เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ไตรมาสแรกปีนี้โตสวนกระแสโควิด-19 มีรายได้ 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และกำไร 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอาเซียน และราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น พร้อมรุกตลาดเวียดนามภายในไตรมาส 2 เต็มสูบ
บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า สำหรับผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปี 2563 หลายประเทศยังคงเผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้ากว่าที่เคยคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในอาเชียนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในบางประเทศ เป็นผลมาจากการมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ดี รวมถึงการฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจหดตัวของประเทศจีนโดยมีปัจจัยหลักมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งและภาคการผลิตที่กลับมาดำเนินธุรกิจได้
ในขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบทำให้ผู้ผลิตกระดาษบางรายไม่สามารถเดินการผลิตได้เต็มที่ ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อในภูมิภาคจึงปรับตัวสูงขึ้น
ดังนั้น ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 SCGP มีรายได้จากการขายเท่ากับ 27,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอาเซียน ราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้น และการควบรวมกิจการบริษัท Go-Pak UK Limited (หรือ Go-Pak) ผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในสหราชอาณาจักร และบริษัท Bien Hoa Packaging Joint StockCompany (หรือ SOVI) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษในประเทศเวียดนาม
ทั้งนี้ บริษัทมีการเติบโตจากภายใน (organic growth) อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (หากไม่รวมรายได้จากการขายของ Go-Pak และ SOV/I) ในส่วนของ EBITDA เท่ากับ 5,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA margin ที่ 19% จากฐานลูกค้าที่กว้างขวางหลากหลาย กลยุทธ์การมอบโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสวยงามและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น นวัตกรรมการยืดอายุของผักและผลไม้โดยใช้ Optibreath และการป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ของสินค้าโดย Odorlock
ส่งผลให้ SCGP มีกำไรสำหรับงวดที่ 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 8% ทั้งนี้ SCGP ยึดมั่นที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำให้เกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบบูรณาการ เพื่อบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม SCGP ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ รวมถึงการผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับการเติบโตจากภายใน SCGP ได้เริ่มดำเนินการขายเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบกดขึ้นรูปด้วยความร้อน (Thermoform) โดยบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (หรือ VisY เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตรวมของ Visy เพิ่มขึ้น 347 ล้านชิ้น หรือประมาณ15-20% ของกำลังการผลิตรวม การขยายกำลังการผลิตในครั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของลูกค้าในกลุ่มอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง
นอกจากนั้น บริษัทได้เริ่มดำเนินการขายเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ภายใต้ บริษัท PT Fajar Surya (หรือ Fajar ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ต้นต่อปี การดำเนินการในครั้งนี้จะสามารถขยายฐานตลาดในเมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการขยายธุรกิจแบบเติบโตจากภายนอก (Inorganic growth) โดยใช้กลยุทธ์แบบเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Mergers and partnership) SCGP ได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นเพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 70% ใน Duy TanPlastics Manufacturing Corporation (หรือ Duy Tan) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดย Duy Tan เป็นผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Rigid Packaging) ชั้นนำในประเทศเวียดนาม และมีฐานลูกค้าเป็นบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเวียดนาม การลงทุนในครั้งนี้จะเติมเต็มกลยุทธ์ T modelของ SCGP ในประเทศเวียดนามให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกและกระดาษ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2564