xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นโรงแรมปีนี้ส่อแววเดี้ยง ลุ้นวัคซีนกระตุ้น 6 เดือนหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โควิด-19 ระลอก 3 กดดันผลดำเนินงานไตรมาสแรกปี 64 หุ้นกลุ่มโรงแรมทรุดตัว และอาจต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 หลายฝ่ายเชื่อครึ่งปีหลังฟื้นตัวจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมได้มากขึ้นโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปเป็นปัจจัยกระตุ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อให้ทั้งปีขาดทุนลดลงจากปีก่อน และจะกลับฟื้นกำไรให้เห็นในปีหน้า

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 ถือเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่โลกได้รู้จัก “โคโรนา ไวรัส” ชนิดนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2562 และเริ่มสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากในรอบนี้ แต่ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ปรับตัวลดลงมาถึงระดับ 1,468.24 จุดของวันที่ 4 มกราคม ซึ่งเป็นสถิติการซื้อขายขายวันแรกของปี 2564 โดยยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 1,500 จุด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในทุกครั้งที่เกิดขึ้น หนีไม่พ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาทั้งนักลงทุน และนักวิเคราะห์ต่างได้แต่เฝ้าฝันว่าหุ้นในกลุ่มนี้น่าจะถึงเวลากลับมาฟื้นตัวในปี 2564 หลังจากปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสายการบิน และกลุ่มโรงแรม

และจากประเด็นดังกล่าว ทำให้นักลงทุนหลายรายหันมาพิจารณาหุ้นในกลุ่มโรงแรมกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ยังมีความน่าสนใจเข้าลงทุนมากน้อยเพียงใด เมื่อธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกครั้ง หลังจากสิ้นปี 2563 พบว่า ผลประกอบการแต่ละบริษัทในกลุ่มนี้ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะ 3 บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW)

โดย MINT รายงานผลประกอบการปีล่าสุด (2563) บริษัทขาดทุน 2.14 หมื่นล้านบาท โดยมีรายได้ที่ลดลงเหลือ 5.86 หมื่นล้านบาท จนทำให้อัตรากำไรสุทธิ -38.68% จากปี 2562 บริษัทมีรายได้ 1.29 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.06 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 8.52%

ถัดมา CENTEL ปี 2563 รายได้รวมลดลงเหลือ 1.32 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 ที่ระดับ 2.12 หมื่นล้านบาท และกลายเป็นขาดทุนสุทธิ 2.77 พันล้านบาท จากกำไรสุทธิ 1.74 พันล้านบาทในปีก่อนหน้า ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิจาก 8.50% ในปี 2562 กลายเป็นลดลง 21.87%ในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ ERW รายงานว่า ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1.71 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้ามีกำไรสุทธิ 445.57 ล้านบาท เช่นเดียวกับรายได้รวมลดลงเหลือ 2.34 พันล้านบาท จาก 6.43 พันล้านบาทในปี 2562 ส่วนอัตรากำไรสุทธิปี 2563 พบว่า ลดง 75.73% จาก 7.81% ในปีก่อนหน้า

ล่าสุด มีการจัดทำบทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจของ MINT ว่า หากไม่รวมรายการพิเศษ (อย่างเช่น ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์) คาดว่า MINT จะมีผลขาดทุนปกติ 5 พันล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้ จากที่ขาดทุนปกติ 4.3 พันล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันผลประกอบการ ได้แก่ การเป็นช่วง low season ของธุรกิจโรงแรมในยุโรป และผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทยแย่ลงเนื่องจากโควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอก

โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของ RevPar (Revenue per available room เกิดจากการนำเอารายได้จากห้องพักหลังหักส่วนลดแล้วมาหารด้วยจำนวนห้องทั้งหมดที่พร้อมขายให้ลูกค้าในช่วงเวลานั้น) โรงแรมที่ MINT เป็นเจ้าของในไตรมาสแรกจะลดลง 76% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ EBIT margin หดตัว 12.6ppts จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นลดลง 40.9% จากอัตรากำไรที่อ่อนแอของธุรกิจโรงแรม ในขณะเดียวกัน การเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ก็ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากไตรมาส 4/63 ติดลบ 13.70% จากผลการดำเนินงานที่ซบเซาของธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาวะที่โควิด-19 กลับมาระบาดในประเทศไทยอีกระลอก แต่เชื่อว่าผลกระทบด้านลบน่าจะจำกัด เพราะรัฐบาลจะพยายามหาจุดสมดุลระหว่างความพยายามที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน และผลกระทบด้านลบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน คาดว่าการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นในระยะยาวที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัว

โดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ จำกัด ประเมินว่า รายได้จากกลุ่มโรงแรมของบริษัทในไตรมาสแรกจะอยู่ที่ 6.56 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเป็นช่วง Low Season ของกลุ่มโรงแรมในยุโรป และการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้มี RevPar ของโรงแรมที่ MINT ปรับตัวลดลง 70% โดยที่โรงแรมในไทยมี RevPar ปรับตัวลดลงสูงสุดที่ 80%

