xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อก LTV หนุนโอนบ้านหลังที่ 2 อสังหาฯ ทำแผนตลาดเจาะกลุ่มหลุดกฎ 'ซีบีอาร์อี' มองฟื้นจริงครึ่งหลังปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจัยลบหลายอย่างยังคงมีผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของคนไทย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่ทุกวัน แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็มีผลต่อด้านจิตใจ และการใช้ชีวิตของคนในประเทศ โดยเฉพาะเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในรอบใหม่ๆ เพราะเหมือนเป็นการตอกย้ำว่าสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ปกติ ยังคงจำเป็นต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเช่นเดิม รวมไปถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ยังจำเป็นต้องเคร่งครัดเหมือนเดิมปล่อยให้การ์ดตกไม่ได้

เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่าหลายฝ่ายจะบอกว่า ปี พ.ศ.2564 จะเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ต้องไม่ลืมว่า เป็นการขยายตัวจากจุดที่ค่อนข้างต่ำในปีที่แล้ว อีกทั้งปัจจัยลบหลายๆ อย่างยังคงมีอยู่ เรื่องของโควิด-19 ก็เช่นกัน เพียงแต่อาจจะดูเหมือนว่าเราคุ้นเคยกันแล้วเท่านั้นเอง อัตราการว่างานยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น หลายบริษัท หลายโรงงานยังไม่สามารถกลับมามีรายได้ได้แบบก่อนหน้านี้ ความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ไม่ทั่วถึง

ในส่วนของ ตลาดอสังหาริมทรัพย์เอง เหมือนว่ามีทิศทางที่จะเป็นบวกมากขึ้น เริ่มเห็นกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น มีการเปิดขายโครงการใหม่ แต่ถ้าพิจารณาดีๆ จะพบว่ากิจกรรมต่างๆ นั้นไม่ได้เทียบเท่าหรือดูมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เลย ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงรอปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาดอยู่ตลอดเวลา

ปัจจัยลบในตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องของการพิจารณาสินเชื่อธนาคารที่มีผลโดยตรงต่อการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และมีผลโดยตรงต่อรายได้ของผู้ประกอบการ ธนาคารต่างๆ ยังคงมีความเข้มงวดเช่นเดิม ไม่ได้ลดความเข้มงวดลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหม่หลายรายจำเป็นต้องขอสินเชื่อจากแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่อาจจะมีดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการออกหุ้นกู้ หรือช่องทางอื่นๆ เรื่องของสินเชื่อเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลในทุกภาคส่วนจริงๆ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่อนปรนอยู่ ก็เป็นอีกปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปิดการขายให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่กำลังซื้อของคนไทยยังคงชะลอตัวรุนแรง ส่วนกำลังซื้อชาวต่างชาติก็ยังไม่สามารถเดินทางมาได้แบบปกติ

ส่วนของ ปัจจัยบวก นั้น แทบหาได้ยากมากในช่วงที่ผ่านมา มาตรการผ่อนปรนการขอสินเชื่อธนาคารสำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่เพิ่มวงเงินสินเชื่อจาก 80% เป็น 90% สำหรับคนที่ต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ก็อาจจะกระตุ้นกำลังซื้อได้ไม่มาก หรือแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเลยในตลาด เพราะไม่ได้ช่วยอะไรต่อกำลังซื้อส่วนใหญ่ การลดค่าโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นมือ 1 และเป็นหลังแรกของผู้ซื้อ ก็ไม่ได้กระตุ้นตลาดมากนัก เพราะมีเพดานราคาอยู่ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียม จริงอยู่ที่ในตลาดที่อยู่อาศัยมีที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมากที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้ซื้อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนด้วยเช่นกัน


