ดุสิตธานีฉายภาพธุรกิจท่องเที่ยวไทย คาดผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่ หวังรัฐบาลเร่งกระจายวัคซีนช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่น ประเมินอุตฯ โรงแรมไทยทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2564 และสถานการณ์ท่องเที่ยวโลกเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนครึ่งหลังของปี 64 พร้อมปรับแผนรับความเสี่ยงเน้นปักธง 3 ประเด็นหลัก ทั้งการบริหารจัดการทางการเงิน การบริหารจัดการธุรกิจ และการปรับโครงสร้างองค์กร
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2564 ทำให้คาดว่าในครึ่งแรกของปี 2564 ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะถูกกดดันด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่ลดลง โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศจะทยอยดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2564 หลังจากที่ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 และสถานการณ์ท่องเที่ยวโลกจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2564 โดยคาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีมุมมองการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ
ระยะที่ 1 : เน้นการท่องเที่ยวในประเทศ (Focus on domestic tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวระยะทางสั้นๆ แบบส่วนบุคคลหรือแบบครอบครัว ขับเคลื่อนด้วยแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ท่องเที่ยวโดยพักแรมกับโรงแรมที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยตามมาตรฐาน Safety and Health Administration (SHA) ซึ่งกำหนดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ขณะที่ระยะที่ 2 : การท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก (Small cluster traveling) เป็นการเดินทางที่จำเป็นจริงๆ การเดินทางเพื่อธุรกิจ และการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ซึ่งเป็นการจับคู่เดินทางระหว่างเมืองกับเมืองที่ควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระยะที่ 3 : ผ่อนผันหรืออนุญาตให้เดินทางข้ามประเทศได้ (Travel ban relief) แต่คาดว่าจะไม่เห็นภาพการเดินทางไกลข้ามทวีปไปทั่วโลกอย่างในอดีต แนวโน้มจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคหรือทวีปเดียวกันมากกว่า ขณะเดียวกัน ประเมินว่าอาจได้เห็นการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียเติบโตสูงขึ้นเนื่องจากเอเชียน่าจะฟื้นตัวหรือควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ดีกว่าประเทศทางแถบอเมริกาหรือยุโรป ในขณะที่ลักษณะของนักท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูงจะเป็นกลุ่มมิลเลนเนียลมากกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ
ขณะที่ในส่วนของธุรกิจการศึกษาของกลุ่มบริษัทนั้น ประเมินว่าในปี 2564 ยังมีแนวโน้มที่ดีจากความต้องการเรียนเพื่อประกอบกิจการเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีหลักสูตรที่ตอบรับกับความต้องการดังกล่าว ทั้งในส่วนของหลักสูตรเพื่อการเสริมทักษะใหม่ (Upskill) และพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Reskill) ขยายตลาดทางการศึกษาไปสู่กลุ่มคนทำงานและกลุ่มคนต้องการเปลี่ยนอาชีพ และด้วยแนวโน้มธุรกิจการศึกษาที่ยังเติบโตได้ดีแม้จะอยู่ภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทฯ มองเห็นถึงโอกาสในการขยายธุรกิจการศึกษาให้เติบโตต่อเนื่องในอนาคต จึงวางแผนที่จะเปิดโครงการ Food School ในปี 2564 สำหรับผู้ที่สนใจเรียนศิลปะการทำอาหารและเครื่องดื่ม และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารหน้าใหม่ในอนาคต
ในส่วนของธุรกิจอาหาร บริษัทวางแผนเติบโตจากปี 2563 ทั้งจากธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันและความร่วมมือกับพันธมิตรในอนาคต โดยรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจให้บริการจัดการอาหาร (Catering) แก่โรงเรียนนานาชาติโดย Epicure Catering ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2564 จากการเข้าลงทุนธุรกิจในประเทศเวียดนามในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ KAUAI (คาวาอิ) มีแผนที่จะเปิด flagship store เพิ่มในช่วงกลางปีอีกด้วย
ทางด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในช่วงพัฒนาโครงการ โดยโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” จะเริ่มเปิดการขาย Residence กับลูกค้า (Official Launch) ในปี 2564 หลังจากดำเนินการขายในปีที่ผ่านมาเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในส่วนของการก่อสร้างในปี 2564 เน้นในส่วนงานคอนกรีตเสาเข็ม ทำกำแพงกันดิน และงานใต้ดิน ส่วนโครงการพัฒนาคอนโดมิเนียม “เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต” ยังวางเป้าหมายที่จะแล้วเสร็จเพื่อโอนในปี 2566
ขณะเดียวกัน ในปี 2564 บริษัทยังคงบริหารจัดการธุรกิจ โดยเน้นใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.การบริหารจัดการทางการเงิน (Financial Model) เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ปรับพอร์ตทรัพย์สินและเงินลงทุนเพื่อรับรู้กำไร (Asset Optimization) เพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ในปัจจุบันและในระยะยาว (Financial resilience) 2.การบริหารจัดการธุรกิจ (Business Model) เน้นความร่วมมือ (Collaboration) กับพันธมิตร เน้นความคิดใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ (Innovation) เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ จากการให้บริการที่แตกต่าง ตอบโจทย์ลูกค้า โดยคำนึงถึงภาพรวมของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจเดียวกันและในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย (Contribution) 3.การปรับโครงสร้างองค์กร (Organization Model) ทำ Transformation ในส่วนขององค์กร บุคลากร และเทคโนโลยีตามแผนงาน เพื่อให้ทีมงานและระบบงานมีความพร้อม ความยืดหยุ่น และคล่องตัว เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น