xs
xsm
sm
md
lg

“เงินติดล้อ” แม้แกร่งแต่เสี่ยง ธุรกิจแข่งขันสูง-กลุ่มลูกค้าน่าห่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาแผนระดมทุนล็อตใหญ่ “เงินติดล้อ” หลังเคาะราคา IPO 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น ที่จะเปิดจองแบบ Small Lot First เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจสินเชื่อ และนายหน้าประกันภัย หลัง COVID-19 หนุนความต้องการใช้บริการ แต่ P/E หุ้นอยู่ในระดับสูง อีกทั้งมีความเสี่ยงจากภาวะแข่งขันสูง และศักยภาพของกลุ่มลูกค้า

สัปดาห์นี้แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังผันผวนจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เตรียมเสนอขายหุ้น IPO โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น และเปิดให้เปิดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนจำหน่ายหุ้นทั้ง 3 ราย ในวันที่ 22-26 เมษายนนี้ ขั้นต่ำ 1,000 หุ้นในราคาเสนอขายสุงสุดที่ 36.50 บาทต่อหุ้น โดยจะใช้วิธีจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First (การจัดสรรให้ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน (หุ้น) จำนวนน้อยก่อน)

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR แสดงความเห็นว่า เงินติดล้อมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพด้านเงินทุนเพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต และสำหรับการ IPO ในครั้งนี้บริษัทให้สิทธิพนักงานของเงินติดล้อกว่า 5,000 คนมีโอกาสจองซื้อหุ้นที่ราคา IPO เพื่อร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตไปด้วยกัน

จากที่ผ่านมา TIDLOR ได้ผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการทางการเงินเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เรียบง่าย สะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมต่อลูกค้า เช่น สินเชื่อรถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถบรรทุก รถไถ รถแทรกเตอร์ เป็นต้น โดยมีฐานลูกค้าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด

ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ได้แก่ ประกันวินาศภัยแก่ลูกค้ารายย่อย ประกันชีวิตแก่ลูกค้าสินเชื่อ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล โดยบริษัทเป็น 1 ใน 3 ผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยที่จำหน่ายแก่ลูกค้ารายย่อย และในปี 2562-2563 เบี้ยประกันวินาศภัยที่จัดเก็บได้มีอัตราเติบโตสูงกว่าการเติบโตของภาพรวมเบี้ยประกันวินาศภัยทั้งตลาด 12.5 เท่า

โดยการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 907,428,600 หุ้น ประกอบด้วย 1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยบริษัทฯ ไม่เกิน 210,816,700 หุ้น 2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ไม่เกิน 284,144,300 หุ้น และ 3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. ไม่เกิน 412,467,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมกันไม่เกิน 39.10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

นอกจากนี้ อาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe หรือ Over-allotment Option) ไม่เกิน 136,114,200 หุ้น หรือไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมดเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นที่เสนอขายครั้งแรกภายในเวลา 30 วัน นับจากวันแรกที่เข้าซื้อขายหุ้นในกระดาน

ส่วนการกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 34.00-36.50 บาทต่อหุ้น บริษัทยืนยันว่าพิจารณาจากความสนใจในการลงทุนอย่างล้นหลามจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลก โดยบริษัทและผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ได้ร่วมลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้นกับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศที่เป็น Cornerstone Investors รวม 32 ราย โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท ที่ราคา 36.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายหุ้นเบื้องต้น หรือคิดเป็นประมาณ 69.0% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ทำให้ IPO ของหุ้น TIDLOR จะมีมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 3.54-3.80 หมื่นล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ซึ่งนับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ TIDLOR ประกอบด้วย FIL Investment Management, JP Morgan Asset Management, Lion Global Investors Limited, Neuberger Berman รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) บลจ.กรุงไทย บลจ.เอ็มเอฟซี เป็นต้น

สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญของเงินติดล้อในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บล.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม โดย บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent) และนักลงทุนรายย่อยที่สนใจสามารถจองซื้อหุ้น TIDLOR ได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2564 ถึง เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 เมษายน 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (สำหรับบุคคลที่เป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เท่านั้น)