ดังนั้น แม้ว่าจะอยากได้ อยากซื้อ และรัฐบาลสนับสนุนค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนองให้ แต่ถ้าขอสินเชื่อไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องของสินเชื่อบุคคล หรือหนี้ครัวเรือน ก็ไม่เกิดการโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องเริ่มมีการ Pre-Approve กันตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการเซ็นสัญญาจะซื้อจะขายกับบริษัทเพื่อทำความเข้าใจและให้ความรู้กับผู้ซื้อก่อนทันที เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการขอสินเชื่อจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจของประเทศไทยจะดีขึ้นต้องขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน วัคซีนได้ผลกับทุกสายพันธุ์การเปิดประเทศรับชาวต่างชาติมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงเรื่องวัคซีนพาสปอร์ต และหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น จะมีผลให้ธนาคารเริ่มผ่อนคลายการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยตรงมากที่สุด

ทั้งนี้ หากพิจารณาเรื่องผลประกอบการ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าในปี 2563 จำนวน 38 บริษัท มีรายได้รวมอยู่ที่ 291,041.63 ล้านบาท ขณะที่กำไรอยู่ที่ 19,109.36 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 8.21% และ 59.62% ตามลำดับ เทียบกับปี 2562

ความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ยของ 38 บริษัท อยู่ที่ 6.52% ลดลงจากเฉลี่ย 13%ในปี 2562 ขณะที่ทั้ง 38 บริษัทมีสินค้าคงเหลือลดลง 11.03% เทียบกับปี 2562 ผลจากการระบายสต๊อกสินค้า ทำให้มีสินค้าคงเหลือที่ 573,690.48 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

น.ส.อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด
ซีบีอาร์อีมองอสังหาฯ ฟื้นจริงครึ่งหลังปี 2565

สำหรับมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value Ratio : LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในส่วนของบ้านหลังที่ 2 จะปลดล็อกในเดือนเมษายน 2564 จากเดิมที่ถูกจำกัดการกู้เงินไว้ที่ 80% จะได้เพิ่มขึ้นเป็น 90% หรือลูกค้าจะสามารถขอวงเงินสินเชื่อบ้านได้มากกว่าเดิม ซึ่งมาตรการที่ออกมาเพื่อลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรนั้น ในประเด็นดังกล่าว น.ส.อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน 360" ว่า

"ตอนนี้ดีเวลลอปเปอร์พูดกันว่า โอ๊ยยยย ไม่มีใครเค้าเก็งแล้ว คนที่อยากได้จริง ก็เพราะราคา (อสังหาฯ) ถูก ถ้าหากปรับเกณฑ์ LTV มาเน้นคนซื้อบ้านหลังแรกคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะอย่างไร ธนาคารพาณิชย์ต้องวิเคราะห์อยู่แล้ว ถ้าเป็นบ้านหลังแรก ราคาถูกลงมา อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำลงมา เพราะฉะนั้นช่วยระบายสต๊อก และช่วยให้คนที่จะซื้อบ้านก็ได้ด้วย ซึ่งภาวะแบบนี้ถ้า flexible ดี และถ้ากลับมาบูมใหม่ แล้วเก็งกันอีก ก็กลับมาใหม่ได้ (หมายถึง LTV)"

สำหรับประเด็นเรื่องการเปิดประเทศ ดีมานด์คงจะกลับมานั้น คือ พี่ (อลิวัสสา) อยากให้มาตอนที่ซัปพลายถูกดูดซับ (คอนโดฯ) ออกไปแล้ว ของใหม่ยังไม่ออกมา และพอของใหม่ออกมา (คอนโดฯ) และทุกสิ่งทุกอย่างกลับมา แบบนั้นถึงจะแรง แต่ถ้าสมมติว่ามาแบบต่างชาติกลับมาเลย แต่ราคาเปิดรอบใหม่ของโครงการไม่ได้ ของเก่า (สต๊อกคอนโดฯ) ยังไม่หมด ต่างชาติก็มาช่วยซื้อของเก่าให้หมดไปก่อนแล้วกัน หมายความว่า การจะเกิดโครงการใหม่ (New Supple) คงต้องรอให้มีการดูดซับออกไปให้หมด

