กระบวนการสร้างราคาหุ้น “เกียรติธนา ขนส่ง” ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาท พบผู้บริหารและนักลงทุนรายใหญ่ร่วมขบวนการ ด้วยการซื้อขายบนกระดานแบบ Big lot หลายครั้ง ดันราคาหุ้นวิ่ง ขณะ ก.ล.ต. เรียกค่าปรับทางแพ่งรวม 291,175,810 บาท สะท้อนขบวนการสร้างราคาในตลาดทุนไทย
จากการเปิดเผยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ถึงสถิติจำนวนการเปรียบเทียบมาตรการลงโทษทางแพ่ง ฐานสร้างราคาหุ้น และการกล่าวโทษ ปี 2563 มีจำนวนเพียง 1 คดี และจำนวนผู้กระทำผิด 1 ราย โดยได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบปรับในจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยผู้กระทําความผิดได้มีการตกลงทําบันทึกการยินยอมในปี 2563
ล่าสุด ณ วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิด 13 ราย กรณีสร้างราคาหุ้นบริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ซึ่งได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าผู้กระทำผิด 13 ราย ได้แก่ (1) นายเกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ (2) นายน้ำ ชลสายพันธ์ (3) นายศุภวุฒิ มณีรินทร์ (4) น.ส.ศนิ จิวจินดา (5) นายยศ ธนารักษ์โชค (6) นางนิภา ชลสายพันธ์ (7) น.ส.น้ำทิพย์ ชลสายพันธ์ (8) นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย (9) บริษัทนิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP (โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON) (10) น.ส.รินนภา คุณะวัฒน์สถิตย์ (11) นายปฏิญญา เทวอักษร (12) นางกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ และ (13) นายประพล มิลินทจินดา ซึ่งผู้กระทำผิดทั้ง 13 รายนั้นได้มีการร่วมกันสร้างราคาหุ้น KIAT ให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นจาก 7.75 บาท เป็นราคา 15.60 บาท ในระหว่างวันที่ 4-22 ธันวาคม 2557 โดย ก.ล.ต. ได้เรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 291,175,810 บาท
สำหรับกระบวนการสร้างราคาหุ้น KIAT ได้มีการแบ่งหน้าที่กัน โดยเริ่มจาก นายน้ำ นายศุภวุฒิ น.ส.ศนิ และนายยศ ทำหน้าที่สลับกันซื้อขายหุ้น KIAT เพื่อให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้น นายเกียรติชัย นายสุรพงษ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้มีอำนาจซื้อขายในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ NPP เดิม และ น.ส.รินนภา ซึ่งมีนายสุรพงษ์ เป็นผู้รับประโยชน์ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน ขณะเดียวกัน นายปฏิญญา และนางกิ่งกาญจน์ ซึ่งมีนายประพล เป็นผู้รับประโยชน์ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน ร่วมทำรายการซื้อขายบนกระดานรายใหญ่ หรือ Big lot เป็นจำนวนมาก และหลายครั้งตามราคาที่กลุ่มผู้กระทำความผิดได้ผลักดันให้สูงขึ้นแล้ว ทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจว่ามีผู้ร่วมลงทุนใหม่สนใจลงทุนใน KIAT ในราคาที่สูงขึ้นตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มผู้ที่ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวซึ่งรวมถึงนางนิภา และ น.ส.น้ำทิพย์ ซึ่งเป็นภรรยาและบุตรของนายน้ำ ได้ขายหุ้น KIAT เพื่อทำกำไร โดยนายเกียรติชัย นำหุ้นที่ฝากไว้ในบัญชีบุคคลอื่น (nominee) มาขายทำกำไรเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวนายเกียรติชัย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการผู้จัดการของ KIAT ได้เสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนให้แก่บุคคลเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ที่ร่วมกันกระทำความผิดในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด การลดมูลค่าพาร์ของหุ้น KIAT และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อสร้างความน่าสนใจในการซื้อขายหุ้น KIAT อีกทางหนึ่ง
ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ.หลายแห่งร่วมสร้างราคา
“เกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์” กรรมการผู้จัดการ KIAT (ตำแหน่งปี 2557 ช่วงที่มีการร่วมกันสร้างราคาหุ้นเกียรติธนาขนส่ง) ถือได้ว่ามีฐานะเป็นแกนนำในการสร้างราคาหุ้นของบริษัทตัวเองและถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งปรับสูงสุดในวงเงินถึงกว่า 112.60 ล้านบาท ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าติดตามการให้สัมภาษณ์ของนายเกียรติชัย ผ่านสื่อต่างๆ นักลงทุนหรือประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือ และเป็นนักธุรกิจที่มีความน่าเลื่อมใส แต่จากการเปิดเผยพฤติกรรมการสร้างราคาหุ้น KIAT ที่ ก.ล.ต. ออกมาเปิดเผยนั้น ได้ลบล้างภาพลักษณ์ที่สร้างไว้จนไม่เหลือ ซึ่งหากพิจารณาโพรไฟล์ เกียรติชัย มนต์เสรีนุสรณ์ นักธุรกิจวัย 68 ปี จบบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ MBA, Texas Christian University, U.S.A. ผู้ก่อตั้ง บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT นั้นถือได้ว่าไม่ธรรมดา เพราะล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกกับธุรกิจหลายอย่างเริ่มจากทำธุรกิจปูนขาว แล้วก็ต่อยอดธุรกิจไปเรื่อยๆ จากการศึกษาความต้องการของลูกค้า แม้แต่ธุรกิจโรงแรมจน กระทั่งมาทำธุรกิจขนส่ง สารเคมี ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโลจิสติกส์โดยเฉพาะการบริการขนส่งปิโตรเคมีภัณฑ์และวัตถุอันตรายให้แก่บริษัทผู้ผลิตหลายรายในประเทศไทย ซึ่งก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ปี 2563 เกียรติชัย ที่เพิ่งวางมือจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และมอบหมายงานให้ “มินตรา มนต์เสรีนุสรณ์” บุตรสาวคนโต วัย 31 ปีเข้ามากุมบังเหียนแทน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
ปัจจุบัน บมจ.เกียรติธนา ขนส่ง หรือ KIAT แม้ว่าจะเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น mai แต่หากพิจารณาสัดส่วนการถือครองหุ้นแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นบริษัทกงสีของครอบครัว “มนต์เสรีนุสรณ์” อยู่ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ 4 อันดับแรกเป็นคนในตระกูลมนต์เสรีนุสรณ์ ที่ถือรวมกันกว่า 51.69% โดยสุจิตรา มนต์เสรีนุสรณ์ ภรรยาเกียรติชัย เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ซึ่งถือหุ้นอยู่กว่า 552,429,020 หุ้น หรือ 17.88% โดยผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 คือ มินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ ลูกสาวเกียรติชัย และเข้ามารับช่วงต่อตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการต่อจากพ่อ โดยถือหุ้นจำนวน 425,028,670 หุ้น หรือคิดเป็น 13.75% อันดับ 3 คือเมฆ มนต์เสรีนุสรณ์ ลูกชายของเกียรติชัย ถือหุ้นจำนวน 420,750,000 หุ้น หรือ 13.61% และยังเป็นกรรมการบริษัทอีกด้วย ขณะที่เกียรติชัย เองนั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 จำนวน 205,000,000 หุ้นหรือคิดเป็น 6.63% และนอกจากนี้ เกียรติชัย ยังได้แต่งตั้งเชิดเกียรติ มนต์เสรีนุสรณ์ น้องชายของตนเองเข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัทอีกด้วย ขณะที่ผลประกอบการ ณ ปี 2562 บริษัทมีรายได้สุทธิ 955.19 ล้านบาท ส่วนปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 811.45 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 110.10 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 157.10 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกำไรมาจากความต้องการขนส่งของธุรกิจโลจิสติกส์ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ KIAT ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 1,573.30 ล้านบาท โดยล่าสุด ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 1,699.72 ล้านบาท
“ประพล มิลินทจินดา” กรรมการบริหารผู้มีอำนาจจัดการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC เป็นหนึ่งในผู้ที่ปรากฏรายชื่อในอันดับที่ 13 ในการสร้างราคาหุ้น KIAT ซึ่ง ก.ล.ต. ได้พิจารณาลงโทษทางแพ่งจำนวนกว่า 22,782,360 บาท โดยประพล ถือว่าเป็นผู้ได้ประโยชน์จากปฏิญญา เทวอักษร และกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ ผู้ถูกกล่าวโทษลำดับที่ 11 และ 12 ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง โดยได้ร่วมทำรายการซื้อขายบนกระดานรายใหญ่ หรือ Big lot เป็นจำนวนมาก และหลายครั้งตามราคา โดยประพล ได้ยื่นหนังสือลาออกในเช้าวันที่ 22 มีนาคม 2564 ทันทีจากคำสั่ง ก.ล.ต. ที่ให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผู้มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการมีลักษณะต้องห้ามการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน โดยนอกจากประพล จะเป็นผู้ก่อตั้ง บล.เออีซี และเป็นประธานกรรมการบริหารแล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน บล.เออีซีอีกด้วย โดยถือหุ้นจำนวน 288,400,000 หุ้น หรือคิดเป็น 23.56% โดยมีกิ่งกาญจน์ สมิตานนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ปรากฏชื่อร่วมสร้างราคาหุ้น KIAT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จำนวน 79,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.45%
