xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์พาณิชย์ Q1 กำไร 4.6 หมื่นล้าน เน้นคุมต้นทุน-ปั๊มรายได้ค่าฟีชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกประจำปี 2564 ยังถูกกดดันจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาระการกันสำรองที่ยังต้องอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพหนี้ในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักอย่างการปล่อยสินเชื่อก็ยังถูกกดดันด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวได้สะท้อนออกมาให้เห็นได้จากกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกนี้

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารซีไอเอ็มบี (CIMBT) และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 64 ด้วยกำไรสุทธิรวม 46,625 ล้านบาท ลดลง 208 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 0.44%

โดยธนาคารพาณิชย์ จำนวน 8 แห่ง ยังมีกำไรสุทธิลดลง เป็นธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ มีกำไรลดลง 9.7% ธนาคารกรุงไทย มีกำไรลดลง 13.7% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีกำไรลดลง 7.4% ที่เหลือ ธนาคารทหารไทย มีกำไรลดลง 33.17% ธนาคารเกียรตินาคิน กำไรลดลง 1.4% ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กำไรลดลง 32.4% และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กำไรลดลง 68.4%

รายได้ค่าฟี-คุมต้นทุนหนุนกำไรเพิ่ม

ขณะมีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรเพิ่มขึ้น 44% ธนาคารไทยพาณิชย์ มีกำไรเพิ่ม 9% และธนาคารทิสโก้ มีกำไรเพิ่มขึ้น 18.7%

โดยธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 10,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3,252 ล้านบาท หรือ 44.10% โดยหลักๆ เกิดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จำนวน 1,923 ล้านบาท หรือ 19.30% เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ของสินทรัพย์ทางการเงินตามภาวะตลาด และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลง จำนวน 950 ล้านบาท หรือ 5.44% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.30% รวมทั้ง ธนาคารและบริษัทย่อยมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 8,650 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3,222 ล้านบาท หรือ 27.14% โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ของโควิด-19

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 64 จำนวน 10,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 103.2% จากไตรมาสก่อน ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 22,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความแข็งแกร่งของธุรกิจในการขยายฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และความมุ่งมั่นในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยในไตรมาส 1 ของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,376 ล้านบาท ลดลง 9.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ลดลงในสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ แม้ว่าสินเชื่อโดยรวมขยายตัว 8.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต้นทุนทางการเงินปรับตัวลดลง ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 14,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.2% จากปีก่อน การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นผลของการขยายฐานรายได้ของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการรับรู้กำไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตการลงทุนของธนาคารและบริษัทในเครือ

ขณะที่ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ภายใต้โจทย์ในการดำเนินธุรกิจที่มีปัจจัยท้าทายรอบด้าน กลุ่มทิสโก้ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1 ปี 64 จำนวน 1,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจตลาดทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการนำเสนอขายกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และดีลการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) รวมถึงทิสโก้มีกำไรพิเศษจากมูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งไตรมาสที่ผ่านมา การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตของทิสโก้ปรับตัวลดลง ตามคุณภาพสินทรัพย์ที่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระดับ NPL ที่ทรงตัวที่ 2.5% รวมทั้งบริษัทได้กันสำรองครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้ระดับเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูง และแม้ว่าการปล่อยสินเชื่อจะยังไม่กลับสู่การเติบโต แต่ถือเป็นไปตามนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของบริษัท

"ธุรกิจเสาหลักของทิสโก้ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจ Wealth Management ธุรกิจ Retail Banking และธุรกิจ Corporate Banking โดยทุกกลุ่มอยู่ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทแม่ และแต่ละกลุ่มมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขณะที่ความเสี่ยงกระจายตัวแยกกันชัดเจน จึงช่วยรักษาสมดุลด้านรายได้และทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลยุทธ์การทำงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง กลุ่มทิสโก้จะให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เลือกทำในสิ่งที่ชำนาญ รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากความชำนาญนี้ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า พร้อมปรับกระบวนการในการดำเนินการ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยในการต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า และเพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตและเติบโตได้อย่างยั่งยืน"

