ปัจจุบัน เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแพร่หลายมากขึ้น ทั้งการเปิดตัวโครงการอสังหาฯ ที่เจาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือการพัฒนาโซลูชันใหม่ให้เลือกนำไปปรับใช้กับบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการนำเสนอ “Reverse mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเอง แต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัยและต้องการมีรายได้รายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
โดยหลักการทำงานจะมีรูปแบบเหมือนการทยอยขายบ้านให้ธนาคาร ซึ่งธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้แล้วจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้น และยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งผู้กู้นั้นเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความต้องการมีบ้านของผู้สูงอายุพร้อมทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 64 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และเมื่อถึงปี 74 ก็จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดเพื่อเจาะกลุ่ม Silver Age หรือผู้บริโภคสูงวัย ซึ่งมีกำลังซื้อสูง จาก ผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study พบว่า ผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่ใหม่เนื่องจากความต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากถึง 44% ถัดมาคือ ความต้องการไปอยู่อาศัยในทำเลหรือ บรรยากาศใหม่ 31% อันดับ 3 ให้ความสำคัญกับความสะดวกที่มากขึ้น เช่น อยู่ใกล้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียน 26% และอันดับ 4 การซื้อเพื่อลงทุนในสัดส่วนเท่ากันที่ 26% ขณะที่การซื้อบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้แก่สมาชิกในครอบครัวมีเพียง 15%
สำหรับ ปัจจัยภายนอกที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย คือ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยของทำเล โดยมีสัดส่วนที่เท่ากันอยู่ที่ 53% ตามมาด้วยทำเลที่ตั้ง 49% และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบทำเลที่ 49% เท่ากัน ส่วนช่องทางในการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อของผู้สูงวัย พบว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางยอดนิยมสูงถึง 62% ตามมาด้วยเว็บไซต์ของโครงการ 56% และเว็บพอร์ทัลด้านอสังหาฯ 47% เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวก ช่วยให้ค้นหาข้อมูลได้รวดเร็ว หลากหลายมากพอใช้ประกอบการพิจารณา โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่จะเลือกปรึกษาและหาข้อมูลเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และครอบครัว
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการสนใจที่ชื่อเสียงของบริษัท 58% รองลงมาคือผลงานของผู้พัฒนาโครงการ 56% และคุณภาพของงานตกแต่งภายใน 55% โดยชื่อเสียงที่ดีของผู้พัฒนาจะส่งผลด้านบวกช่วยให้การประกาศขาย/เช่าในอนาคตง่ายขึ้น ต่างจากกรณีของผู้บริโภคที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลัก จึงพิจารณาจากคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ได้จากผู้พัฒนามาเป็นอันดับแรก (68%)