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ “ประพล” ถือว่าเป็นผู้กว้างขวางทั้งในวงการธุรกิจและการเมืองเพราะเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ในยุคสมัยนางพรทิวา นาคาศัย สังกัดพรรคภูมิใจไทย (กลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวกับที่ นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ ตัวละครสำคัญในคดี นายชูวงษ์ เคยสังกัดอยู่ และมีตำแหน่งเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย จนถึงกับมีการตั้งฉายากันในหมู่นักลงทุนว่า “โบรกเกอร์พันธุ์รัมย์” เนื่องจากมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคภูมิใจไทย
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2558 “ประพล” ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวของสำคัญกับคดีโอนหุ้นปริศนาของ “เสี่ยชูวงศ์ แซ่ตั๊ง” ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้นได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พร้อมด้วยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี เข้าตรวจค้นเพื่อตรวจสอบหลักฐานประเด็นการซื้อขายหุ้นของ "นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง" นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหมื่นล้าน และการโอนหุ้นให้กับ น.ส.ศรีธรา พรหมา จำนวน 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นมารดาของ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล โบรกเกอร์ของบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี โดย น.ส.อุรชา อ้างว่าได้มาเพราะมีความสัมพันธ์กับนายชูวงษ์ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ทั้ง “ประพล มิลินทจินดา” และ “บรรยิน ตั้งภากรณ์” ต่างเกี่ยวพันกันจากการทำงานในกลุ่มพรรคภูมิใจไทยและกระทรวงพาณิชย์มาด้วยกัน ก่อนที่บรรยิน จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากการยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยในภายหลัง และถูกดำเนินคดีร้ายแรงตามมาทั้งการวางแผนพยายามแหกคุกและจ้างวานฆ่าพี่ผู้พิพากษา
“ปฏิญญา เทวอักษร” กรรมการบริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ KUN และ บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ TKS ผู้ปรากฏชื่อร่วมสร้างราคาหุ้น KIATลำดับที่ 11 ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับ “ประพล” โดยนอกจาก ปฏิญญา จะเป็นกรรมการของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 2 แห่งแล้ว ยังเป็นสามีของสุธิดา มงคลสุธี หรือเขยใหญ่ของสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. และยังถือว่าเป็นนักลงทุนพอร์ตใหญ่ที่ถือหุ้นในหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นในบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC จำนวน 67,170,000 หุ้น หรือ 0.8% บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON จำนวน 34,464,860 หรือคิดเป็น 1.8% ใน KUN จำนวน 12,480,000 หรือคิดเป็น 2% และ บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP จำนวน39,708,520 คิดเป็น 4.41%
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่าปฏิญญา เทวอักษร ได้ขายหุ้นของ บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON (บมจ.นิปปอนแพ็ค (ประเทศไทย) หรือ NPP ชื่อในขณะนั้น) จำนวน 2.62% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลมีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็น 3.39% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ โดยในวันเดียวกันนั้น “สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย” (ซึ่งเป็นกรรมการของ NPP ในขณะนั้น) และเป็นผู้ปรากฏชื่อในละดับที่ 8 ของกลุ่มผู้ร่วมกันสร้างราคาหุ้น KIAT ได้เข้าเก็บหุ้นเพิ่ม โดยได้แสดงการได้มาของหุ้น NPP จำนวน 2.619% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ส่งผลมีจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มาคิดเป็น 22.337% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ขณะที่ผู้ร่วมสร้างราคาหุ้น KIAT รายอื่นๆได้แก่ “น้ำ ชลสายพันธ์” ซึ่งเป็นผู้ที่ปรากฏรายชื่อในอันดับ 2 ของผู้สร้างราคาหุ้น KIAT และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ของ KIAT ถัดจากเกียรติชัย โดยถือหุ้นจำนวน 80,816,340 หุ้น หรือ 2.62% โดยถูก ก.ล.ต. พิจารณาลงโทษทางแพ่งด้วยการปรับเป็นเงินกว่า 10.53 ล้านบาท และยังทำให้มีคนในครอบครัว “ชลสายพันธ์” ต้องพลอยติดร่างแหไปด้วยอีก 2 คนคือ “นิภา ชลสายพันธ์” ซึ่งเป็นภรรยาของน้ำ และ “น้ำทิพย์ ชลสายพันธ์” บุตรสาว นอกจากนั้น ยังพ่วง “ศุภวุฒิ มณีรินทร์” บุตรเขยซึ่งเป็นบุตรชายของ พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตรอง ผบ.ตร. เข้าไปด้วย
