ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงในเช้าวันนี้ ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลบเมื่อคืนนี้ (10 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อได้ผลักดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน.นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในวันพุธนี้ ซึ่งหากตัวเลข CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,406.60 จุด ลดลง 21.39 จุด หรือ -0.62%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 29,238.56 จุด ลดลง 279.78 จุด หรือ -0.95% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 28,286.56 จุด ลดลง 309.1 จุด หรือ -1.08%
นักวิเคราะห์จากบริษัทคิงส์วิว แอสเซท เมเนจเมนท์ ในเมืองชิคาโกกล่าวว่า อุปสงค์วัสดุพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับภาวะอุปทานที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัญหาติดขัดในด้านต่างๆ ได้ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหันไปซื้อหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stocks) หรือหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญในวันพุธนี้ โดยหากดัชนี CPI ของสหรัฐฯ ขยายตัวมากกว่าคาด ก็อาจทำให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Treasury Inflation-Protected Securities -TIPS) ของสหรัฐฯ ประเภทอายุ 5 ปี และ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 และปี 2556 ตามลำดับ โดยพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อนั้นออกโดยกระทรวงการคลัง และมีการปรับผลตอบแทนตามการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของจีนในวันนี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน เม.ย.