xs
xsm
sm
md
lg

“บิทคอยน์”ดีมานต์พุ่งต่อเนื่อง โอกาสในความเสี่ยง-ปลอดภัยต่ำกว่าทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมิน TESLA ทุบ “บิทคอยน์” จนราคาดิ่งเหว ขณะความเชื่อมั่นดอลลาร์สหรัฐนับวันยิ่งเสื่อมถอย หนุนทางเลือกใหม่อย่างสกุลเงินดิจิทัลได้รับความสนใจเพราะมูลค่าของบิทคอยน์มีโอกาสเพิ่มสูงในอนาคต ขณะปีก่อนนักลงทุนซื้อและลงทุนในบิทคอยน์ ดันราคาขยับขึ้นหลายเท่าตัว กลายเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนร้อนแรงสุด จึงถือเป็นโอกาสในความเสี่ยง แม้ภาพรวมด้านความปลอดภัยการลงทุนแพ้ “ทองคำ”

หลังมีข่าวสนับสนุน หรือเป็นปัจจัยบวกให้ราคา บิทคอยน์หรือ Bitcoin ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงต้นปี จนทำให้นักลงทุนหลายรายกระโดดเข้าไปร่วมวง เพื่อหวังรับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นจำนวนมาก ล่าสุด ก็ถึงคราวย่อตัวลงของราคาบิทคอยน์ บ้างแล้ว เมื่อผู้สร้างกระแสอย่าง “Elon Musk” กลับเป็นผู้ทุบราคาสกุลเงินดิจิทัลตัวนี้เสียเอง

เหตุการณ์ที่กดดันให้ราคาบิทคอยน์ปรับตัวลง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา โดย Elon Musk ทวิตถึงบิทคอยน์หรือ BTC ที่เป็นเหรียญคริปโตเบอร์หนึ่งของโลกว่า “Tesla & Bitcoin” การขุดเหมืองคริปโตนั้น เป็นการใช้พลังงานฟอสซิลที่สิ้นเปลือง และบ่อนทำลายมลภาวะสิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากบริษัทเทสล่ากังวลเกี่ยวกับการใช้พลังงานฟอสซิลไปกับการขุดเหมืองคริปโทเคอร์เรนซีที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากถ่านหิน ที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งพลังงานที่สกปรกที่สุดในโลก พร้อมทั้งได้ประกาศระงับการขายรถยนต์ TESLA แบรนด์รถยนต์ของบริษัทตนเองด้วยบิทคอยน์แล้ว และจากกระแสการออกมาทวิตดังกล่าว ทำให้ราคาเหรียญบิทคอยน์ปรับตัวร่วงลงทันที -12% ไม่เพียงเท่านั้น ยังฉุดราคาเหรียญอื่นๆให้ร่วงตามลงไปด้วยทั้ง Ethereum -6% , Binance Coin -8% , Dogecoin -13% , Cardano -9% และ XRP -13%

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการขุดเหมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งเหรียญคริปโตนั้น จะสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโลกในเชิงลบหลายด้าน แต่ Elon Musk ก็ยังคงเชิดชูคริปโตเคอร์เรนซีว่ามีจุดแข็งที่ดีอื่นๆอีกหลายอย่างโดยยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่มีการรายงานว่า Tesla มีการขายเหรียญบิทคอยน์ ออกไปหรือไม่ โดยบริษัทเองยังคงอ้ำอึ้งว่าจะเปิดให้นำบิทคอยน์ มาซื้อรถยนต์ได้อีกครั้งเมื่อไหร่ ซึ่งหากการขุดเหมืองบิทคอยน์ จะเป็นปัญหาสร้างมลภาวะต่อโลกอยู่ และสิ้นเปลืองพลังงานฟอสซิลน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งเปรยทิ้งท้ายว่า หากเป็นอย่างนี้ต่อไป เห็นทีคงต้องไปหาคริปโตเคอร์เรนซีอื่น ๆ ที่กินพลังงานต่ำกว่า -1% เทียบกับที่ บิทคอยน์ใช้ในทุกวันนี้