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหาร คาดทั้งกลุ่มรายได้ติดลบ 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากยังได้รับแรงหนุนจากธุรกิจในจีน ซึ่งเติบโตอย่างโดดเด่น 180% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังช่วงเวลานั้นยอดขายของสาขาเดิมในจีน (SSSG) ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งแรกในจีน จนทำให้ธุรกิจอาหารทั้งระบบของบริษัทลดลง 14% นำไปสู่คาดการณ์ปี 2564 คาดว่า MINT จะยังคงมีผลขาดทุนสุทธิที่ 5.38 พันล้านบาท ถือเป็นการฟื้นตัวจากที่ขาดทุน 2.14 หมื่นล้านบาทในปี 2563 โดยที่กลุ่มโรงแรมคาดว่าจะฟื้นตัวได้โดดเด่นหลังจากที่ในยุโรปได้เริ่มฉีดวัคซีน และในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 คาดว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย 

ในขณะที่ประเทศไทยแม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรง แต่การเร่งฉีดวัคซีน คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาส 2/64 ส่วนกลุ่มร้านอาหารคาดว่าจะมีผลการดำเนินงานเป็นกำไรต่อเนื่อง และในปี 2564 บริษัทยังมีแผนการขายและเช่ากลับสินทรัพย์ราว 4 แห่ง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัท ทำให้ยังคงแนะนำ Trading 

สำหรับหุ้น MINT ที่ราคาเป้าหมาย 33.00 บาท โดยที่คาดว่าธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคทั้งประเทศ และที่ยุโรป ซึ่ง MINT มีสัดส่วนรายได้โรงแรมในยุโรปอยู่กว่า 60% ส่งผลให้มองว่าผลประกอบการของ MINT จะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่ม

ขณะที่ CENTEL ล่าสุด บล.เคทีบีเอสที แนะนำ "BUY" ราคาเป้าหมาย 38 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นราคาเป้าหมายที่ถูกปรับลดลงจากโอกาสที่ไตรมาสแรกปีนี้บริษัทจะขาดทุน 576 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2563 ประมาณ 45 ล้านบาท แต่ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายปี 2563 ซึ่งขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านบาท จากผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 2 ที่ทำให้ธุรกิจโรงแรมและอาหารหดตัวลงต่อ

ดังนั้น จึงปรับประมาณการผลการดำเนินงานในปีนี้ และปี 2565 ลดลง 84% และ 62% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 2 และ 3 โดยผลการดำเนินงานของ CENTEL คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปี 2565 จากการธุรกิจโรงแรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีหลังจากที่วัคซีนในประเทศเริ่มกระจายได้อย่างครอบคลุม

แต่ CENTEL ถือเป็นหุ้นที่มี cash flow และงบดุลที่แข็งแกร่งสุดในกลุ่ม โดยยังมี upside จากดีลธุรกิจอาหาร 1 ดีล ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรได้เลย และไม่มี downside เรื่องการตั้้งด้อยค่าสินทรัพย์จากผลกระทบโควิด-19 เหมือนคู่แข่งซึ่งตั้งไปแล้วในไตรมาสสุดท้ายปีก่อน

โดยประมาณการผลการดำเนินงานปี 2564 และปี 2565 ของบริษัทถูกปรับลดลงเหลือ 84% และ 62% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 2 และ 3 โดยคาดว่าจะขาดทุนสุทธิปีนี้ 1.7 พันล้านบาท จากเดิม 0.9 พันล้านบาท และในปี 2565 กลับมามีกำไรสุทธิ 244 ล้านบาท จากเดิม 648 ล้านบาท โดยมีการปรับ RevPar ลงเป็น 20% เทียบปีก่อน จากเดิมที่ เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบปีก่อน และปรับ SG&A to sale เพิ่มขึ้นเป็น 34% จากเดิมที่ 32%

นอกจากนี้ ยังมีการปรับ SSSG ลงเป็นบวก 8% จากเดิมที่บวก 10% เพื่อสะท้อนการบริโภคที่จะชะลอตัวลง จนทำให้ผลดำเนินงานไตรมาส 2/64 ยังขาดทุนต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งปีหลังและคาดผลการดำเนินงานของ CENTEL จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปีหน้า จาธุรกิจโรงแรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีหลังจากที่วัคซีนในประเทศที่จะมีการฉีดในอัตราเร่ง และจากมัลดีฟส์ที่เห็นการฟื้้นตัวได้ดีหลังจากที่มีการเปิดประเทศ

ส่วน ERW ถูกคาดว่าจะมีผลขาดทุนปกติ 480 ล้านบาทในไตรมาสแรก จากที่ขาดทุนปกติ 344 ล้านบาทใน ไตรมาสสุดท้ายปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันผลประกอบการในไตรมาสแรกคือ การที่โควิด-19 กลับมาระบาดในประเทศไทย ซึ่งทำให้ RevPar รวมลดลง 75% เทียบปีก่อน และ EBIT margin ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -90.6% เนื่องจากธุรกิจสะดุด อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมผ่านจุดต่ำสุดของไตรมาสไปแล้วในเดือนมกราคม 2564 และปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดจนสิ้นไตรมาสเนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 ลง

