xs
xsm
sm
md
lg

"จองหุ้น IPO" เลือกรับหุ้นแบบไหนดี : ใบหุ้น หรือโอนหุ้นเข้าบัญชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากประเด็นคำถามของผู้ลงทุนเกี่ยวกับทางเลือกในการรับจัดสรรหุ้นจากการจองซื้อหุ้น IPO ว่า รับเป็นใบหุ้น นำหุ้นเข้าฝากในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือนำหุ้นฝากในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ แต่ละทางเลือกมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันอย่างไร

การนำหุ้นเข้าฝากในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์อยู่แล้ว และไม่ต้องการดูแลรักษาใบหุ้น ซึ่งผู้ลงทุนหรือบุคคลทั่วไปสามารถเปิดซื้อขายหลักทรัพย์เตรียมไว้แม้ยังไม่ได้ทำการซื้อขายในขณะนั้น ข้อดีของวิธีนี้คือ หุ้นพร้อมในบัญชี พร้อมซื้อขายได้ทันทีเมื่อมีการเปิดให้ทำการซื้อขายหุ้นนั้นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และในระยะยาวผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลรักษาใบหุ้นอีกด้วย

การนำหุ้นเข้าฝากในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ หรือบัญชี 600 เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยังไม่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต้องการลงทุนระยะยาว และไม่ต้องการดูแลรักษาใบหุ้น ข้อดีของวิธีนี้คือ หุ้นพร้อมในบัญชีพร้อมโอนไปยังบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ใช้เวลา 1 วันสามารถซื้อขายได้ และในระยะยาวผู้ลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลรักษาใบหุ้น

การรับใบหุ้น เนื่องจากผู้ลงทุนยังไม่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งการรับใบหุ้นอาจทำให้พลาดโอกาสในการสร้างกำไรจากการซื้อขายในช่วงสัปดาห์แรกที่หุ้นนั้นๆ เริ่มซื้อขาย และอาจมีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงมากขึ้น เช่่น ค่าใช้จ่ายเช่าตู้นิรภัย ใบหุ้นชำรุด ใบหุ้นสูญหาย เป็นต้น “เมื่อผู้ลงทุนจองซื้อหุ้นครั้งต่อไป เลือกรับหุ้นโดยนำฝากในบัญชี โดยเลือกฝากในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อลดภาระดูแลใบหุ้น เพื่อเตรียมพร้อมซื้อขายได้รวดเร็วกว่าการรับใบหุ้น” ซึ่งการนำฝากหุ้นไว้ในระบบของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (depository system) ทั้งฝากไว้ในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ หรือฝากไว้ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เปิดไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ ช่วยผู้ลงทุนลดภาระและลดความเสี่ยงในการดูแลรักษาใบหุ้น และหุ้นอยู่ในระบบอยู่แล้ว พร้อมซื้อขาย

ในขั้นตอนการจองซื้อหุ้นสามัญที่เปิดซื้อขายเป็นครั้งแรกให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป (Initial Public Offering : IPO) ของบริษัทจดทะเบียน ผู้ที่ต้องการจองซื้อหุ้นจะต้องกรอกข้อมูลต่างๆ ในใบจองซื้อหุ้นหรือในระบบการจองซื้อหุ้น ซึ่งจากการเปิดจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนแห่งนั้นใช้นโยบายการกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง หรือให้สิทธิผู้ลงทุนรายย่อยก่อน (small lot first) อีกทั้งให้สาขาธนาคารพาณิชย์ช่วยในการกระจายหุ้นหรือรับจองซื้อหุ้น ทำให้การกระจายหุ้นดังกล่าวเข้าถึงผู้มีเงินออมและต้องการลงทุนรายใหม่ๆ ที่ยังไม่คุ้นเคยในการทำธุรกรรมในตลาดหุ้นไทย จึงเกิดมีประเด็นสอบถามจำนวนมากเกี่ยวกับการกรอกข้อมูลในใบจองซื้อหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุถึง 1 ใน 3 ทางเลือกในการรับการจัดสรรหุ้นตามรายการจองซื้อหุ้น เช่น แต่ละทางเลือกคืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร และใช้หลักเกณฑ์ใดในตัดสินใจเลือก

จากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ตามมาตรา 225 ที่กล่าวถึง การฝากหลักทรัพย์ในระบบของตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ฝากหุ้นเข้ามาในระบบ ต้องมีหน้าที่รวบรวมรายชื่อของผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของหลักทรัพย์ตามเกณฑ์และวิธีการที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งจากที่ระบุนี้เท่ากับรองรับสถานะของหุ้นในระบบเทียบเท่าการถือครองใบหุ้น ส่งผลให้ผู้ลงทุนสามารถเชื่อมั่นได้ถึงความเป็นเจ้าของหุ้นของตนที่ฝากไว้ในระบบ ผู้ลงทุนที่ต้องการนำใบหุ้นฝากเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ก่อน

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ตามเงื่อนไของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์ได้ที่ https://www.set.or.th/th/investnow/open_account_2020.html จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จำนวนบัญชีที่ผู้ลงทุนเปิดไว้สำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 4,204,524 บัญชี

ข้อดีของการนำหุ้นฝากเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์

พร้อมซื้อขายได้ทันทีที่มีการเปิดซื้อขายหุ้นนั้นๆ เนื่องจากหุ้นอยู่ในระบบแล้ว

ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลรักษาใบหุ้น

สามารถตรวจสอบจำนวนหุ้นในการถือครองได้ตลอดเวลาจากโปรแกรมที่ผู้ลงทุนใช้ในการซื้อขาย

กรณีใช้หุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถทำการจำนำในระบบ

ข้อจำกัดของการนำหุ้นฝากเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์

การนำหุ้นฝากผ่านบริษัทหลักทรัพย์จะอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ลงทุนต้องไว้ใจในระบบความปลอดภัย และความเป็นมืออาชีพของบริษัทหลักทรัพย์ และมั่นใจได้ว่าบริษัทหลักทรัพย์นั้นๆ จะปฏิบัติตาม “แนวทางการปฏิบัติที่ดีของผู้แนะนำการลงทุน” ที่ต้องดูแลหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน ไม่ทุจริตหรือยักยอกหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน

การฝากหุ้นภายใต้บัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer Account) หรือบัญชีผู้ฝากหลักทรัพย์หมายเลข 600 หรือ “บัญชี 600” เป็นอีกทางเลือกที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุน จึงเปิดบัญชีไว้ที่ศูนยรับฝากหลักทรัพย์ (TSD) เพื่อให้เป็นช่องทางให้ผู้ลงทุนฝากหุ้นไว้ต้องการฝากหุ้นไว้ในระบบ สามารถแจ้งความจำนงกับ TSD ได้โดยตรง ซึ่งเพิ่มเติมจากวิธีการเดิมที่ผู้ถือหุ้นจะต้องฝากหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือถือครองใบหุ้นเท่านั้น ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้เปิดบัญชี 600 ไว้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนแล้ว

ข้อดีของการนำหุ้นฝากเข้าบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์

หุ้นอยู่ในระบบ พร้อมโอนเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อทำการซื้อขาย

ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลรักษาใบหุ้น

สามารถตรวจสอบจำนวนหุ้นในการถือครองได้ตลอดเวลาจาก Investor Portal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ TSD ให้บริการข้อมูลผู้ถือหุ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถดูรายละเอียดการสมัครใช้บริการ Investor Portal ที่ https://www.set.or.th/tsd/th/investorportal/investorportal.html

ข้อจำกัดของการนำหุ้นฝากเข้าบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์

ไม่สามารถซื้อขายได้ทันที ต้องทำการโอนไปยังบัญชีซื้อขาย โดยสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 วันทำการ “ใบหุ้น” (Scrip) เป็นเอกสารแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของหุ้นสามัญ ซึ่งหากผู้ลงทุนต้องการนำหุ้นดังกล่าวซื้อขายในระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนต้องฝากใบหุ้นดังกล่าวฝากผ่านเข้าระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) โดยแจ้งความต้องการฝากใบหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ตนเองเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนประสงค์ที่จะถือครองใบหุ้น ผู้ลงทุนจะต้องรับผิดชอบใบหุ้นของตนเองซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการเก็บดูแลรักษาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากใบหุ้น ข้อดีของการรับใบหุ้น

ใช้เป็น “สินทรัพย์ค้ำประกัน” โดยสถาบันการเงินบางแห่งที่อนุญาตให้ผู้กู้ยืมเงินใช้ “หุ้น” เป็น “สินทรัพย์ค้ำประกัน” กำหนดให้ใช้ “ใบหุ้น” ค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยอมรับการจดแจ้งจำนำใบระบบ โดยดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์เกี่ยวกับการใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน (กรณี Scripless) โดยบริษัทหลักทรัพย์จะเป็นผู้ดำเนินการบันทึกรายการดังกล่าวในระบบงานของศูนย์รับฝากให้แก่ผู้ถือหุ้น

