xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น “โรงพยาบาล” ฟื้นคืนชีพ อานิสงส์วัคซีนโควิด-19 หนุนผลงานโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"หุ้นกลุ่ม รพ. สดใสมากขึ้น ขณะราคาหุ้นทุกตัวราคาขยับขึ้นโดดเด่นมาก่อนแล้ว เพราะระยะสั้นมีกำไร คาดการเติบโตของผลประกอบการสร้างกำไรแข็งแกร่งอย่างมีนัยสำคัญ ผลจากรายได้ค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 หนุนรายได้ไตรมาส 2 พุ่ง แถมการกระจายวัคซีนแบบเจาะจงเป้าหมายจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในบางพื้นที่ และเพิ่มโอกาสการเปิดประเทศ"

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยคนไทยในโรงพยาบาลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-30 เดือนเมษายน 2564 จากสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่มีผู้เสียชีวิตโดยรวมสูงถึงกว่า 109 คน โดยมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมมากกว่า 36,290 ราย ซึ่งแค่เฉพาะยอดผู้เสียชีวิตในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มากกว่ายอดจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งปีของปี 2563

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกปรากฏว่า มีความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประมาณ 5 ล้านโดส ซึ่งจะต้องจัดส่งให้ได้ภายในปีนี้ โดยทางสมาคมได้แจ้งความต้องการวัคซีนไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้นำเข้าวัคซีนทางเลือกจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “โมเดอร์นา” (Moderna) เข้ามาฉีดให้คนไทยเพิ่ม นอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามาฉีดฟรีให้คนไทย และหลังจากสมาคมแจ้งปริมาณความต้องการไปแล้ว อภ.จะเป็นผู้นำเข้าให้ เพราะขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งยังเป็น Generation แรกที่ออกประกาศให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตจะขายตรงให้รัฐบาลเท่านั้น ยังไม่ขายให้เอกชน

นอกจากนั้น วัคซีนของโมเดอร์นาเองเพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากผลสำรวจความต้องการพบว่า เป็นหนึ่งในตัวเลือกวัคซีนที่ประชาชนต้องการ”

อย่างไรก็ดี ถ้าวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่นมีการอนุมัติผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว หรือมีวัคซีนที่ผ่านการพัฒนาต่อเนื่องเป็น Generation 2 ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น สมาคมจะดำเนินการแจ้งให้ อภ.นำเข้ามาเพิ่มเติมอีก เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับประชาชนคนไทย นอกจากนี้ ในผู้ผลิตบางราย เช่น ประเทศรัสเซีย ได้มีการพัฒนาวัคซีน Generation 2 ของสปุตนิก แล้ว โดยใช้ชื่อว่า สปุตนิก ไลท์ ซึ่งหากมีความปลอดถัยและได้ผลประสิทธิภาพดี ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการนำเข้ามา โดยการกำหนดค่าบริการฉีดวัคซีนทางเลือกในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน เพราะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนการนำเข้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าประกันภัยกรณีที่ประชาชนฉีดแล้วมีอาการแพ้ เป็นต้น ซึ่งถ้าต้นทุนถูกอาจตั้งราคาค่าบริการเข็มละไม่กี่ร้อยบาท แต่ถ้าต้นทุนสูงค่าบริการฉีดก็จะเพิ่มขึ้นตามขั้นบันได แต่ทั้งนี้ ทางสมาคมได้มีการตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งกำหนดราคาให้เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ

“ยิ่งฉีดเร็วเท่าไรยิ่งดี เพราะตอนนี้มีวัคซีนที่รัฐจัดหามาให้ก็ต้องรีบฉีดไม่ควรมัวแต่รอวัคซีนทางเลือก เพราะกว่าจะมาอีกหลายเดือน วัคซีนทางเลือกจะฉีดภายหลังก็ได้หรือฉีดหลังจากฉีดวัคซีนของรัฐไปแล้ว 6 เดือน เพราะตามทฤษฎีการฉีดวัคซีนต้องฉีดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น 6 เดือนครั้ง เหมือนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่จะต้องฉีดกระตุ้นทุกๆ ปี เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันในการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ในสายพันธุ์ใหม่ๆ ด้วย”

บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS  เปิดเผยงบการเงินและผลประกอบการงวดไตรมาสแรกปี 64 พบว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,699 ล้านบาท โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีเงินสดสุทธิยกมา ณ วันต้นงวด 19,666 ล้านบาท เป็นผลให้เงินสดสุทธิปลายงวดคงเหลือ 22,366 ล้านบาท แบ่งเป็น กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน 4,008 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรระหว่างไตรมาส ส่วนกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมลงทุน 1,102 ล้าน เพื่อขยายและปรับปรุงโรงพยาบาลในเครือข่าย ในส่วนของกระแสเงินสดได้นำไปใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน 206 ล้านบาท ซึ่งสวนใหญ่เกิดการชำระคืนหนี้สินตามสัญญาเช่า และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 117 ล้านบาท และ 107 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่อัตราส่วนสภาพคล่องและอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็วเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจากการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดใน BH ประกอบกับการลดลงของเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินและค่าใช้จ่ายในส่วนของการค้างจ่ายซึ่งเป็นระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจาก โควิด-19 ส่งผลให้รายได้ลดลง ทำให้การดำเนินการเก็บหนี้ทั้งในและต่างประเทศไม่สะดวก

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีนโยบายการให้สินเชื่อการค้าและพิจารณาวงเงินเครดิตตามความเหมาะสมของคู่สัญญาในแต่ละโรงพยาบาล โดยมีการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า สำหรับคู่สัญญาในประเทศ 30-60 วัน ส่วนคู่สัญญาต่างประเทศ 30-90 วัน นอกจากนี้ จะมีการวิเคราะห์ทบทวนเครดิตปีละครั้งเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงการรับชำระหนี้ เพื่อให้สินค้าเพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี จากการที่สินค้าคงเหลือส่วนใหญ่เป็นยาและเวชภัณฑ์ โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีแผนบริหารสินค้าคงเหลืออย่างมีประสิทธิภาพและมีการควบคุมภายในที่ดี มีการตรวจนับสินค้าคงเหลืออย่างน้อยปีละครั้ง โดยพิจารณาตั้งค่าเผื่อการปรับลดราคาทุน สำหรับสินค้าคงเหลือที่มีวันหมดอายุ สินค้าคงเหลือที่มีการเคลื่อนไหวน้อย หรือสินค้าเสื่อมสภาพ เพื่อให้เป็นมูลค่าสุทธิที่จะได้รับในทำนองเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อ EBITDA ลดลงเล็กน้อยจาก 1.9 เท่า ในไตรมาส 1/2563 1.8 เท่า ในไตรมาส 1/2564 ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระ ดอกเบี้ยสุทธิต่อ EBITDA ลดลงจาก 1.2 เท่า ในไตรมาส 1/2563 เป็น 0.1 เท่า ในไตรมาส 1/2564 เป็นผลมาจากการลดลงของ EBITDA ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากผลกระทบของโควิด-19 มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มและระยะเวลาของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ และรับมือต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้จากนโยบายการจัดการและควบคุมโครงสร้างทางการเงินที่รัดกุม

ขณะที่ อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมาก จากการที่คนไข้ชาวต่างชาติได้หายไป เนื่องจากไม่สามารถเดินทางเข้ามารักษาในไทยได้ เพราะปิดประเทศ และทางโรงพยาบาลมีความจำเป็นต้องปิดให้บริการในบางศูนย์ชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลรายได้หายไปค่อนข้างมาก แต่เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น ก็มีกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่ทำงานในไทยเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการ รวมถึงลูกค้าชาวไทยบางกลุ่มที่กลับมาใช้บริการ ทำให้แรงกดดันของรายได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลประกอบไตรมาสแรกปีนี้ BH มีรายได้สุทธิ 2,699.50 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 91.13 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 100,515.08 ล้านบาท และมีค่าพี/อี เรโชอยู่ที่ 189.91 เท่า