จากทวิตดังกล่าว ด้านนักลงทุนเหรียญคริปโตทั่วโลกมองว่า การออกมาทวิตของ Elon Musk ในครั้งนี้มีทั้งผลดีและผลเสียต่อวงการคริปโต ฯ แม้ในเชิงสิ่งแวดล้อมที่เขาพูดนั้นจะเป็นความจริง เพราะมีการใช้พลังงานที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์เป็นจำนวนมาก แต่ในอีกด้านนึง ส่งผลโดยตรงต่อตลาดเทรดเหรียญให้มีการปรับลงอย่างรุนแรง โดยอาจแฝงนัยยะซ่อนเร้นที่จะเข้าไปเก็งกำไร เมื่อราคาเหรียญปรับตัวลดลงก็เป็นได้ ตามพฤติกรรมมือถือสากปากถือศีลของ Elon Musk ที่มักจะออกมาเขย่าวงการเหรียญคริปโตฯ อยู่เสมอ

ขณะที่ Barry Silbert CEO ของ Digital Currency Group (DCG) ได้ออกมาตอบโต้ทวิตของ Elon Musk ว่าจะยกเลิกการใช้ BTC ในการทำธุรกรรมกับ TESLA และยังบอกด้วยว่าจะหาเหรียญใหม่ที่ใช้พลังงานน้อยกว่า BTC มาใช้แทน แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ TESLA ได้ซื้อ บิทคอยน์ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาใน เดือนมีนาคม TESLA ได้เปิดเผยว่า ลูกค้าในสหรัฐฯสามารถใช้บิทคอยน์จ่ายค่ารถยนต์ของบริษัทได้ ส่วนลูกค้าในประเทศอื่นๆ จะใช้สกุลเงินดังกล่าวซื้อรถของ TESLA ได้ภายในปีนี้ จนทำให้ราคาของบิทคอยน์ได้รับความนิยมมากที่สุด  แต่ในทางกลับกันก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักลงทุน ซึ่งระบุว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการต่อต้านจุดยืนที่ชัดเจนของ TESLA ในการจัดการเรื่องการปล่อยมลพิษทั่วโลกและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จนถูกนำไปโยงว่านี่อาจเป็นสาเหตุที่กดดันให้ Elon Musk ยอมกลับลำในเรื่องนี้

ปัจจุบัน แทบกล่าวได้ว่า  บิทคอยน์ ถูกสร้างขึ้นโดยบรรดานักขุดที่ใช้คอมพิวเตอร์พลังสูงๆ เพราะต้องการแข่งขันกับนักขุดคนอื่นๆ ถือเป็นกระบวนการใช้พลังงานมากมักอาศัยไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหิน โดยพบว่านักขุดบิทคอยน์ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 75% ของทั้งโลก และมักจะใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่มีราคาถูก มากกว่าเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีราคาแพงกว่า จากการศึกษาพบว่าคาร์บอนฟุตปรินต์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากขุดบิทคอยน์มีขนาดใหญ่เท่ากับหนึ่งในสิบเมืองใหญ่ที่สุดของจีน

อย่างไรก็ตาม  ความนิยมในบิทคอยน์กับโลกปัจจุบัน ดีมานต์หรือความต้องการถือครองยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า แม้ TESLA จะกลับลำต่อการยอมรับบิทคอยน์แต่โลกที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วย่อมหนีไม่พ้นสิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาทดแทนของเดิม นั่นทำให้โอกาสที่มูลค่าของบิทคอยน์จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และยังไม่เห็นทิศทางหรือแนวโน้มที่มืดมน เมื่อค่าเงินสำคัญของโลกอย่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แทบไม่ต่างอะไรกับแบงค์กงเต๊กในปัจจุบัน

จากที่ผ่านมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี2563 แม้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงมีบทบาทเป็น Safe Haven ที่สำคัญอีกครั้งเหมือนในหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความคลางแคลงใจถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทางการของอเมริกายังคงมั่นใจในสถานภาพของเงินดอลลาร์ของตัวเอง จึงได้พิมพ์เงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันสกุลเงินใหม่อย่าง สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency กลับมามีบทบาทมากขึ้นและกลายมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งสกุลเงินหลักของโลกรายใหม่ โดย บิทคอยน์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยคุณลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนสกุลเงินอื่นๆ ในโลก นั่นคือ การปราศจากการควบคุมโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ปรับลดมูลค่าดอลลาร์ของตัวเองลงผ่านการพิมพ์เงินเพิ่มมหาศาล จึงทำให้นักลงทุนไม่น้อยที่จะเริ่มซื้อและลงทุนใน Bitcoin จนทำให้ราคาของมันปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา และเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ร้อนแรงที่สุดในปีก่อน