ผู้ลงทุนมีความสบายใจ อุ่นใจที่ได้เห็นใบหุ้น หรือมีความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของใบหุ้น 1 ข้อจำกัดของการรับใบหุ้น

อาจเสียโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการซื้อขายในสัปดาห์แรกของการซื้อขายหุ้นนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีผู้จองซื้อหุ้นจำนวนมากและเลือกรับใบหุ้นในการจัดสรร อาจส่งผลต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมและจัดพิมพ์ใบหุ้นนานกว่าบริษัทที่มีผู้รับใบหุ้นน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ใน “พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535” มาตรา 55 กำหนดให้บริษัทต้องจัดทําใบหุ้นมอบให้แก่ผู้ซื้อภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัท หรือนับแต่วันที่ได้รับชําระเงินค่าหุ้นครบถ้วนในกรณีที่บริษัทจําหน่ายหุ้นที่เหลือ หรือจําหน่ายหุ้นที่ออกใหม่ภายหลังการ จดทะเบียนบริษัท หรือบริษัทจดทะเบียนอาจกำหนดไว้ในใบจองหุ้น เช่น การจัดทำและจัดส่งใบหุ้นให้ผู้ลงทุนที่ได้รับการจัดสรรภายใน 15 วันทำการ นับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการจองซื้อ อีกทั้งการจัดส่งใบหุ้นเป็นการจัดส่งตามที่อยู่ที่ผู้ลงทุนที่ระบุไว้ในใบจองซื้อหุ้น ถ้าผู้ลงทุนระบุข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนจัดจำหน่าย จัดทำฐานข้อมูลผู้จองซื้อหุ้นไม่ครบถ้วน อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับใบหุ้น เนื่องจาก “ใบหุ้น” อาจตีคืนกลับมาที่ TSD เนื่องจากไปรษณีย์ไม่สามารถจัดส่งเอกสารให้ตามที่อยู่ที่ระบุ และอาจทำให้ผู้ลงทุนพลาดโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการซื้อขายในสัปดาห์แรกของการซื้อขายหุ้นนั้น นอกจากนี้ ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในระบบของตลาดหุ้นไทย ผู้ลงทุนต้องฝากหุ้นในระบบภายใต้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองที่เปิดไว้ที่บริษัทหลักทรัพย์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หลังจากที่ผู้ลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้วก็สามารถนำใบหลักทรัพย์ไปฝากบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำฝากเข้าระบบของ TSD หลังจาก TSD ตรวจสอบใบหุ้นและบันทึกยอดหุ้นเข้าระบบ ผู้ลงทุนจะสามารถเข้าไปดูในระบบการซื้อขายหุ้นออนไลน์ และเมื่อยอดหุ้นจะปรากฏในบัญชีซื้อขายดังกล่าว ผู้ลงทุนจึงจะสามารถซื้อขายหุ้นนั้น

(ทั้งนี้ โดยปกติกระบวนการนี้จะใช้ดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 1 วันทำการ แต่ทั้งนี้อาจใช้เวลามากกว่าปกติ หากมีการนำฝากใบหุ้นฝากเข้าระบบปริมาณมาก)

อาจมีค่าใช้จ่ายหรือความเสี่ยงเกี่ยวกับการเก็บรักษาใบหุ้น ซึ่งเป็นภาระให้ผู้ลงทุนคอยติดตามดูแล เช่น ค่าเช่าตู้นิรภัยในการเก็บรักษาใบหุ้น ใบหุ้นชำรุด ใบหุ้นสูญหาย หรือมีความเสี่ยงจากการถูกปลอมแปลงใบหุ้น เป็นต้น

“เมื่อผู้ลงทุนจองซื้อหุ้นครั้งต่อไป เลือกรับหุ้นโดยนำฝากในระบบเพื่อลดภาระดูแลใบหุ้น และพร้อมซื้อขายได้รวดเร็วกว่าการรับใบหุ้น นอกจากนี้ หากปัจจุบันผู้ลงทุนถือครองใบหุ้นและต้องการลดภาระการดูแล สามารถนำใบหุ้นติดต่อบริษัทหลักทรัพย์เพื่อฝากเข้ามาในระบบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น