xs
xsm
sm
md
lg

เทคนิคการลงทุนหุ้นพื้นฐาน สร้างผลตอบแทนยุคดอกเบี้ยต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดขั้นตอนเลือกหุ้นด้วยปัจจัยพื้นฐาน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขง่ายๆ ที่ช่วยสร้างผลตอบแทนทั้งแง่ส่วนต่างราคาหุ้น และเงินปันผล ในยุคปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ระดับต่ำ และเงินเฟ้อโตขึ้นเรื่อยๆ

แม้การลงทุนในปัจจุบันจะมีเครื่องใหม่การลงทุนชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่การลงทุนในหุ้นยังมีเสน่ห์และความน่าสนใจ เห็นได้จากจำนวนยอดเปิดบัญชีใหม่ตามรายงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงสิ้นเดือน ม.ค.64 มีการเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กว่า 2 แสนบัญชี ทำให้นักลงทุนเปิดบัญชีรวมแล้วกว่า 3.7 ล้านบัญชี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่า ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ หรือให้น้ำหนักต่อการลงทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเปิดบัญชีและนักลงทุนจะมีความพร้อมสำหรับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น แต่ นักลงทุนใหม่ควรศึกษาข้อมูลและขั้นตอนการลงทุนให้เข้าใจ เพื่อลดความเสี่ยงหรือความผิดพลาดจากการลงทุน โดยเฉพาะเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกหุ้นเพื่อเข้าลงทุน

ปัจจุบัน ข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้ง่ายผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ หรือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเกณฑ์ทั่วไปสำหรับเลือกหุ้นเข้าลงทุนแบบง่ายๆ และมักจะถูกหยิบยกมาแนะนำให้นักลงทุนใหม่ให้นำไปปฏิบัตินั่นคือ “ลงทุนจากปัจจัยพื้นฐาน”

ลงทุนหุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน

เกณฑ์การเลือกหุ้นแบบดังกล่าวถูกหยิบยกให้เป็นเกณฑ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด เพราะหากทำสำเร็จจะช่วยสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ลงทุน เพียงแค่คัดเลือกซื้อหุ้นที่ดีจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ซึ่งหลักเกณฑ์ทั่วไปที่นักลงทุนให้ความสำคัญ เช่น บริษัทดังกล่าวต้องเป็นผู้นำ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องมีแนวโน้มเติบโต ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐบาล เพราะจะส่งผลให้ตัวเลขด้านรายได้ และกำไรสุทธิของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญบริษัทต้องมีแผนงาน หรือแผนลงทุนในอนาคตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อกำหนดเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนบริษัทในตลาดหุ้นลงไปได้มาก

ขณะเดียวกัน การพิจารณาเลือกลงทุนหุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน บางทฤษฎียังให้ความสำคัญต่อเรื่องความโปร่งใสของผู้บริหารมาเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะเชื่อว่าหากผู้บริหารบริษัทมีวิสัยทัศน์ที่ดี และให้ความสำคัญต่อการบริหารธุรกิจมากกว่าราคาหุ้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้มากขึ้น โดยเงื่อนไขสำหรับการลงทุนหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานสามารถสรุปได้ดังนี้

ความได้เปรียบทางธุรกิจ :  นับเป็นเงื่อนไขแรกๆ สำหรับพิจารณาเลือกหุ้นเข้าลงทุน โดยนักลงทุนต้องสามารถคาดเดาอนาคตทางธุรกิจของบริษัทแห่งนั้นได้ง่าย เพราะมันจำเป็นสำหรับการลงทุนระยะยาว ดังนั้น การที่บริษัทมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโต โดยบริษัทดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม หรือในตลาดที่ทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว จะเป็นเบอร์หนึ่ง-สอง-สามของอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ได้ แต่ควรมีความสามารถหรือมีจุดแข็งในการแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งสามารถเอาชนะคู่แข่งขันรายอื่นได้ และยิ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งขันน้อยรายยิ่งดี เพราะบริษัทจะมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันสูง

ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง : ตัวเลขผลประกอบการในแต่ละปีจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถและความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัท ดังนั้น บริษัทที่จะเข้าข่ายควรมียอดขายหรือรายได้เติบโตต่อเนื่อง 3-5 ปี และอย่างน้อยควรมีอัตราเติบโต 5-10% ซึ่งจะเป็นการการันตีว่าธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มต่อไปได้ ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว สิ่งสำคัญบริษัทดังกล่าวควรมีกำไรอย่างสม่ำเสมอในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่กำไรขั้นต้น เรื่อยไปจนถึงกำไรสุทธิ

สิ่งสำคัญสำหรับเงื่อนไขนี้ซึ่งนักลงทุนไม่ควรมองข้าม นั่นคือ “กำไรสะสมของบริษัทแห่งนั้นควรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เพราะจะสะท้อนความสามารถในการบริหารต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพการจัดจำหน่ายที่ดี เป็นผลดีต่อผู้ลงทุน เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นด้วย และยังสามารถนำกำไรไปขยายกิจการให้เติบโตต่อไปได้อีก 