แบงก์ยังคงตั้งสำรองพิเศษรับความไม่แน่นอนสูง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 และสถานการณ์การฟื้นตัวของภาคส่วนต่างๆ ยังคงไม่เท่าเทียมกัน แม้ธนาคารจะยังคงมีการเติบโตเงินให้สินเชื่อจากสิ้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในปี 2563 ธนาคารได้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงกว่าที่ประเมิน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่สะดุดลงจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และในไตรมาส 1 ปีนี้ยังคงรักษาการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับที่สูงเช่นกัน

ธนาคารกรุงเทพ มองว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 รวมถึงมาตรการในการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดในบางพื้นที่ ขณะที่การส่งออกของประเทศไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มขยายตัวจากพัฒนาการการแจกจ่ายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงเผชิญต่อความท้าทายจากภาคการท่องเที่ยวที่มีความไม่แน่นอนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในไตรมาสต่อๆ ไป แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐจะมีส่วนช่วยพยุงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเช่นกัน

ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลา รวมถึงการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกัน รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินการออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ประสบปัญหาที่แตกต่างกัน และเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายหลังโควิด-19 ตามฐานวิถีชีวิตใหม่ ธนาคารมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลกำลังเผชิญในขณะนี้ ธนาคารจึงยังคงเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่ยังคงรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ด้านนายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออก สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลักที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งนี้ การกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ กรุงศรีจึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มาอยู่ที่ 2.2% จาก 2.5%

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายสำหรับภาคการธนาคารและเศรษฐกิจไทย กรุงศรีจะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจในบทบาทสำคัญของผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ โดยมุ่งให้ความสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การช่วยเหลือลูกค้าทั้งในส่วนของลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ และฟื้นฟูสังคมไทยโดยรวม ทั้งนี้ ธนาคารจะดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและผลิตภาพให้แข็งแกร่ง พร้อมสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่น่าประทับใจต่อไป

โควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มแรงกดดันต่อธุรกิจแบงก์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างของโควิด-19 ระลอก 3 จะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันและทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจต้องดำเนินการต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยคาดว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีทิศทางการเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่านมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูฯ) แต่ผลต่อรายได้ดอกเบี้ยอาจจะไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อฟื้นฟูในระยะแรกยังถูกกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 2.0% นอกจากนี้สถาบันการเงินโดยภาพรวมจะยังคงพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้อย่างระมัดระวังสำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ในส่วนอื่นๆ

สำหรับประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่อนั้น แม้มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อลูกหนี้ธุรกิจในบางกลุ่ม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพของระบบจะยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ และจะมีผลต่อแนวทางการตั้งสำรองฯ ของระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอีกครั้งท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสมือนกับการล็อกดาวน์บางส่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

สุดท้ายนี้ จังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เลื่อนเวลาออกไป ย่อมเป็นปัจจัยที่เพิ่มความท้าทาย หรือซ้ำเติมปัญหาการขาดสภาพคล่องของหลายๆ ธุรกิจ ซึ่งทำให้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ที่กฎหมายผ่านแล้วว่าจะดำเนินโครงการและการกระจายสภาพคล่องได้มากมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประสิทธิผลของมาตรการควบคุมสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเพียงพอของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยในกรณีที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันควบคุมการระบาดได้ดีและภาครัฐเดินหน้าเยียวยาเศรษฐกิจตามแผนที่วางไว้ คาดว่ามาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่มีอยู่น่าจะช่วยประคองสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการไปได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจต้องขยายเวลาช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้ครอบคลุมช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอน (ทั้งในเรื่องการสกัดการระบาดและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่) และอาจทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความจำเป็นที่ทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับมาทบทวนความเพียงพอ-เหมาะสมของมาตรการทางด้านการเงินและมาตรการอื่นๆ ที่มีอยู่ และอาจต้องปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการ หรือเตรียมกลไก มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของวิกฤตครั้งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น