ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงว่า ตลท.ได้พิจารณาชะลอการปรับการคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ให้ความเห็นส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว
สืบเนื่องจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปรับปรุงวิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization) เป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยในการคำนวณดัชนี (FreeFloat Adjusted Market Capitalization) ซึ่งเสนอที่จะเริ่มดำเนินการโดยมีผลกับดัชนี SET50 ดัชนี SET100 และดัชนี SETHD ตั้งแต่เดือน ก.ค.64 เป็นต้นไป และทยอยมีผลกับดัชนีอื่นๆ ในปี 65-66
สำหรับผู้ตอบแบบสอบถาม ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน ที่ปรึกษาทางกฎหมายและผู้ลงทุนทั่วไป
ผู้ให้ความเห็นส่วนมากไม่เห็นด้วย โดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
- ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว
- การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการคำนวณส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น และต่อผู้ลงทุน
- ควรใช้ Free Float เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก หรือเกณฑ์ดำรงแต่ไม่ควรนำมาถ่วงน้ำหนักใช้คำนวณดัชนี
- ข้อมูล free Float ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เช่น การถือหุ้นผ่าน Nominee ต่างชาติ
- การใช้ FF มาคำนวณน้ำหนักหุ้นอาจไม่เหมาะกับหุ้นไทย เนื่องจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจที่เป็น Family Owned
- การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีเจ้าของที่แท้จริง ไม่ใช่การส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนและบริษัทจดทะเบียนให้ก้าวหน้า เพราะบริษัทเหล่านี้มักขาดความเต็มที่ในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเจ้าของที่แท้จริงขายออกไปแล้ว
- การปรับวิธีการคำนวณดัชนีไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องหุ้น Free Float ต่ำ และหากตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสงค์ดำเนินการให้พิจารณาดำเนินการกับดัชนีใหม่
ขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ไม่เห็นด้วย และได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่ม ดังนี้
- ควรพิจารณาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของทุกดัชนีอย่างครบถ้วน การปรับด้วย Free Float อาจเป็นผลให้มีหุ้นบางกลุ่มได้น้ำหนักมาก แต่ทำให้ดัชนีไม่น่าสนใจ
- ควรประกาศล่วงหน้าก่อนมีผลเป็นระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบและเตรียมตัว
- ควรเผยแพร่ค่า Free Float, Corporate Action และวิธีการคำนวณดัชนีให้ผู้ลงทุนทราบ
- ควรพิจารณาใช้แนวทางเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย เช่น การเพิ่ม Free Float ขั้นต่ำ การแก้ไขค่านิยามของ Free Float และการให้บริษัทที่มี Free Flot ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องปฏิบัติเพิ่มเติม หรือขึ้นเครื่องหมายเตือนนักลงทุน