“วีรภัทร์ วิริยะโกวิทยา” ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายบัญชีและการเงิน TIDLOR ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของ TIDLOR มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยมียอดสินเชื่อคงค้างปีที่ผ่านมา 5.13 หมื่นล้านบาท จาก 3.97 หมื่นล้านบาท และมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นแรงผลักดันมูลค่าและการเติบโตที่สำคัญ โดยมีค่าเบี้ยประกันวินาศภัยปี2563 ที่ระดับ 4.01 พันล้านบาท จาก 1.917 พันล้านบาท ในปี 2561

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำจากการได้รับการจัดอันดับเครดิตโดย Tris Rating ในระดับ A- ซึ่งสูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ในส่วนของการบริหารความเสี่ยง เรามีนโยบายการตั้งสำรองที่รัดกุม มีอัตราส่วน NPL Coverage สูงถึงร้อยละ 325.1 และสามารถรักษาอัตราส่วน NPL ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.7 ณ สิ้นปี 2563

ส่งผลให้บริษัทมีภาพรวมผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2561-2563 มีรายได้รวม 7.56 พันล้านบาท 9.45 พันล้านบาท และ 1.05 พันล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 1.30 พันล้านบาท 2.20 พันล้านบาท และ 2.41 พันล้านบาท ตามลำดับ เป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิอยู่ที่ 36%

ทั้งนี้ เงินติดล้อได้วางกลยุทธ์รักษาความเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ผ่านการขยายเครือข่ายอีกประมาณ 500 แห่งภายในปี 2566 โดยเพิ่มตัวแทนและพนักงานขายทางโทรศัพท์ และการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงินและเปลี่ยนผ่านกระบวนต่างๆ สู่ดิจิทัล (Digital Transformation) นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสในการสร้างการเติบโตจากการควบรวมธุรกิจหรือการเข้าซื้อกิจการในเชิงกลยุทธ์เพื่อขยายผลิตภัณฑ์และการให้บริการ ทั้งในประเทศและตลาดอื่นในภูมิภาคอาเซียนหากมีโอกาสที่เหมาะสม

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ TIDLOR ในครั้งนี้คือ ค่า P/E หุ้นของบริษัท โดยหากพิจารณากำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2563) ที่ 2.41 พันล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2.31 พันล้านหุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 212.95 ล้าน หุ้น) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.04 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ประมาณ 32.60-35.00 เท่า

ขณะที่โครงสร้างรายได้ปี 2563 มีสัดส่วนของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมคิดเป็นสัดส่วน 71% รายได้ดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 11% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็นสัดส่วน 17% ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นตัวเร่งให้ลูกค้าใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัท ทั้งในส่วนของการให้บริการสินเชื่อและผลิตภัณฑ์ประกันภายใต้ชื่อ "อารีเกเตอร์" เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของรายได้ ทำให้ถูกคาดการณ์ว่ารายได้จากดอกเบี้ยรับและค่าธรรมเนียมและบริการรวมสำหรับปีนี้อยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อน และคาดกำไรสุทธิราว 3.45 พันล้านบาท เติบโต 15% ส่งผลให้มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 เท่ากับ 16%

สอดคล้องกับทิศทางของกลุ่มเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง ซึ่งถูกประเมินว่ากำไรสุทธิไตรมาส 2/64 มีโอกาสโตมากกว่า 20% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเนื่องจากสินเชื่อแนวโน้มโตราว 3-4% จากภาระตั้งสำรองลดลง รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยคาดประชาชนมีความต้องการใช้เงินมากกว่าไตรมาสแรก และหนึ่งในทางเลือกการจำนำทะเบียนรถ แต่จะถูกกดดันจากผู้เล่นรายใหม่ที่เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง เช่น ธนาคารออมสิน