ทั้งนี้ ในภาวะที่โควิด-19 ในประเทศยังไม่คลี่คลายลงชัดเจน ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จะเน้นไปความพร้อมของการให้บริการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่งานบริการหลังจากที่ทิศทางโควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้นอีกครั้ง ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยังคงให้ความสำคัญต่อคุณภาพงานบริการทางการแพทย์ หลังจากที่พฤติกรรมของคนในปัจจุบันหลังจากเกิดโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้คนหันมาป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น และเริ่มตระหนักถึงความแข็งแรงของร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ มากกว่าที่เจ็บป่วยแล้วมารักษา ทำให้ลูกค้าที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กลับเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป หรือ THG เผยว่า โรงพยาบาลธนบุรีได้มีการเสนอให้นำเข้าวัคซีนเข้ามาเร็วที่สุดในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งติดต่อทางต้นทางวัคซีนในสหรัฐฯ เพื่อขอแบ่งโควตาการนำเข้าวัคซีนให้เข้ามาก่อนอย่างเร็วที่สุด จากกำหนดเดิมที่จะมีการส่งมอบไม่เกินเดือน ต.ค.64 เพราะมองว่าหากมาช่วงไตรมาส 4 อาจจะช้าไป ขณะที่ เรื่องราคาให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโรงพยาบาลธนบุรียอมรับว่าจะสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆประมาณ 500 บาท เพราะโรงพยาบาลจะนำเงินไปใช้ในการให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญทำการศึกษาเรื่องวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกัน และผลข้างเคียง เพื่อเป็นองค์ความรู้แก่วงการแพทย์ไทย คาดว่าจะมีกำไรจากการให้บริการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 100 บาท/โดส ส่วนราคาให้บริการที่แน่นอนนั้นยังไม่สามารถระบุ ซึ่งต้นทุนของวัคซีนโมเดอร์นาหากรวมภาษีแล้วคาดว่าอยู่ที่เข็มละ 1,500 บาท/โดส

“ตอนนี้ทาง THG ได้ติดต่อไปทางโมเดอร์นาโดยตรงเพื่อขอแบ่งโควตาให้วัคซีนเข้ามาก่อน 2 ล้านโดส ซึ่งเร็วที่สุดจะเข้ามา เดือน มิ.ย.นี้ ส่วนการกำหนดราคานั้นยังไม่ชัดเจน แต่ของ THG อาจจะมีราคาสูงกว่าที่อื่น” บุญ วนาสิน กล่าว

ขณะที่ผลประกอบไตรมาส 1/64 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม THG มีรายได้สุทธิรวม 1,584.14 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ -214.95 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 21,227 ล้านบาท

ธีรพันธ์ ดิษยบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า หรือ PR9 เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลยังคงรอความชัดเจนจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่รวบรวมปริมาณความต้องการนำเข้าวัคซีนเพื่อเสนอต่อองค์การเภสัชกรรม ตามขั้นตอนที่ประกาศจากภาครัฐ โดยทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการจองวัคซีนไปแล้วหลายยี่ห้อ ล่าสุด มีเพียงโมเดอร์นาที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อย่างไรก็ตาม จากการประสานงานกับทางผู้นำเข้าวัคซีน ทางโรงพยาบาลคาดว่าจะสามารถทยอยให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือกให้ประชาชนได้ในไตรมาส 4 นี้ ส่วนราคาวัคซีนคาดว่าทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นผู้กำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนทางเลือกได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ผลประกอบไตรมาสแรกปีนี้ PR9 มีรายได้สุทธิรวม 679.38ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 38.54 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 7,666.42 ล้านบาท และมีค่าพี/อี เรโชอยู่ที่ 37.72 เท่า