"ถ้าต่างชาติมาปลายปีนี้ (2564) ก็จะฟื้นขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ยังไม่บูม ถ้าจะให้กลับมาบูมตรงนั้น ต้องดูดซับ (absorb) เกือบหมด คือ ตัวเลขที่เราเห็น คอนโดฯ ในตลาดลดลงเยอะเหมือนกัน ภาพที่เรามอง (outlook) โครงการในเมือง (กทม.) ที่สร้างเสร็จแล้ว ขายได้ดีกว่าเดิม มากกว่าปี 2562 (2019) แต่จะบอกเสมอว่า พี่จะไม่เอาตัวเลขมาหาร แล้วระบุเป็นสเปซ 3-5 ปี พี่ถึงไม่พูดเลย ถ้าเราดูตัวเลขอย่างเดียว อาจจะต้อง 3 ปี แต่พอระบายออกไปได้เยอะๆ ประกอบกับเศรษฐกิจกลับมา ไม่ต้องรอให้ถึงศูนย์ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคาดว่า ตลาดอสังหาฯ จะมาดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2565 กลับมาแบบฟื้นจริง แต่ช่วงนี้ค่อยๆ ฟื้นไป เป็นลักษณะของตลาดที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน บางโปรเจกต์ไม่กระทบก็มี ขายได้ แต่เป็นส่วนน้อย"

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น จำกัด (มหาชน)
ดีเวลลอปเปอร์มองโอกาส ทำตลาดเจาะกลุ่มหลุด LTV

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ SIRI ระบุถึงกรณีปลดล็อก LTV ในส่วนของกลุ่มบ้านหลังที่ 2 ว่า แม้จะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 แต่กลุ่มบริษัทคาดว่า ประชาชนต้องพิจารณาสภาพวะเศรษฐกิจประกอบด้วย เนื่องจากผู้ที่คิดจะยื่นขอสินเชื่อต้องมองเรื่องความมั่นใจว่าเศรษฐกิจดี จะมีรายได้เพียงพอ

"แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งครบเกณฑ์ LTV ออกมา แต่ในความเป็นจริง คนกลุ่มนี้ยังมีภาระผ่อนบ้านอยู่ 1 หลัง คำถามว่า การที่จะพิจารณาซื้อบ้านเพิ่มอีก 1 หลังต้องมีความมั่นใจจริงๆ แต่บริษัทก็มองโอกาสเหมือนกัน มีทีมการตลาดมาศึกษาเพื่อรองรับกลุ่มนี้เช่นกัน"

สำหรับภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 มองว่า ยังมีความต้องการซื้ออยู่มาก แต่กำลังซื้ออาจจะลดลง เพราะผลจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้แผนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะของตลาด ดังนั้น การพัฒนาโครงการใหม่ของบริษัทในปีนี้ เน้นไปที่การพัฒนาโครงการในราคาที่จับต้องได้ง่ายถึง 70% ของพอร์ตโครงการรวม โดยจะเปิดโครงการคอนโดฯ ที่ระดับราคา 1-2 ล้านบาททั้งสิ้น 4 โครงการ ควบคู่กับการพัฒนาโครงการแนวราบบททำเลศักยภาพด้วย

ขณะที่ นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เงื่อนไขที่ปลดล็อกให้บ้านหลังที่ 1 บางส่วนสามารถมีธุรกรรมกับบ้านที่ 2 ได้ จะเป็นแรงหนุนยอดโอนให้กับกลุ่มลูกค้าคอนโดฯ อย่างมีนัยสำคัญ คาดทั้งปีเพิ่ม 10% เราต้องเตรียมแผนการตลาด ออกแบบบริการที่เฉพาะเจาะจงให้กลุ่มลูกค้าเป็นรายบุคคล

