอกาสปรับเพิ่มเป้าดัชนีได้ โดยยังต้องรอติดตามทิศทางกระแสเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะมีไหลเข้ามาเพิ่มต่อเนื่องจากช่วงนี้หรือไม่ และนโยบายการเงินของเฟดจะส่งสัญญาอย่างไรต่อหลังจากนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทย

ขณะที่ “วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยมีโอกาสแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากยังขาดปัจจัยใหม่เข้าหนุนตลาด ประกอบกับการติดตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนของรัฐบาล แม้ ศบค.รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ลดลงจากระดับ 3 พันคนต่อวันเหลือ 2 พันคนต่อวัน แต่ใน กทม.ยังมีคลัสเตอร์เฝ้าระวังใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ต่างจังหวัดบางแห่งยังพบคลัสเตอร์ใหม่เช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจัยหนุนในประเทศด้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งใน กทม.ซึ่งเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลเริ่ม 7 มิ.ย. และในต่างจังหวัดเร่งระดมฉีดวัคซีนมากขึ้น และการเร่งดำเนินการในส่วนของโมเดล Phuket Sandbox ซึ่งจะดีเดย์ 1 ก.ค. เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว และกรณีที่สหรัฐฯ แบ่งปันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามแผนแบ่งปันวัคซีนรวมทั้งสิ้น 80 ล้านโดสให้ทั่วโลกภายในสิ้นเดือน มิ.ย. รวมทั้งนางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์ที่เสนอโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสเข้าคำนวณดัชนี SET50 ในรอบครึ่งปีหลัง 2564 ได้แก่ STGT - IRPC - STA - KCE และหุ้นที่มีโอกาสเข้าคำนวณ SET100 ได้แก่ STGT - RCL - TTA - DCC - PSL - PTL - SYNEX - SINGER โดยคาดตลาดจะประกาศรายชื่อในช่วงกลางเดือน มิ.ย. และมีผลเริ่มใช้ 1 ก.ค.นี้

ภาพรวมในช่วงที่เหลือของครึ่งปีแรก 2564 หลายฝ่ายตั้งความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นั่นรวมถึงความต้องการให้รัฐบาลนำโครงการช้อปดีมีคืน หรือมาตรการลดหย่อนภาษีผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดากลับมาใช้กระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในระยะนี้ให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับความสามารถในการฉีดวัคซีนที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เนื่องจากเป็นมาตรการที่เห็นการตอบรับสูงจากช่วงที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นการใช้เงินลงทุนในเรื่องดังกล่าวน้อย เช่นเดียวกับโครงการอี-วอยเชอร์ ยิ่งใช้ยิ่งได้ที่มองว่าเป็นโครงการที่ดี ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากนี้ ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจหลังมีการเยียวยาไปมากในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังนี้คาดว่ายังเป็นช่วงขาขึ้น แต่จะไม่ร้อนแรงเท่ากับครึ่งปีแรก และคาดว่าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2564 ปิดที่ประมาณ 1,650 จุด ตามเป้าหมายเดิม เนื่องจากเป็นช่วงของการปฏิบัติหลังจากตลาดปรับตัวขึ้นจากต้นปีมาแล้วกว่า 10% จากความคาดหวังในเรื่องต่างๆ เช่น การเร่งจัดหาวัคซีน การฉีดวัคซีน ความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 และความหวังในเรื่องการเปิดประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคาดหวังเหล่านี้ทำให้ภาพรวมตลาดช่วงที่ผ่านมายังสามารถปรับตัวขึ้นได้แม้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่คลี่คลาย

สำหรับในปี 2565 หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมากกว่านี้ จากปัจจัยโควิด-19 คลี่คลาย และอาจมีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 รวมทั้งการเปิดประเทศที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยคาดว่าจะเป็นปีที่ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นไปเทียบเท่าปี 2561

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส จำกัด

“วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก




กำลังโหลดความคิดเห็น