พญ.ชุติมา ปิ่นเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ให้ความเห็นว่า การนำเข้าวัคซีนทางเลือกทั้งหมดจะดำเนินการผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา มีการสำรวจความต้องการของสมาชิกสมาคมฯ แล้วว่าจะมีปริมาณการจองวัคซีนจำนวนเท่าใด แต่ด้วยบริษัทผู้นำเข้าวัคซีนทางเลือกยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะนำเข้ามาได้เมื่อไหร่ ทำให้บริษัทยังไม่สามารถวางแผนงานดังกล่าวได้ ทำให้ CHG ยกเลิกการจองวัคซีนทางเลือกที่เคยจองไว้ก่อนหน้าทั้งหมดแล้ว เนื่องจากผู้นำเข้าวัคซีนไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากมีความชัดเจน โรงพยาบาลก็จะดำเนินการผ่านทางสามาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อนำมาจัดสรรให้ลูกค้า โดยราคาค่าวัคซีนเบื้องต้นจะเท่ากันทุกโรงพยาบาลที่ 2 เข็ม ประมาณ 3,000 บาท

“วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่รัฐบาลจัดหาซึ่งจัดว่ามีประสิทธิภาพดีมาก และมีการนำสายพันธุ์ใหม่มาวิจัยและพัฒนาตัววัคซีนดังกล่าว สามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยรัฐบาลมีแผนการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรกให้ประชาชน ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ย.64 ประมาณ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และจะฉีดครบ 2 เข็มภายในเดือน ต.ค.64

ทั้งนี้ ผลประกอบไตรมาสแรกพบว่า CHG มีรายได้สุทธิรวม 1,472.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 251.78 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 35,420 ล้านบาท และมีค่าพี/อี เรโชอยู่ที่ 37.60 เท่า

โบรกฯ มองวัคซีนหนุนผลงานกลุ่มโรงพยาบาลบวก

ธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลมีความน่าสนใจ โดยมองว่าเป็นปีของการ turnaround เนื่องจากปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้คาดหวังนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะกลับเข้ามามากนัก จึงเน้นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนในการรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศค่อนข้างน้อย และเน้นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยในประเทศ โดยแนะนำซื้อหุ้น บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) (ซื้อ/เป้า 18.50 บาท) และ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) (ซื้อ/เป้า 3.26 บาท) ซึ่งทั้ง 2 ตัวได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยว และผู้ป่วยต่างชาติค่อนข้างน้อย ซึ่งแตกต่างกับหุ้น บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) และหุ้น บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่เน้นสัดส่วนจากต่างชาติ

สำหรับกรณีที่รัฐบาลอาจอนุญาตให้ทางเอกชนนำวัคซีนเข้ามา แต่ต้องผ่านการบริการจากทางภาครัฐ จึงอาจมีผลในด้านค่าบริการต่างๆ แต่ยังตอบยากว่าวัคซีนที่เข้ามาจะมีปริมาณเท่าใด เนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลว่าแต่ละโรงพยาบาลจะได้รับวัคซีนจำนวนมากน้อยเพียงใด

“ประเมินว่าโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากฐานที่รับวัคซีนอาจไม่ช่วยโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในแง่ของฐานรายได้มากนัก แต่ยังถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่จะเข้ามาในอนาคต”

ทั้งนี้ หุ้น BCH, CHG แนะนำซื้อในระยะยาว หรือช่วง 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจระบาดเพิ่ม ซึ่งหากไม่สามารถจัดการควบคุมได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลจึงอาจจะไม่ฟื้นตัวดีเท่ากับที่คาดไว้

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มผลประกอบการออกมาดี ได้แก่ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) (ซื้อ/เป้า 20.20 บาท) และ บมจ.เอกชัยการแพทย์ (EKH) (ซื้อ/เป้า 7.20 บาท) โดยหุ้นทั้ง 2 ตัวแนะนำซื้อลงทุน หรือการซื้อในระยะยาว ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/64 ไม่ใช่ช่วงไฮซีซันของกลุ่มโรงพยาบาล ช่วงไฮซีซันจะเป็นช่วงหน้าฝนอย่างไตรมาส 2-3/64 มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาสแรกปีนี้สำหรับโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการตรวจโควิด-19 ได้อานิสงส์เชิงบวกจากการตรวจโควิด-19 เข้ามาช่วยจึงทำให้ผลประกอบการในไตรมาสนี้น่าจะออกมาดี นอกจากนี้ เรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับโรงพยาบาลเอกชนคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า

สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า สำหรับหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลแนะนำ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) (ซื้อ/เป้า 24.00 บาท) เนื่องจากมีพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแรงที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาล โดยเป็นการแนะนำ "ซื้อ" ในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากระยะสั้นรายได้อาจยังฝืดๆ อยู่จนกว่าจะมีการเปิดประเทศ จากโครงสร้างรายได้ที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติ 30% โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในไทย ทั้งนี้ แนะนำหุ้นตัวนี้เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวที่จะเห็นในครึ่งปีหลังถึงครึ่งปีหน้านี้

นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่มีความน่าสนใจรองลงมา อย่างหุ้น บมจ.โรงพยาบาลพระราม 9 (PR9) (ซื้อ/เป้า 12.00 บาท) เนื่องจากโรงพยาบาลนี้มีสัดส่วนผู้ป่วยที่บินเข้ามารักษาประมาณ 10% โดยปัจจุบันใน 10% นี้สามารถสร้างรายได้จากผู้ป่วยในไทยแทนจนสามารถ Cover ผลกระทบได้ทั้งหมดแล้ว จึงน่าจะเป็นบริษัทต้นๆ ที่น่าจะเห็นรายได้ที่ฟื้นตัวในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และหุ้นที่น่าสนใจยังเป็นหุ้นที่เล่นธีมเก็งกำไรในส่วนของวัคซีน อย่างโรงพยาบาลประกันสังคมที่มีเครือข่ายต่างๆ เช่นหุ้น บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) และ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG)

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง มองว่ากลุ่มการแพทย์ (Healthcare) มีประเด็นหลักเรื่องรัฐไม่ปิดกั้นการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จากภาคเอกชน โดยปัจจุบันการฉีดวัคซีน 65 ล้านโดสฟรีในไทย รัฐบาลมีมติ จ่ายค่าฉีด-ชดเชย งบ สปสช. ที่สนับสนุนค่าฉีด 20 บาท/โดส แก่โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม แต่มองว่าโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ไม่น่าจะมีกำไรอย่างมีนัยจากรายได้ส่วนนี้

ทั้งนี้ ยังยืนยันมุมมองกำไรระยะสั้นในไตรมาส 2/64 ที่คาดการณ์ไปก่อนหน้าว่า กำไรของทุกโรงพยาบาลจะเติบโตแข็งแกร่งอย่างมีนัยทั้งเทียบปีก่อน และ ไตรมาสก่อน ตามคาดการณ์ของ บล.บัวหลวง ที่รายได้ค่าบริการที่เกี่ยวข้องจากโควิด-19 จะหนุนรายได้ส่วนเพิ่มในไตรมาส 2/64

“หุ้นในกลุ่ม รพ. จะมีความโดดเด่นมากขึ้นอีก แม้ราคาหุ้นทุกตัวปรับขึ้นโดดเด่นมาแล้ว YTD เพราะระยะสั้นมีกำไรไตรมาส 2/64 จากอุปสงค์ที่ก้าวกระโดดขึ้นแบบฉับพลันจากการระบาดของโควิด-19 ในไทย และยังเป็นปีที่เริ่มกระจายวัคซีนโดย รพ.เอกชนมีส่วนร่วมด้วย และการฉีดวัคซีนแบบเจาะจงเป้าหมายจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในบางพื้นที่และเพิ่มโอกาสการเปิดประเทศ”

จากข้อมูลข้างต้นทำให้ประเมินได้ว่า หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปีนี้น่าจะสดใส หลังจากปีก่อนธุรกิจโรงพยาบาลส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกและการค้นพบวัคซีนยังไม่เป็นผล




กำลังโหลดความคิดเห็น