ดีมานด์บ้านหลังที่ 2 ต้องอิงปัจจัย ศก.ฟื้นตัว

น.ส.อาทิตยา เกษมลาวัณย์ ผู้อำนวยการแผนกซื้อขายที่พักอาศัย บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน360" ว่า เกณฑ์ LTV ที่จะปลดล็อกในเดือนเม.ย.64 ว่า ไม่รู้จะมีการต่อมาตรการหรือไม่ (หมายถึง ธปท.) ซึ่งหากไม่ต่อ ก็หมายความว่า ผู้ซื้อจะได้โอกาสในเรื่องสัดส่วนสินเชื่อเพิ่มขึ้น (10%) แม้จะไม่ได้แตกต่างกันมาก มันไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 100% แต่ช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นบ้าง เพราะนโยบาย (เม.ย.นี้) กลับไปก่อนมีมาตรการ

"คิดว่าครบ เม.ย.นี้ มาตรการผ่อนคลายการซื้อบ้านหลังที่ 2 นั้นจะไม่สร้างความแตกต่างกันมากนักในช่วงที่เกิดโควิด-19 ตอนนี้ต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่แค่เรื่อง LTV อย่างเดียว ต้องมองเศรษฐกิจด้วย LTV ได้มากขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเศรษฐกิจโดยภาพรวม คือ รายได้ และอื่นๆ ไม่ขึ้นมา จนทำให้ผู้ซื้อเกิดความสามารถจ่ายได้นั้น การซื้อคงไม่ได้มาเหมือนก่อนช่วงโควิด-19 คิดว่ากำลังซื้อคงไม่เฮโลกันมา คงต้องใช้เวลา"

น.ส.อาทิตยา กล่าวถึงผลจากการเริ่มฉีดวัคซีนกับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมว่า การมีวัคซีนช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ช่วยในเรื่องของการเดินทาง และหากพูดถึงโครงการคอนโดฯในประเทศไทยต้องหมายการเดินทางของชาวต่างชาติที่จะเข้ามา ดังนั้น ถ้าวัคซีนมันดี จะดีกับตลาดต่างชาติ ดีกับอสังหาฯ ไทย ดีกับการโอนกรรมสิทธิ์ของห้องชุดของลูกค้าต่างชาติ เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เกิดความต้องการที่ต้องการเห็นของก่อน (ห้องชุด) ถึงจะตัดสินใจโอนห้องชุด ดังนั้น ต้องดูที่นโยบายของดีเวลลอปเปอร์จะอะลุ้มอล่วยหรือไม่

"การมีวัคซีนจะช่วยในเรื่องของการซื้อของลูกค้าต่างชาติ บินมา เห็นของ และตัดสินใจซื้อ แต่คิดว่าหลังการเปิดประเทศ และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนแล้ว คิดว่าในระยะ 3-6 เดือนแรก การซื้อคงไม่กระโดด แต่หลัง 6 เดือนผ่านไปจะกลับมาเห็นตัวเลขที่ดีก่อนโควิด-19 เพราะจริงๆ ตัวเลขก่อนโควิด-19 ตลาดกลุ่มลูกค้าต่างชาติดีมาก การจะกลับมาดีก่อนโควิด-19 หรือไม่ คงไม่ แต่อาจจะเท่าก่อนโควิด-19"

นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน)
ไวรัสเปลี่นพฤติกรรมคนซื้อคอนโดฯ
มองห้องใหญ่-เน้นพื้นที่ส่วนกลาง

