xs
xsm
sm
md
lg

“ดีดี พร็อพเพอร์ตี้” คาดราคาบ้านหดตัวทั้งปี เผยโควิด-19 ทำพฤติกรรมเปลี่ยนดันดีมานด์เช่าพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กมลภัทร แสวงกิจ
"ดีดี พร็อพเพอร์ตี้" ระบุแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย กทม.ไตรมาสแรกปรับตัวลดลงคาดทั้งปียังไม่มีแววปรับเพิ่ม ชี้โอกาสดีผู้ซื้อที่มีความพร้อม คาดภายในตลาดปรับตัวลงต่อเนื่องหลังผู้ประกอบการชะลอแผนลงทุนใหม่หลังการมาของโควิด-19 ระลอก 3 เผยความต้องการซื้อเช่าเทียบปีต่อปียังขยายตัวดี 

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com ในเครือ PropertyGuru Group  กล่าวว่า แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสแรกปี 64 เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 63 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดปีนี้ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำทำให้เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม หากเทียบปีต่อปีความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งรูปแบบซื้อและการเช่าก่อนการระบาดในระลอกที่ 3 ของเชื้อไวรัส โควิด-19 พบว่ามีอัตราการเติบโตที่ดี

ขณะที่ในฝั่งของ ซัปพลายสะสมคาดว่าจะปรับตัวลดลงเช่นกันเนื่องจากผู้ประกอบการยังชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ ขณะที่ผู้ขายทั้งในส่วนของนักลงทุนและผู้พัฒนายังมีการชะลอการนำสินค้าออกมาขายเพื่อรอจังหวะเวลาให้ราคาปรับตัวดีกว่าในปัจจุบัน ส่วนสถานการณ์ของความต้องการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดการระบาดในระลอกที่ 3 ความต้องการซื้อและเช่าเกิดภาวะชะลอตัวในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อและเช่ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในเดือน พ.ค. และเมื่อเทียบความต้องการซื้อและความต้องการเช่าปีต่อปีอัตราความต้องการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยในปีนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนค่อนข้างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล

จากการจัดเก็บข้อมูลความต้องการซื้อและเช่าที่อยู่อาศัย พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส โดยดีมานด์และกำลังซื้อมีการปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคากลางเฉลี่ยล่าสุดพบว่าปรับตัวลดลง -4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงของราคาที่อยู่อาศัยต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 60 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วพบว่าราคาขายที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลงถึง -7%

ทั้งนี้ เมื่อแยกประเภทพบว่า ดัชนีราคาคอนโดและทาวน์เฮาส์มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ในขณะที่ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวยังทรงตัว โดยในส่วนของราคาคอนโดมีการปรับตัวลดลง -3% จากไตรมาสก่อนและปรับตัวลดลง -8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนราคาทาวน์เฮาส์ปรับลดลง -0.5% จากไตรมาสก่อน และลดลง -1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวค่อนข้างทรงตัวโดยมีการปรับตัวลดลงไม่ถึง 1%

สำหรับ พื้นที่กรุงเทพฯ ราคาที่อยู่อาศัยเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาสนี้ แบ่งออกเป็นทำเล คือ ทำเลย่านทวีวัฒนาซึ่งมีราคาเฉลี่ย 25,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน ที่อยู่อาศัยในย่านบางเขนราคาเฉลี่ย 50,000 บาทต่อ ตร.ม. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% ทำเลย่านตลิ่งชันมีราคาเฉลี่ย 43,000 บาทต่อ ตร.ม. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% ทำเลย่านสะพานสูงราคาเฉลี่ย 31,000 บาทต่อ ตร.ม. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% และทำเลย่านปทุมวันราคาขายเฉลี่ย 215,000 บาทต่อ ตร.ม.

ส่วนทำเลที่มีราคาปรับตัวลดลงมากที่สุด 5 ทำเล เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนประกอบด้วย ทำเลสัมพันธวงศ์ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 81,000 บาทต่อ ตร.ม. ลดลง -18% ทำเลป้อมปราบศัตรูพ่ายราคาขายเฉลี่ย 190,000 บาทต่อ ตร.ม. ลดลง -11% ทำเลบางบอนราคาขายเฉลี่ย 47,000 บาทต่อ ตร.ม. ลดลง -9% ทำเลภาษีเจริญมีราคาขายเฉลี่ย 65,000 บาทต่อ ตร.ม. และทำเลพระโขนง ราคาเฉลี่ย 97,000 บาทต่อ ตร.ม. ลดลง -6%


นางกมลภัทร กล่าวว่า สำหรับซัปพลายในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีซัปพลายเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ และผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือเริ่มนำสินค้าออกมาฝากขายกันมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไตรมาสแรกเริ่มมีสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 ในขณะที่อัตราการดูดซับสินค้าในตลาดยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมา ซัปพลายที่อยู่อาศัยทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของซัปพลายบ้านเดี่ยวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ทาวน์เฮาส์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 12% และคอนโดมิเนียมปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% โดยซัปพลายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มีระดับราคาอยู่ที่ 5-10 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 55% ขณะที่ซัปพลายที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 23% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ซัปพลายกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาทมีสัดส่วนอยู่ที่ 21%

อย่างไรก็ตาม ตลอด 1 ปีที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยส่งผลให้พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงและมีผลต่อการเลือกทำเลที่อยู่อาศัย โดย 5 ทำเลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปีหลังการระบาดของโควิด-19 คือทำเลย่านยานนาวา มีความสนใจซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 215% จากปีก่อนทำเลย่านธนบุรีมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 137% ทำเลย่านมีนบุรีมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 132% ทำเลย่านจอมทองมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 114% และทำเล็บบางแคเพิ่มขึ้น 113%

ขณะเดียวกัน นอกจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นใน 5 ทำเลดังกล่าวแล้ว ความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยในช่วง 1 ปีหลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า ในทำเลปทุมวันมีความต้องการเช่าเพิ่มขึ้น 139% ในทำเลบางคอแหลมมีความต้องการเพิ่มขึ้น 188% ทำเลบึงกุ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้น 185% ทำเลจตุจักรมีความต้องการเพิ่มขึ้น 159% และทำเลบางซื่อเพิ่มขึ้น 150%


กำลังโหลดความคิดเห็น