ปตท.สผ. โกยกำไรไตรมาสแรกปีนี้ทะลุ 11,533.68 ล้านบาท ผลดีจากราคาขายน้ำมันสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก คาดอุปสงค์น้ำมันดิบจะฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 และจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไตรมาส 3 ปี 64 ในวนของอุปทานน้ำมันดิบ กลุ่ม OPEC+ ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตอย่างเคร่งครัด PTTEP คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยของ PTTEP ไตรมาส 2 ปี 2564 และทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 416,000 และ 405,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามลำดับ
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) และบริษัทย่อยแจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกปี 64 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 11,533.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,612.48 ล้านบาท หรือ 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ สรอ.) ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 81 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหลักจากราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจาก 31.09 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 27.96 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และยังมีการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 สุทธิกับการรับรู้ขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอีกด้วย โดยบริษัทมีระดับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน จำนวนรวมทั้งสิ้น 803 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ในระดับร้อยละ74
สำหรับงวดนี้ PTTEP มีรายได้รวม 1,779 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ดอลลาร์ สรอ.) (เทียบเท่า 54,034 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ที่มีรายได้รวม 1,771 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 55,335 ล้านบาท) ในส่วนของค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 1,213 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 36,764 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 156 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 1,057 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 33,055 ล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ไตรมาสแรกปีนี้เทียบไตรมาสแรกปี 63 ที่มีปริมาณการขายเฉลี่ย 363,411 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน พบว่าปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการบงกช และโครงการคอนแทร็ค 4 เนื่องจากผู้ซื้อรับก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงการพีดีโอ (แปลง 6) ที่มีการขายน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยลดลงเป็น 40.38 ดอลลาร์
สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (สำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 : 44.81 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ)
ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เป็นผลจากการใช้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มากขึ้นในหลายประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและการเปิดเสรีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 และจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไตรมาส 3 ปี 2564 ในส่วนของอุปทานน้ำมันดิบ กลุ่ม OPEC+ ยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตอย่างเคร่งครัด และไม่เร่งรัดในการเพิ่มปริมาณการผลิตที่ได้ปรับลดไปในปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยพยุงตลาดน้ำมันดิบโลกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความกังวลของการกลายพันธุ์ที่จะส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นและจากความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในบางประเทศอาจส่งผลให้หลายประเทศต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอีกครั้ง
โดย PTTEP คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยของไตรมาส 2 ปี 2564 และทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 416,000 และ 405,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามลำดับ โดยปริมาณการขายเฉลี่ยของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า มีสาเหตุหลักจากการเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ของโครงการมาเลเซีย-แปลงเอชและโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ รวมถึงการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 ในโครงการโอมานแปลง 61 โดยการซื้อขายได้มีผลสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564