สำหรับพฤติกรรมในการเลือกห้องชุดของกลุ่มลูกค้าต่างชาติหลังผ่านโควิด-19 มาแล้วนั้น น.ส.อาทิตยา กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ชาวต่างชาติต้องการห้องชุดในขนาดที่มีพื้นที่กว้างขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูความต้องการก่อน ถึงจะเริ่มมองเห็นเทรนด์การเลือกหาห้องชุดในโครงการคอนโดฯ ในลักษณะไหน แต่ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศ เราเห็นชัดเจน ซีบีอาร์อี มีหลายโครงการที่อยู่ในพอร์ต เห็นภาพรวมทั้งตลาด ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน คอนโดมิเนียม ตลาดกลุ่มระดับกลาง ไฮเอนด์ รวมถึงตลาดซเปอร์ลักชัวรี เราจะเห็นลูกค้ากลุ่มนี้ มองหาห้องชุดใหญขึ้น (พื้นที่ต่อตารางเมตร) และเน้นเรื่องพื้นที่ส่วนกลาง

"สมัยก่อนโครงการทั่วไปพื้นที่ส่วนกลางจะมีแค่สระว่ายน้ำ มีที่ออกกำลังกาย มีล็อบบี้ ก็จบแล้ว สร้างมากไม่ได้ เพราะเนื้อที่จำกัด แต่ช่วงหลัง ที่มีเรื่องของการทำงานที่บ้าน (WFH) เป็นจำนวนมาก และแนวโน้มก็ยังเป็นอยู่ ดังนั้น ลูกค้าก็มองหาคอนโดมิเนียมที่ไม่อึดอัด มีพื้นที่ส่วนกลางที่พักได้ ตัวอย่างที่เราเห็น คนที่อยู่คนคอนโดฯ จ้างครูมาสอนเรื่องออกกำลังกาย เพราะถ้าเป็นพื้นที่ออกกำลังกายของโครงการ คนมาเล่น ก็จะมีเหงื่อออกมา กังวลที่จะต้องไปปะปนกับคนอื่น หรือบางราย หากจะมีงานร่าเริง หากมีล็อกดาวน์ต้องจ้างพ่อครัวมาทำให้ที่บ้าน เทรนด์มันเปลี่ยนไป ช่วงหลังโควิด-19 คนเริ่มมองหาที่สะดวกสบาย แต่ก็มีหลายปัจจัยประกอบ เช่น 1 ยูนิตขนาด 40 ตารางเมตร แม้จะเล็ก แต่ถ้ามีการออกแบบที่ดี อยู่แล้วไม่อึดอัด แต่เรื่องส่วนกลางสามารถลงมาใช้ได้ด้วย"

KUN เปิดโปรเจกต์บ้านแพงรับดีมานด์ปลดล็อก LTV

นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ "KUN" เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การปลดล็อก LTVในเดือน เม.ย.นี้ จะส่งผลดีกับลูกค้าบ้านหลังที่ 2 ซึ่งจะหมายถึงกลุ่มของครอบครัวที่กำลังรองรับเรื่องขยายที่อยู่อาศัย แน่นอน จะช่วยให้กำลังซื้อกังวลน้อยลง ใช้เงินสดที่เก็บสะสมมาไม่ต้องเยอะในการจะซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และตลาดระดับราคา 5 ล้านบาท ก็จะได้รับอานิสงส์ที่ดีจากการปลดล็อกของมาตรการ LTV โดยทางบริษัทฯ ได้เตรียมแผนรองรับเพื่อตอบสนองกับกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหาบ้านหลังที่ 2 โดยจะเปิดตัวโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ "คุณาลัย พาร์โก้" โซนบางบัวทอง บ้านเดี่ยวราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 90 หลัง มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท

"ต้องเข้าใจว่า ตอนนี้บรรยากาศเศรษฐกิจเปลี่ยน คนเก็บเงินสดเพื่อความปลอดภัย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่อยากจะซื้อ ยิ่งเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยแล้ว ต้องคิดหนัก ซึ่งในส่วนของบริษัทคุณาลัย ในฐานะที่อยู่ในทำเลบางบัวทองมาตลอด เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า คิดและตอบโจทย์ความต้องการเป็นหลัก ยิ่งในยุคนี้ต้องคุ้มค่ากับลูกค้าด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น