xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินภาพรวมแบงก์-โควิด-19 ยืดเยื้อกระทบรายได้-คุณภาพหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมข้อมูลสำคัญทางการเงินจากรายงานงบการเงินรวมของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทย่อย 9 แห่ง ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 46,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.4% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 63 ที่มีกำไรสุทธิ 31,259 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการลดลงของการตั้งสำรองฯ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นสำคัญ ขณะที่รายได้จากธุรกิจหลักยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีแรงกดดันจากการกระทบระบาดที่ยืดเยื้อของโควิด-19

ทั้งนี้ การลดลงของรายการในฝั่งค่าใช้จ่าย เป็นแรงหนุนสำคัญของกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2564 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (-11.4% QoQ) และการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (-10.4% QoQ) โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมักจะต่ำลงในไตรมาสแรกของทุกปี ขณะที่การตั้งสำรองฯ ที่ชะลอลงในไตรมาส 1/2564 นั้น เกิดขึ้นก่อนสัญญาณระบาดหนักของโควิด-19 ระลอกสามในประเทศ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถาบันการเงินจะกลับมาประเมินระดับการตั้งสำรองฯ อย่างระมัดระวังอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นในลักษณะ QoQ โดยในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากงบการเงินรวม 9 แบงก์เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% QoQ โดยแม้จะมีอานิสงส์จากการลดลงของต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย (โดยเฉพาะในกลุ่ม ธพ.ขนาดใหญ่) แต่ NIM ก็ยังคงอยู่ในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยชะลอลงมาอยู่ที่ 2.79% ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสินเชื่อธุรกิจที่ปล่อยใหม่ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องซึ่งมีดอกเบี้ยไม่สูง ดังนั้น ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อจึงอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงปกติ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เพิ่มขึ้น 2.6% QoQ นำโดยค่าธรรมเนียมรับจากธุรกิจจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ และตลอดจนค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน

สำหรับทิศทางในช่วงที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความสามารถและประสิทธิผลของมาตรการสกัดความรุนแรงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม และความคืบหน้าของการเร่งฉีดวัคซีน จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่เพียงมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่จะมีนัยต่อเนื่องต่อสถานการณ์ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์และบริษัทย่อย โดยเฉพาะใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ อัตราเติบโตของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นรายได้หลักของธนาคารพาณิชย์ และกลไก/มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องเร่งปรับให้ตรงจุดเหมาะสม

และหากสถานการณ์โควิด-19 รอบสามยืดเยื้อและกินเวลาหลายเดือนจะทำให้การเปิดประเทศทำได้ช้าลง และอาจส่งผลทำให้สถาบันการเงินต้องกลับมาแก้ไขปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น แม้ในประเด็นนี้จะมีมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ที่ช่วยทำให้สถาบันการเงินมีเวลาที่จะทยอยจัดการปัญหา แต่ในมุมของสถาบันการเงินคงจะกลับมายกการ์ดสูงสำหรับแนวทางการตั้งสำรองฯ ขณะที่กลไกการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นั้น แม้ข้อมูลล่าสุดจะสะท้อนว่า สัดส่วนลูกหนี้เข้ามาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินในภาพรวมจะขยับลงมาที่ประมาณ 15.4% ของสินเชื่อรวมในเดือน ก.พ.2564 แต่จำนวนบัญชีลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ก็เริ่มขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.89 ล้านบัญชีในเดือน ก.พ.2564 (จาก 1.78 ล้านบัญชีในเดือน ม.ค.2564) และตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2/2564 ตามความเสี่ยงของโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กดดันรายรับที่เป็นเม็ดเงินจริงของสถาบันการเงินได้รับในระยะถัดๆ ไป ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอาจทำให้มีโอกาสเห็นสถานการณ์ที่รายรับจากค่าธรรมเนียมไม่สามารถประคองแรงบวกไว้ได้ดังที่เห็นในไตรมาสแรกของปี
กำลังโหลดความคิดเห็น