โดยคาดว่า RevPar รวมจะลดลง 75% เนื่องจาก occupancy rate ลดลงเหลือ 26% (จาก39% ในไตรมาส 4/63) และ ARR ลดลง 39% เทียบปีก่อน โดยผลการดำเนินงานของโรงแรมทุกกลุ่มแย่ลงจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม Hop Inn ยังคง outperform โดย RevPar ในไตรมาส 1/63 ติดลบเพียง 33% เทียบปีก่อน เมื่อเทียบกับ RevPar เฉลี่ยของโรงแรมกลุ่มอื่นๆ ที่ติดลบ 85%

สิ่งที่น่าสนใจคือ ERW จะมีบันทึกผลขาดทุนก้อนใหญ่จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งยังไม่ได้รวมไว้ในประมาณการไตรมาส 1/64 โดยคาดว่ารายการนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และไม่ส่งผลกระทบกับ debt covenant ของ ERW

ดังนั้น เมื่อคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินของ ERW ลงไป ประกอบกับการที่บริษัทกำหนดราคาใช้สิทธิ Right Offering ไว้ที่ระดับที่น่าสนใจที่ 1.00 บาท/หุ้น (สัดส่วนการใช้สิทธิ 1.25:1 และกำหนดขึ้น XR วันที่ 11 พฤษภาคม 2564) ทำให้ยังคงคำแนะนำ “ถือ” โดยเชื่อว่าการเพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นแบบ RO ของ ERW จะประสบความสำเร็จ และ ERW-W3 น่าจะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน

ทั้งนี้ บล.ทรีนิตี้ ประเมินทิศทางธุรกิจของ ERW ว่าในปี 2564 บริษัทยังคงมีผลประกอบการขาดทุนที่ 586 ล้านบาท และรายได้คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นที่ 4.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวคาดว่าจะสะดุดในช่วงไตรมาส 2/64 ที่เป็นช่วงวันหยุดยาวแต่มีการระบาดระลอก 3 เทียบปีก่อนที่รุนแรงกว่ารอบ 1 และ 2 ส่งผลให้คาดว่าในไตรมาสนี้อาจมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสูงกว่าในไตรมาสแรก

อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนป้องกันเทียบปีก่อน สามารถทำไปได้แล้วที่กว่า 1.1 ล้านราย จึงเชื่อว่าหากการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ในอัตราที่เร็วขึ้น จะส่งผลให้การท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และในปี 2564 ERW จะเน้นการเปิดตัวโรงแรมกลุ่ม Hop Inn ในประเทศ เนื่องจากเป็นกลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากเทียบปีก่อน ต่ำกว่าโรงแรมอื่นๆ จากกว่า 90% ของลูกค้าเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะเปิด Hop Inn ให้ครบ 100 แห่งภายในปี 2568 โดยในปัจจุบันมี Hop Inn ที่เปิดให้บริการแล้ว 44 แห่งทั่วประเทศ จึงปรับคำแนะนำลงเป็น “ถือ” ที่ราคาเป้าหมาย 4.35 บาท (ราคาหลังเพิ่มทุน 2.50 บาท)

สำหรับการที่ ERW ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จากทุนจดทะเบียน 2.51 พันล้านบาท เป็น 4.89 พันล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญไม่เกิน 2.37 พันล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) จำนวน 2.01 พันล้านหุ้น ตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราส่วนหุ้นสามัญเดิม 1.25 หุ้นต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.00 บาท (XR วันที่ 11 พ.ค.2564) และรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่ ERW-W3 (XW วันที่ 11 พ.ค.2564) ซึ่งจะออกให้ผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 359.64 ล้านหน่วย ที่อัตราการจัดสรร 7 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ โดยใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวมีอายุไม่เกิน 3 ปี และมีราคาใช้สิทธิที่ 3 บาท

การประกาศเพิ่มทุนในครั้งนี้คาดว่า ERW จะสามารถเพิ่มเงินสดในมือได้ราว 3.0 พันล้านบาท และจะส่งผลให้ระดับ D/E จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 3.2 เท่าจะสามารถปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.7-2.0 เท่า และคาดว่าเงินสดที่ได้มา ERW จะนำมาลงทุน Hop Inn ในประเทศ และที่ฟิลิปปินส์เพิ่ม

โดยสรุป จากมุมมองนักวิเคราะห์ต่อธุรกิจโรงแรม พบว่า หลายฝ่ายเชื่อว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นจะส่งผลให้ผลดำเนินงานไตรมาส 1/64 ของหุ้นในกลุ่มนี้ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม และจะขาดทุนต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2/64

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากการกระจายฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรในประเทศที่รวมเร็วขึ้น และการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วงหนุนให้ผลประกอบการของกลุ่มโรงแรมดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ภาพรวมอาจขาดทุนสุทธิแต่จะเป็นการขาดทุนสุทธิที่ลดลงจากปี 2563 และจะกลับมามีกำไรสุทธิอีกครั้งในปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขไม่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงมากกว่าหรือเท่ากับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน




กำลังโหลดความคิดเห็น