จากแรกเริ่มในปี 2009 ผู้สร้าง บิทคอยน์ นั้นสร้างมันขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นทองคำดิจิทัล (Digital Gold) หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) และเป็นแหล่งหลบภัย (Safe Haven) ในยามเกิดวิกต แต่ผู้ต่อต้านกลับมองว่าเป็นการยากที่จะรู้สึกปลอดภัยกับการถือสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงเช่นนี้ เพราะฟองสบู่ของ Bitcoin เพิ่งจะแตกไปเมื่อไม่ถึง 3 ปีที่ผ่านมา และการเคลื่อนไหวของราคามันยังผันผวนมากกว่าทองคำ 4 เท่าตัว

ขณะที่เงินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าได้เผชิญปัญหาหนักอยู่ก่อนแล้ว ด้วยปริมาณหนี้สาธารณะของประเทศซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจ และเมื่อต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้สหรัฐฯ กู้เงินและพิมพ์เงินเพิ่มอย่างมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่งไปสูงถึงร้อยละ 67 อีกทั้งปัจจุบัน ทางการสหรัฐ ยังคงยืนกรานที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มทุเลาลงจนทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่อาจคือจุดสิ้นสุดของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อทั่วทั้งโลกเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่น

สวนทางกับ Bitcoin ในปัจจุบันกำลังเริ่มทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญ นั่นคือ เป็นสื่อกลางทางการค้า (Medium of Exchange) เพราะวันนี้ สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวถูกถือครองในลักษณะของการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2020 ที่ทาง PayPal ประกาศเริ่มที่จะสะสมบิทคอยน์และมีท่าทีที่จะรองรับการทำธุรกรรมโดยใช้บิทคอยน์ในอนาคต

ดังนั้น แม้การปรับตัวขึ้นของบิทคอยน์รอบนี้อาจเป็นลักษณะฟองสบู่ที่รอวันแตก แต่ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบ Cryptocurrency น่าจะส่งสัญญาณเตือนถึงธนาคารกลางรวมถึงรัฐบาลของทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งของสหรัฐฯเริ่มตระหนักว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลกที่ใช้เป็นที่การเก็บรักษามูลค่า (Store of Value) หรือเป็นสื่อกลางทางการค้า (Medium of Exchange) ได้ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการลงทุนในบิทคอยน์ยังถูกมองว่าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในมุมมองที่เชื่อว่าบิทคอยน์นั้นไม่มีมูลค่าในตัว ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า สกุลเงินคริปโตยังไม่มีมูลค่าในตัวเอง และผู้ที่เข้าลงทุนก็ควรเตรียมตัวที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด โดยสำนักงานกำกับตลาดการเงินอังกฤษ (FCA) ระบุว่า ผู้ที่ลงทุนในสกุลเงินคริปโตมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียเงินทั้งหมด ด้วยเพราะปัจจุบันบริษัทบางแห่งกำลังเสนอการลงทุนในรูปสกุลเงินคริปโต หรือปล่อยกู้ หรือให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโตที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งถ้าผู้บริโภคเข้าลงทุนในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ก็อาจจะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด ดังนั้น นักลงทุนควรระวังหากได้รับการติดต่อ นั่นเพราะมูลค่าบิทคอยน์ได้พุ่งขึ้นมากกว่า 90% ตั้งแต่ต้นปีนี้ และอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์ฟองสบู่ในปี 2017 ซึ่ง Bitcoin พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้นใกล้แตะระดับ 20,000 ดอลลาร์ ก่อนที่จะดิ่งลงเหลือเพียง 3,122 ดอลลาร์ในปีต่อมา

สอดคล้องกับท่าทีของ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้เคยกล่าวเตือนนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการถือครองบิทคอยน์ว่า ส่วนตัวไม่คิดว่า บิทคอยน์ จะถูกใช้เป็นกลไกในการทำธุรกรรมในวงกว้าง และวิตกเกี่ยวกับการที่ บิทคอยน์ มักถูกใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย จึงอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎระเบียบในการควบคุมการใช้ บิทคอยน์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ถูกใช้ในการฟอกเงิน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานทั่วโลกออกกฎระเบียบควบคุม Bitcoin โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่จะต้องอุดช่องโหว่จากการที่มีผู้ใช้บิทคอยน์ในการฟอกเงิน และทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

