การประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 โดยมีผลกำไรสุทธิเติบโตกว่า 100% กระตุ้นให้ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET พุ่งทะยาน ราคาชนเพดานสูงสุด 30% และปลุกให้หุ้นบริษัทหลักทรัพย์อีกหลายบริษัทคึกคักตาม
MBKET แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกผ่านตลาดหลักทรัพย์ หลังปิดการซื้อขายหุ้นวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดย มีกำไรสุทธิ 276.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 142.05 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 105.47%
ราคาหุ้น MBKET พุ่งขึ้นทันทีที่เปิดการซื้อขายวันที่ 30 เมษายน โดยเปิดที่ราคา 12 บาท ก่อนที่จะมีแรงซื้อเข้ามาไล่ราคา จนขึ้นไปชนเพดานสูงสุดที่ 12.50 บาท และยืนราคาสูงสุด 30% กระทั่งปิดการซื้อขาย เพิ่มขึ้น 2.85 บาท หรือเพิ่มขึ้น 29.53% มูลค่าซื้อขาย 111.34 ล้านบาท จากก่อนหน้าซื้อขายเพียงวันละไม่กี่ล้านบาท
การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงของ MBKET ปลุกให้หุ้นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์คึกคักตามไปด้วย เช่น หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP และบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI
หุ้นบริษัทหลักทรัพย์หรือหุ้นโบรกเกอร์หลุดจากทำเนียบหุ้นยอดนิยมมาหลายปี แม้ผลประกอบการจะดี ค่าพี/อี เรโช ต่ำ และอัตราเงินปันผลสูงก็ตาม เนื่องจากนักลงทุนมีภาพหลอนหุ้นบริษัทหลักทรัพย์
ความผันผวนรุนแรงของราคาหุ้นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันตัดราคาค่านายหน้า หรือค่าคอมมิชชันซื้อขายหุ้น จนผลประกอบการตกต่ำ ทำให้นักลงทุนมีทัศนคติในด้านลบกับหุ้นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์
มองว่าผลประกอบการกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์มีความไม่แน่นอน จึงไม่ใช่หุ้นที่จะถือเพื่อการลงทุนระยะยาวได้ และพากันหลีกเลี่ยงลงทุน แม้ปัจจัยนำพื้นฐานหุ้นบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งจะแข็งแกร่งไม่แพ้หุ้นกลุ่มอื่นก็ตาม
MBKET มีค่าพี/อี เรโช 14.73 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.80% โดยปี 2563 อัตราเงินปันผลตอบแทน 9.72% และปี 2562 อัตราเงินปันผลตอบแทน 10.15%
ASP ค่าพี/อี เรโช 17.52 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 5.20% โดยปี 2563 อัตราเงินปันผลตอบแทน 5.96% และปี 2562 อัตราเงินปันผลตอบแทน 11.49%
ส่วน KGI ค่าพี/อี เรโช 18.07 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.85% ปี 2563 อัตราเงินปันผลตอบแทน 8.97% และปี 2562 อัตราเงินปันผลตอบแทน 8.63%
ปัจจัยพื้นฐานหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ย้อนหลัง 3 ปีส่วนใหญ่ดูดีหมด แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มองข้ามหุ้นกลุ่มนี้เพราะกลัวความไม่นิ่งของการแข่งขันค่านายหน้าซื้อขายหุ้นและผลประกอบการ
ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ถูกจัดเป็นหุ้นยอดนิยมของนักเก็งกำไร ราคาจะขึ้นลงอย่างหวือหวา โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดหุ้นคึกคัก มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น นักลงทุนจะแห่เข้าซื้อหุ้นไฟแนนซ์เพื่อดักเก็งกำไรผลประกอบการที่จะเติบโตตามมูลค่าซื้อขายหุ้น
แต่หลังปี 2540 โดยเฉพาะเมื่อเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหุ้น และไม่มีอัตราเพดานค่านายหน้าขั้นต่ำ ทำให้เกิดการแข่งขันตัดราคาค่านายหน้ากันอย่างรุนแรง และโบรกเกอร์บางแห่งคิดอัตราค่านายหน้าลูกค้ารายใหญ่ต่ำกว่า 0.03% หรือมูลค่าซื้อขายหุ้น 1 ล้านบาท คิดค่านายหน้าไม่ถึง 300 บาท จนบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ผลประกอบการขาดทุน
ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ดิ่งลงอย่างหนัก นักลงทุนเสียหายจนเข็ดขยาดหุ้นบริษัทหลักทรัพย์มายาวนาน
การที่หุ้นบริษัทหลักทรัพย์เริ่มกลับสู่ความคึกคัก นอกเหนือจากผลประกอบการที่เติบโตแล้ว มูลค่าการซื้อขายหุ้นยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เพราะนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ทยอยกันเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น เฉพาะเดือนมกราคมปีนี้มีการเปิดบัญชีใหม่ซื้อขายหุ้นกว่า 2 แสนบัญชี ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเปิดบัญชีเพื่อจองหุ้นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
ส่วนมูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยไตรมาสแรกปีนี้ พุ่งขึ้นเป็น 7.24 หมื่นล้านบาทต่อวัน และส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ทั้งระบบมีรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น
หุ้นบริษัทหลักทรัพย์เริ่มกลับมาสู่ความน่าสนใจอีกครั้ง แต่จะคืนสู่หุ้นเก็งกำไรยอดนิยมเหมือนอดีตหรือไม่ยังต้องเฝ้าดูอยู่
MBKET จุดพลุนำขึ้นมาแล้ว และไม่รู้ว่ารอบนี้หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์จะจุดติดหรือไม่