หากย้อนอดีตกลับไปจะพบว่า “เสี่ยน้ำ” ชื่อเสียงของเสี่ยน้ำซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่รุ่นเก๋าในตลาดหุ้นที่นักลงทุนรู้จักกันเป็นอย่างดีถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นร้อน และถูกจับตามองในพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นมาตลอดแต่กลับไม่เคยถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ล่าสุด คดีการสร้างราคาหุ้น KIAT เท่านั้นที่นายน้ำ หรือเสี่ยน้ำ พลาดท่าจนถูกดำเนินคดี โดยในอดีตถึงกับเคยมีข่าวในการจะเข้าไปพัฒนาที่ดินราชพัสดุบริเวณพื้นที่หมอชิต ในสมัยที่นายนิพัทธ์ พุกกะณะสุต เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ แต่ตกเป็นข่าวฉาวโฉ่เสียก่อนทำให้ต้องล้มเลิกโครงการไปในที่สุด
“รินนภา คุณะวัฒน์สถิต” เป็นนักลงทุนขาใหญ่ ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งนับสิบบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นร้อนและมีปัญหาด้านฐานะการเงิน และบริษัทเหล่านั้นหลายแห่งอยู่ในฐานะเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นทรัพย์ เช่น หุ้นบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นลงมาเหลือไม่กี่สตางค์ นอกจากนี้ ยังถือหุ้นในบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF ซึ่งอยู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหุ้นอีกด้วย หรือแม้กระทั่งหุ้นบริษัท โพลาริส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ซึ่งมีปัญหาทุจริตและไซ่ฟ่อนเงิน จนขณะนี้บริษัทมีฐานะหนี้สินล้นพ้นตัว และหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP, NP, NC ถูกพักการซื้อขาย ขณะที่บริษัทเองก็เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และอดีตคณะกรรมการบริษัท POLAR เองก็ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษ และยังได้มีการประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สอบเส้นทางการเงินอีกด้วย ซึงจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในคดีแต่อย่างใด
การตกเป็น 1 ใน 13 ผู้ร่วมสร้างราคาหุ้น KIAT ไม่ใช่ครั้งแรกของรินนภา ที่ถูกดำเนินคดี เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยร่วมมือกับ “หนุ่ย สิปปกร ขาวสะอาด” อดีตเทรดเดอร์และนักใบ้หุ้นชื่อดัง ร่วมกันสร้างราคาหุ้น บริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRAF ซึ่งนายสุพงษ์ เตรียมชาญชัย หรือป๊อปที่เป็น 1 ใน 13 ผู้ร่วมสร้างราคาหุ้น KIAT เคยถือหุ้นใหญ่ก่อนที่จะขายหุ้นออกให้กลุ่ม นายวิชา พูลวรลักษณ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอ็มพิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC
“ศนิ จิวจินดา” ตามประวัติปรากฏเป็นผู้จัดการสถาบันเยาวชนเพื่อไทย ของพรรคเพื่อไทย และไม่รู้ว่ามีความสัมพันธ์กับใครในกลุ่มผู้ร่วมสร้างราคาหุ้น KIAT จึงมีชื่อติด 1 ใน 13 ราย เช่นเดียวกับ “ยศ ธนารักษ์โชค” กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สหคิมมอเตอร์ จำกัด ที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการตลาดหุ้นมากนัก
ส่วน "กิ่งกาญจน์ สมิตานันท์" จัดได้ว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ และถือหุ้นในหลายบริษัท โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ที่ “ประพล มิลินทจินดา”เป็น 1 ใน 13 ผู้ร่วมสร้างราคาหุ้น KIAT อีกคนถือหุ้นใหญ่
การสร้างราคาหุ้น หรือการปั่นหุ้นเกิดขึ้นมาตลอด นับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์มา 46 ปี แต่เป็นการปั่นหุ้นโดยนักลงทุนขาใหญ่ร่วมกับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน หรือเจ้าของหุ้นเป็นหัวหน้าขบวนการเอง และตั้งนอมินีขึ้นมาซื้อขายในลักษณะโยนหุ้นกัน คดีการสร้างราคาหุ้นบริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะมีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งร่วมขบวนการ สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายที่กว้างใหญ่ในการร่วมกันสร้างราคาหุ้นครั้งนี้ และไม่มีใครบอกได้ว่านี่จะเป็นคดีสุดท้าย ของขบวนการสร้างราคาหุ้นหรือไม่