บล.เอเซียพลัส เปิดโผหุ้นได้รับผลกระทบหลัง กทม.ล็อกดาวน์ 31 สถานที่เสี่ยง ระบุมี 5 กลุ่มเสี่ยงโรงหนัง สปา ร้านอาหาร ค้าปลีก ขณะที่ประเมินแผนคุมโควิด-19 ระลอกนี้อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด จ่อหั่นเป้าจีดีพีลงต่ำกว่า 2/6% ในเดือนหน้า หลังกิจกรรม ศก.หยุดชะงัก
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์รายวันว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มจะถูกกดดันจากสถานการณ์โควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (New Case) ยืนเหนือ 2 พันรายติดต่อกัน 4 วัน โดยตัวเลขล่าสุด วานนี้ (26 เม.ย.) ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,048 ราย และเสียชีวิต 8 ราย
ขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนทั่วประเทศไทยที่ได้รับอย่างน้อยเข็มแรกรวม 1.1 ล้านราย หรือ 1.61% ทำให้ช่วงวันหยุดที่ผ่านมาแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะ กทม. (ราว 50% ของ GDP) มีคำสั่งเข้มงวดกิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้า หรือกึ่ง Lockdown เช่น สั่งปิดเพิ่ม 31 สถานที่ บังคับใส่แมสก์ ฝ่าฝืนมีความผิด ระยะเวลามีผล 26 เม.ย.-9 พ.ค.64 รวมเป็นเวลา 14 วัน
เตรียมหั่นเป้าจีดีพีเดือนหน้า มองผลกระทบ ศก. นานกว่าคาด
ทั้งนี้ บล.เอเซียพลัส ประเมินผลกระทบการเข้มงวดกิจกรรมเศรษฐกิจในรอบนี้ถือว่ายืดเยื้อมากกว่าก่อนหน้าที่คาด โดยประเมินผลกระทบต่อคาดการณ์เศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้สูงจะเห็นการหดตัว QoQ ของ GDP ปี 64 รวม 2 ไตรมาสติดต่อกัน และบริษัทมีโอกาส Revise Down คาด GDP Growth ปี 64 ปัจจุบัน 2.6%yoy ลงในเดือนหน้า หลังจากสภาพัฒน์ประกาศ GDP Q1/64 และจากนี้คาดว่าจะเห็นกระแสหน่วยงานของรัฐทยอยปรับลด GDP ลงต่ำกว่า 2% (ล่าสุด เริ่มเห็นการปรับลงมาอยู่ที่ 1.5-1.8%yoy)
ประเมิน 5 กลุ่มรับผลกระทบกึ่งล็อกดาวน์
เชื่อว่าผลกระทบต่อหุ้นที่จดทะเบียนในตลาด เอเซียพลัส ประเมิน Sentiment เชิงลบกดดันราคาหุ้นใน 5 กลุ่ม เช่น กลุ่มโรงภาพยนตร์ MAIOR กลุ่มสปา เช่น SPA กลุ่มร้านอาหาร เช่น M, AU กลุ่มร้านค้าปลีก เช่น CPALL, BJC
กลุ่มโรงภาพยนตร์ หุ้น MAJOR บริษัทประกาศปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.64 โดยมีกำหนดระยะเวลา 14 วัน ทั้งหมด 24 สาขา เฉพาะในกรุงเทพฯ จากทั้งหมด 172 สาขา
ASPS ประเมินว่าแม้ว่าสัดส่วนรายได้หนังในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีสัดส่วนราว 55% ของรายได้ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจำกัด เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 14 วันที่ประกาศปิดให้บริการชั่วคราว ไม่ได้มีหนังที่มีแนวโน้มทำรายได้สูงเข้าฉาย และเป็นการประหยัดต้นทุนกว่าการเปิดโรงหนังต่อไปในสถานการณ์ที่คนงดทำกิจกรรมนอกบ้าน
กลุ่มค้าปลีก แบ่งเป็น CRC, BJC, HMPRO, ILM, COM7 และ SPVI กลุ่มห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า แม้รัฐยังไม่ประกาศ Lockdown เต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่าเริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้นจากผู้ติดเชื้อพุ่งสูง โดยประเมินสร้างแรงกดดันต่อ SSSG มากกว่าการระบาดในระลอกที่ 2 (ช่วง ธ.ค.63) แต่ทั้งนี้ คาดผลกระทบยังอยู่ในระดับน้อยกว่ารอบแรก (ช่วงเม.ย.63) เนื่องจากผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวได้แล้ว
CPALL (7-11, Lotus), BJC (Mini Big C) และ CRC (Family Mart) กลุ่มร้านสะดวกซื้อ คาดน่าจะรับผลกระทบมากสุดในกลุ่ม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสียเวลาทำการมากสุด (ราว 1 ใน 4 ของการให้บริการปกติ) แม้ส่วนใหญ่ยังเป็นช่วงกลางคืนไม่ใช่รายได้หลัก แต่ประเมินเห็นผลกระทบมากขึ้น เทียบกับการระบาดระลอกที่ 2 (ช่วง ธ.ค.63) ทั้งนี้ คาดผลกระทบยังอยู่ในระดับน้อยกว่ารอบแรก (ช่วง เม.ย.63) เนื่องจากผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวได้แล้ว
ภาพรวมแม้เห็นผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวต่อกลุ่มมากขึ้น คาดกดดันราคาหุ้นค้าปลีกในระยะนี้ แต่ภาพการฟื้นตัวในระยะถัดไปที่คาดหวังได้ในครึ่งปีหลัง 64 จากความเป็นไปได้การเร่งหาและแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ประเมินเป็นโอกาสสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งที่ยังมี Upside เช่น CPALL (ราคาเป้าหมาย 74 บาท) MAKRO (ราคาเป้าหมาย 44 บาท) CRC (ราคาเป้าหมาย 38 บาท) และ Growth Stock SPVI (ราคาเป้าหมาย 6.92 บาท) หากราคาหุ้นปรับฐานสะท้อนประเด็นดังกล่าว