ล่าสุดมีงานวิจัยเชิงประจักษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเงินทดสอบความสามารถในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของบิทคอยน์ เทียบกับทองคำ โดยพบว่าผลการศึกษาสนับสนุนความสามารถของทองคำในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับการลงทุนในภาวะวิกฤต (Safe haven) แต่ไม่พบความสามารถในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของ Bitcoin เพราะราคาบิทคอยน์มีแนวโน้มจะเกิดความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงภาวะวิกฤตที่ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อสรุปนี้พบว่าทองคำมีความเหมาะสมกว่า ในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven assets) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตามยังพบว่าบิทคอยน์ มีแนวโน้มที่จะมีผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าสินทรัพย์อื่น และมีค่าสหสัมพันธ์ในระดับต่ำกับสินทรัพย์อื่น ๆ (เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เป็นต้น) ทำให้บิทคอยน์มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการใช้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนในพอร์ตโพลิโอ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน เพราะมีศักยภาพในการลงทุนเพื่อเก็งกำไรและสร้างผลตอบแทนที่สูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีธนาคารกลางทั่วโลกใช้มาตรการ QE ซึ่งมีผลต่อราคาบิทคอยน์อย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านี้ จากการประมาณค่าสมการพยากรณ์ พบว่าบิทคอยน์มีความสามารถในการพยากรณ์ผลตอบแทนระยะสั้นที่ชัดเจน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากบิทคอยน์จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เป็นอย่างมาก แต่การลงทุนยังมี ข้อที่ควรระวัง คือ บิทคอยน์ ยังไม่มีความสามารถเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะวิกฤต ดังนั้นจึงไม่สามารถทดแทนการลงทุนทองคำในวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยได้ ขณะที่ความสามารถในการพยากรณ์ผลตอบแทนระยะสั้น โดยทั่วไปจะเชื่อมโยงกับภาวะฟองสบู่ เพราะหากฟองสบู่แตก จะนำมาซึ่งผลขาดทุนในระดับสูงมาก

นอกจากนี้ หากธนาคารกลางทั่วโลก ประกาศลดการทำนโยบาย QE ลง อาจทำให้ราคาบิทคอยน์อาจมีการปรับตัวลดลงครั้งใหญ่ในลักษณะเดียวกับการปรับลดของราคาทองคำจาก QE tapering ในช่วงปี 2556-2557 

ดังนั้นนักลงทุน ควรมีการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น หุ้น ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สามารถกระจายความเสี่ยงในช่วงที่ราคา Bitcoin มีการปรับตัวผันผวน

โดย “ทรอย เกย์สกี” จาก SkyBridge Capital กล่าวว่า การเข้าซื้อบิทคอยน์ในช่วงเวลานี้ หรือตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีโอกาสที่จะเห็นการย่อตัวในระดับ 20-30% เป็นเรื่องปกติ จึงเชื่อว่าบิทคอยน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรที่ผู้คนกำลังเริ่มให้การยอมรับสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น

เช่นเดียวกับ “ไมค์ แม็คโกลน” จาก Bloomberg Intelligence มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาบิทคอยน์ มีโอกาสจะขยับไปได้ถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคดิจิทัล รวมถึงการที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง จะหนุนให้มูลค่าของบิทคอยน์พุ่งขึ้นไปได้อีก

จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอมาข้างต้น ทำให้พอสรุปได้ว่า บิทคอยน์ควรถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการลงทุนในโลกปัจจุบัน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับที่ดีไม่น้อยหน้าตลาดหุ้น หรือ ตลาด Forex ที่มีอยู่ แต่ไม่ควรไว้วางใจถือครองในสัดส่วนที่สูงมากในพอร์ตลงทุน และควรมีการกระจายความเสี่ยงสู่การลงทุนอื่นๆ เพื่อรองรับ และหนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นพระเอกตัวจริง ในการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven assets) อย่างทองคำ หรือกล่าวได้ว่า “น่าจะมีบิทคอยน์ติดมือเพื่อเพิ่มทางเลือก แต่ไม่ควรทุ่มหมดหน้าตัก แม้วันนี้ TESLA จะไม่เอา แต่ทั่วโลกเขายอมรับแล้ว"






กำลังโหลดความคิดเห็น