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในธุรกิจของ TIDLOR ก็มีเช่นกัน เริ่มที่ P/E ของหุ้นถือว่าสูงหากพิจารณากับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน อย่าง MTC ที่ระดับ 26.63 เท่า SAWAD ที่ระดับ 24.90 เท่า และมีที่สูงกว่า TIDLOR คือ SAK ที่ระดับ 40.29 เท่า และ TQM ที่ระดับ 54.91 เท่า

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจของบริษัทถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ทั้งธุรกิจให้สินเชื่อ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย แม้จะส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่สูง แต่ความเสี่ยงสำคัญของบริษัทคือกลุ่มลูกค้า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ใช้แรงงานและพนักงานบริษัท ทำให้บางส่วนมีรายได้หรือเงินหมุนเวียนที่ไม่แน่นอน และบางรายไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของธนาคารได้ ทำให้อาจไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตของผู้กู้และความเพียงพอของการบริหารความเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านี้ บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ และดำรงการเติบโต แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถติดตามทวงหนี้สินเชื่อค้างชำระได้โดยในช่วงต้นปี 2564 ทริสเรทติ้งประกาศ "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ระดับ A- ของ TIDLOR สืบเนื่องมาจากประกาศของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการออกและจำหน่ายหุ้นสามัญแก่ประชาชนเป็นครั้งแรกและการนำหุ้นสามัญของ TIDLOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานการระดมทุนและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่งบการเงินของบริษัททำให้มีเครดิตพินิจแนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” หมายถึงสถานการณ์ด้านเครดิตดังกล่าวมีโอกาสที่จะส่งผลทั้งในทางบวกและลบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท หรืออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวอาจคงอยู่ในระดับเดิมเท่ากับในช่วงก่อนการประกาศเครดิตพินิจก็ได้ เพราะคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงมากสุดไม่ต่ำกว่า 30% จาก 50% 

ในขณะที่ Siam Asia Credit Access Pte Ltd (SACA) จะลดการถือหุ้นมากสุดไม่ต่ำกว่า 25% จาก 50% หลังจากที่หุ้นของบริษัทมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แม้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ SACA จะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากบริษัทจดทะเบียน และในระยะปานกลาง ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็มีความประสงค์ที่จะคงระดับการถือหุ้นให้ไม่ต่ำกว่า 30% แม้ว่าจะผ่านระยะเวลาห้ามจำหน่ายหุ้นไปแล้วก็ตาม

ที่ผ่านมา อันดับเครดิตของบริษัทในปัจจุบันได้รับการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงมุมมองต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากทางธนาคาร ในขณะที่อันดับเครดิตเฉพาะนั้นสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน รวมถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและฐานทุนที่เข้มแข็งเพียงพอ รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่ดี และโดยปกติแล้วการเพิ่มทุนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลในด้านบวกต่ออันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลหรือไม่ส่งผลในด้านบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทก็ได้ โดยจะขึ้นอยู่กับปริมาณเงินทุนที่จะเพิ่มขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือความสามารถที่จะทำให้เห็นว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นนั้นไว้ได้ในระยะยาว

ในส่วนของการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทนั้น ณ ปัจจุบัน สถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าบริษัทจะได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาต่อไป ซึ่งหากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและธนาคารไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่สัดส่วนการถือหุ้นลดลง การยกระดับอันดับเครดิตจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเองก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม ในทางกลับกัน หากการสนับสนุนที่จะได้รับจากธนาคารนั้นอ่อนแอลง หรือมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงก็อาจส่งผลทำให้มีการปลดการยกระดับอันดับเครดิตจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทได้เช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะมีผลในด้านลบต่ออันดับเครดิต ทำให้ต้องทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทอีกครั้งหลังจากที่บริษัททำธุรกรรมการออกหุ้นสามัญและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และสิ่งที่ดีสำหรับการเข้าซื้อขายของ TIDLOR รอบนี้คือ GREEN SHOE ที่ทำให้นักลงทุนที่ชื่นชอบเก็งกำไรอุ่นใจได้ว่า เปิดซื้อขายวันแรกไม่น่าจะมีราคาต่ำกว่าราคาจอง




กำลังโหลดความคิดเห็น