ราคาหุ้นบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาตา กระตุ้นให้นักลงทุนตามแห่เข้าไปเก็งกำไร แต่การจุดพลุไล่ราคาหุ้นเกิดขึ้นเพียงวันเดียว ก่อนจะปิดฉากลง
หุ้น U เคลื่อนไหวระดับ 70-80 สตางค์มาพักใหญ่ การซื้อขายไม่คึกคักนัก แต่วันที่ 20 พฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายเริ่มหนาตาขึ้น พร้อมกับราคาหุ้นที่ขยับขึ้น
จนวันที่ 24 พฤษภาคม มีแรงซื้อโหมเข้ามา ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 1.14 บาท ในระหว่างชั่วโมงซื้อขาย ก่อนอ่อนตัวลงมาปิดที่ 1.02 บาท เพิ่มขึ้น 7 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 7.37% มูลค่าซื้อขาย 1,835.92 ล้านบาท
แต่วันที่ 25 พฤษภาคม หุ้น “U” ลดความร้อนแรง ราคาปรับตัวลงมาปิดที่ 93 สตางค์ ลดลง 9 สตางค์ หรือลดลง 8.82%
U เพิ่งปิดการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน และรายงานผลการเสนอขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 14,314.21 ล้านหุ้น ซึ่งเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 70 สตางค์ ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อทั้งหมด
และหุ้นบุริมสิทธิ จำนวน 8,150.65 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นบุริมสิทธิเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 70 สตางค์ ผู้ถือหุ้นจองซื้อทั้งหมด
การเพิ่มทุนครั้งนี้ U ระดมทุนได้ทั้งสิ้น 15,725.41 ล้านบาท
ราคาหุ้นที่ดีดตัวขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงอาจเกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุน โดยส่วนหนึ่งอาจมีแรงซื้อเข้ามากระตุ้นราคาหุ้นเพื่อจูงใจการเพิ่มทุน และเมื่อเพิ่มทุนระดับเงินได้ตามแผน อาจถือเป็นปัจจัยบวกที่นำไปสู่การจุดพลุเก็งกำไร
ต้องถือว่าผู้ถือหุ้นเดิมที่ใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุน “U” ใจกล้ามาก เพราะผลประกอบการบริษัทยังย่ำแย่ ปีที่ผ่านมา ขาดทุนสุทธิ 6,610.75 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 346.38 ล้านบาท โดยสถานการณ์ด้านผลประกอบการยังไม่ดีนัก เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โบรกเกอร์หลายแห่งได้ออกบทวิเคราะห์หุ้น U โดยไม่แนะนำให้ซื้อ เนื่องจากผลประกอบการยังขาดทุน
U เป็นหุ้นที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนมาหลายรอบ โดยเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK และเคยเข้ากลุ่มฟื้นฟู หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถูกพักการซื้อขายหลายปี ก่อนจะได้รับอนุมัติกลับเข้ามาซื้อขายใหม่ในปี 2546 โดยนายเสริมสิน สมะลาภา เป็นกรรมการผู้จัดการ
ราคาหุ้น N-PARK ซึ่งก่อนถูกพักการซื้อขายปิดที่ 20 สตางค์ เมื่อกลับมาซื้อขายใหม่ ถูกลากขึ้นไปเกือบ 10 บาท นักลงทุนรายย่อยแห่เก็งกำไร เพราะแรงกระตุ้นจากการที่บริษัทประกาศขยายการลงทุน ซื้อกิจการโรงแรมมากมายในต่างประเทศ โดยเพิ่มทุนสูบเงินจากนักลงทุนจำนวนมาก
แต่ผลประกอบการบริษัทย่ำแย่ตลอด ฉุดให้ราคาหุ้นทรุดลงจนเหลือไม่กี่สตางค์ ก่อนที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ของนายคีรี กาญจนพาสน์ จะเข้ามาครอบงำกิจการ โดยโอนทรัพย์สินเข้าซื้อหุ้นเพิ่ม ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น U
BTS ถือหุ้น U ในสัดส่วน 36.22% ของทุนจดทะเบียน ส่วนการดำเนินธุรกิจยังเป็นแนวทางเดิมกับผู้บริหาร N-PARK เดิม โดยมีการซื้อทรัพย์สินกิจการโรงแรมในต่างประเทศมากมาย จึงได้รับผลกระทบรุนแรงจาก “โควิด-19”
ผู้ถือหุ้นที่ใส่เงินเพิ่มทุนครั้งล่าสุดร่วมกันสมทบทุนเข้า U กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย จำนวน 22,492 ราย คงตัดสินใจดีแล้วที่จะฝากความหวังไว้กับ “คีรี กาญจนพาสน์”
ทุกคนคงมั่นใจว่า U จะไม่ปิดฉากซ้ำรอย N-PARK แต่หลายปีที่ผ่านมา หุ้น U ยังดูไม่ดี จนโบรกเกอร์ไม่แนะนำให้ลงทุน