นอกจากนี้ บริษัทที่ดีต้องมีเงินทุนหมุนเวียนที่คล่องตัว นั่นหมายถึงการมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน เพื่อเตรียมพร้อมในการจ่ายหนี้ระยะสั้น รวมถึงสามารถขายสินค้าและเก็บเงินลูกหนี้ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม

หนี้สินปัจจัยสะท้อนความแข็งแกร่ง : โดยทั่วไปนักลงทุนที่ให้ความสำคัญต่อการใช้เกณฑ์ปัจจัยพื้นฐานเลือกหุ้น จะให้ความสำคัญต่อตัวเลขอัตราหนี้สินในงบผลประกอบการของบริษัทด้วย ขณะที่นักลงทุนใหม่ต้องเข้าใจว่าการมีหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นสิ่งต้องพึงระวังโดยเฉพาะบริษัทที่มีหนี้ระยะยาวมากเกินไป เพราะอาจทำให้มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ในอนาคต และอาจเกิดปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนให้น้ำหนักต่อตัวเลข “อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน” (D/E Ratio) เพราะหากบริษัทมีหนี้สินจำนวนมาก และนิยมกู้หนี้ระยะสั้นเพื่อไปจัดการแก้ไขหนี้สินระยะยาวจะส่งผลให้ตัวเลข D/E Ratio ของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินไป จนอาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในอนาคต และไม่สามารถชำระหนี้ได้

ความสามารถในการควบคุมต้นทุน : ถือเป็นอีกเงื่อนไขที่นักลงทุนไม่ควรละเลย นั่นเพราะ การบริหารจัดการต้นทุนเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้นทุนต่างๆ จะส่งผลโดยตรงต่อกำไรของบริษัท ซึ่งหลักเกณฑ์พิจารณาเรื่องดังกล่าวนักลงทุนสามารถหาข้องมูลได้จากตัวเลขต้นทุนสินค้าและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพราะหากบริษัทแห่งนั้นมียอดขายลดลง สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แสดงว่ากำลังมีปัญหาในการดำเนินงาน

ผู้บริหารต้องมีธรรมาภิบาล : เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในยุคปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทที่โปร่งใส ผู้บริหารมีการดำเนินงานอย่างเปิดเผย ซื่อตรง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อธุรกิจและหุ้นของบริษัท ดังนั้น นักลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐานส่วนมากจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัทซึ่งมีผู้บริหารที่ชอบเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไร หรือมีข่าวในเชิงลบต่อการบริหารธุรกิจบ่อยครั้ง

อ่านงบการเงินให้เป็น : หากต้องการประสบความสำเร็จกับการเป็นนักลงทุนระยะยาว สิ่งสำคัญคือควรฝึกตนเองให้เป็นนักอ่านงบการเงินที่ดี เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ หนี้สิน มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว กำไรสุทธิ ROA ROE และค่า P/E และ P/BV ว่าเป็นเช่นใด แม้ข้อมูลเหล่านี้จะไม่สามารถใช้ในการทำนายราคาหุ้นในอนาคต แต่ถือเป็นดัชนีที่ช่วยชี้วัดได้ว่าหุ้นดังกล่าวกำลังมีพื้นฐานอย่างไร

การวิเคราะห์แบบ Top Down : หมายถึงการวิเคราะห์จากบนลงล่าง กล่าวคือ มองจากภาพใหญ่ที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก (บริษัทที่สนใจเข้าลงทุน) โดยพิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวมก่อน จากนั้นพิจารณาหาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต และสรุปให้เล็กมาอีกคือ กลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งธุรกิจจะเติบโตตามแนวโน้มอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ตามความต้องการซื้อที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นทฤษฎีที่นักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน และนักลงทุนสถาบันนิยมใช้

การวิเคราะห์แบบ Bottom Up : หมายถึงการวิเคราะห์จากล่างไปสู่บน โดยศึกษาข้อมูลจากบริษัทที่สนใจจะเข้าลงทุนในหุ้น พิจารณาถึงแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ ศักยภาพทางการเงิน ความมั่นคง จากนั้นพิจารณาภาพรวมอุตสาหกรรมของธุรกิจดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หรือตลาดมีความต้องการสินค้าของบริษัทมากน้อยเพียงใด ส่วนมากทฤษฎีดังกล่าวหุ้นที่ภาพรวมระยะสั้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาจนทำให้ราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

เลือกลงทุนหุ้นโดยอัตราปันผล : วิธีดังกล่าว เป็นอีกแนวทางที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนใหม่จำนวนมากในปัจจุบัน โดยอัตราเงินปันผลที่ถูกแนะนำจะอยู่ที่ประมาณ 3-5% ซึ่งถูกยกให้เป็นเกณฑ์ที่จะช่วยให้ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบริษัท เพราะอย่างน้อยยังได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผลทุกปีในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่อยู่ในระดับต่ำ

ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าว หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หุ้นปันผล” สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือผลดำเนินงานย้อนหลังเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3-5 ปี เพื่อยืนยันถึงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุนและโดยทั่วไป การลงทุนในหุ้นปันผลจะได้รับความสนใจตามช่วงเวลา หรือฤดูกาล เช่น เข้าลงทุนในหุ้นปันผลในช่วงไตรมาสแรกของปี เพื่อรอรับเงินปันผลตอบแทนจากผลดำเนินงานในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนในหุ้นปันผล จำเป็นต้องเข้าใจเงื่อนไขในการได้รับเงินปันผลจากบริษัทเหล่านั้นด้วย เช่น การเข้าลงทุนในช่วงก่อนหรือหลังหุ้นดังกล่าวประกาศเครื่องหมาย XD หรือเข้าในใจจังหวะเวลาเพื่อเข้าลงทุนในหุ้นประเภทนี้ เพื่อโอกาสในการลงทุนในราคาที่ต่ำ

หาจังหวะเข้าซื้อที่เหมาะสม-ไม่รีบ : ที่ผ่านมา นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง เลือกที่จะอดทนรอหาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเข้าลงทุนในหุ้นที่เชื่อว่าจะเติบโตทั้งในแง่ของผลประกอบการ และราคาหุ้น แม้จะใช่เวลานานกว่าจะเข้าลงทุนในหุ้น แต่ผลตอบแทนที่ได้รับกลับมาคุ้มค่ากับการรอคอย อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบนี้เวลาลงทุนจะใช้เงินในสัดส่วนที่สูงเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาให้คุ้มค่า เพราะมีข้อมูลว่าการลงทุนดังกล่าวจะมีการเข้าซื้อหุ้นเพียงปีละไม่กี่ครั้งเท่านั้น โดยจะรอจังหวะเมื่อราคาหุ้นตกลงมาในจุดที่เหมาะสมแก่การเข้าซื้อ ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์หรือปัจจัยลบอะไรก็ตาม แต่เล็งเห็นแล้วว่าเป็นหุ้นมีพื้นฐานดี บริษัทยังทำกำไรอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารสม่ำเสมอ : ข้อมูลข่าวสารหรือรายงานประจำวันที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมที่กำลังสนใจจะเข้าลงทุน หรือข่าวของบริษัทดังกล่าวถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักต่อการตัดสินใจลงทุนที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมของธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมเหล่านั้นได้อย่างเข้าใจในสถานการณ์ ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้น ขณะเดียวกัน การติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลาจะช่วยเพิ่มข้อมูลความรู้ สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เรากำลังให้ความสนใจ และความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจเข้ามามีบทบาททั้งในแง่ผลักดันและกดดันผลประกอบการของบริษัทที่กำลังจะตัดสินใจลงทุน รวมถึงบริษัทอื่นๆ

“รู้จักตัวเอง” ครั้งแรกไม่ทุ่มหมดหน้าตัก

มีการกล่าวว่า แม้จะรู้หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการพิจารณาเข้าลงทุนในหุ้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะ “การรู้จักตัวเอง” ว่าท้ายที่สุดแล้วเราเป็นนักลงทุนแบบไหน เช่น ชื่นชอบทำกำไรจากการลงทุนในระยะสั้น หรือชื่นชอบทำกำไรจากการลงทุนระยะยาว เพราะการรู้จักตัวเองจะช่วยให้นักลงทุนมีเป้าหมายในการลงทุน จากนั้นค่อยพิจารณา “เงื่อนไข” ในการลงทุนว่าตัวเองยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ มีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด หรือมีข้อจำกัดเรื่องใด โดยเฉพาะการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน นั่นเพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นอาจไม่ค่อยแน่นอน ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกิจการนั้นๆ

ทำให้คำแนะนำง่ายๆ สำหรับการเลือกลงทุนหุ้น นั่นคือ หุ้นที่จะเลือกลงทุนสำหรับนักลงใหม่ควรเป็นธุรกิจที่เรามีความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน หรือเป็นธุรกิจที่เรารู้จักเป็นอย่างดี เพราะนั่นจะทำให้นักลงทุนเข้าใจในธุรกิจของบริษัทและสามารถประเมินแนวโน้มในอนาคตได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 500 บริษัท ทำให้การนำทุกบริษัทมาวิเคราะห์ค้นหาข้อมูลทุกบริษัททั้งหมดเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น การลงทุนหุ้นแบบปัจจัยพื้นฐานในช่วงแรกๆ จึงถูกแนะนำให้พิจารณาหุ้นจากการจัดอันดับมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้จัดทำดัชนี SET50 และ SET100 รวมถึงดัชนีอื่นๆ มาช่วยคัดกรองสำหรับหาบริษัทที่ดี และมีศักยภาพที่น่าสนใจ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง การซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

ไม่เพียงเท่านี้ ควรเริ่มต้นลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่สูงมาก เช่น 5-10% ของเงินลงทุนทั้งหมด (พอร์ต) ที่เราเตรียมไว้ เพื่อเป็นการฝึกฝนก่อน โดยให้คิดอยู่เสมอว่าเป้าหมายในระยะแรกไม่ใช่เพื่อผลตอบแทนที่สูงที่สุด แต่เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการลงทุนในตลาดทุน




กำลังโหลดความคิดเห็น