xs
xsm
sm
md
lg

“การบินไทย” ยังเฝ้ารอความหวัง แม้แผนฟื้นฟูฯ ผ่านแต่กำไรมาปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การบินไทย” ได้แต่รอความหวัง ลุ้นเจ้าหนี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ 12 พ.ค.นี้ หลังวางเป้ารื้อโครงสร้างบริษัทใหม่ ลดค่าใช้จ่าย และช่วยสร้างภายในให้มีความสมดุล ด้านผู้บริหารคาดปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารจะกลับมาในปีหน้า ส่วนการพลิกกลับมาสร้างกำไรสุทธิอาจต้องรอยาวถึงปี 2558

อย่าแปลกใจ หากช่วงนี้เราจะได้พบเห็นผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) ออกมาเดินสายชี้แจงนักลงทุนและประชาชนทั่วไปให้เชื่อมั่นในศักยภาพของแผนฟื้นฟูธุรกิจที่ได้จัดทำขึ้น เพราะงานนี้มันเดิมพันด้วยอะไรหลายอย่าง สำหรับความอยู่รอดของสายการบินแห่งชาติซึ่งง่อนแง่นเต็มที โดยช่วงเวลาชี้วัดโชคชะตาของ THAI ถูกกำหนดไว้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ในการประชุมเจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูกิจการ

มีรายงานว่า เงื่อนไขที่จำให้สายการบินของประเทศยังสามารถเปิดให้บริการต่อไปได้ จะต้องมีกลุ่มเจ้าหนี้เห็นด้วยสัดส่วน 2 ใน 3 ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีเสียงโหวตเห็นชอบแผนมากกว่า 50% หลังจากได้ยื่นแผนฟื้นฟูที่บริษัทยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีการนัดประชุมเจ้าหนี้ตามกำหนดเวลาข้างต้น

ด้านผู้บริหาร THAI ซึ่งนำโดย “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ยืนยันว่าแผนฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติครั้งนี้ลงตัวและเป็นผลดีกับทุกฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น เนื่องจากใช้วิธียืดหนี้เงินต้นระยะยาว โดยไม่มีการตัดลดหนี้ (แฮร์คัต) ขอแค่ตัดลดดอกเบี้ย รวมทั้งยังมอบโอกาสให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งเรื่องดังกล่าวทีมผู้บริหารได้แบ่งทีมเดินสายเจรจากับกับกลุ่มเจ้าหนี้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่มีมูลหนี้กว่า 2.9 หมื่นล้านบาท และกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้มูลค่ารวมกว่า 7.1 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น เป้าหมายแรกของแผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ นั่นคือ การยืดหนี้ออกไปให้ยาวที่สุด ถัดมาคือแฮร์คัตดอกเบี้ยทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อเพิ่มโอกาสให้ THAI กลับมาได้หายใจคล่องตัวอีกครั้ง นั่นเพราะหากตัดภาระดอกเบี้ยจากหนี้ที่มีอยู่ได้น้อย จะทำให้โอกาสในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทเป็นไปได้ยาก

ขณะเดียวกัน แผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ ผู้บริหาร THAI เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ เพราะมันจะดีกว่าปล่อยให้ “การบินไทย” ล้มละลาย ซึ่งจะทำให้ได้เงินคืนจากบริษัทเพียง 13% ของมูลหนี้ อีกทั้งจำเป็นต้องใช้เวลาในการขายสินทรัพย์ร่วม 4-5 ปี แต่ในทางกลับกันหากแผนฟื้นฟูฯ ผ่านการเห็นชอบ กลุ่มเจ้าหนี้มีโอกาสจะได้เงินคืนถึง 50-60%

แต่สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมสำหรับแผนฟื้นฟูในครั้งนี้ นั่นคือ เงื่อนไขที่เจ้าหนี้ หรือผู้ถือหุ้นรายเดิมต้องใส่เงินสนับสนุนรวม 5 หมื่นล้านบาทเข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการบริษัท แบ่งเป็น เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และกระทรวงการคลัง กลุ่มละ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างกระทรวงการคลังต้องพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะฝั่งภาครัฐในวิธีการใส่เงินเข้าฟื้นฟูกิจการของ THAI ว่าจะดำเนินการในรูปแบบกระทรวงการคลังโดยตรง หรือใช้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาดำเนินการ รวมไปถึงรูปแบบการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัท

ไม่เพียงเท่านี้ เป้าหมายทางธุรกิจของ “การบินไทย” จำเป็นต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย โดยแผนฟื้นฟูได้ปรับวางตำแหน่งของ THAI เปลี่ยนเป็นสายการบินพรีเมียม เน้นทำการตลาดแบบนิชมาร์เกต นั่นทำให้จำนวนเส้นทางบิน และฝูงบินที่ให้บริการจะไม่มากเหมือนในอดีต แต่จะเน้นให้บริการเฉพาะเส้นทางบินที่มีกำไรเท่านั้น โดยคาดว่าภายใน 5 ปีตามแผนฟื้นฟูกิจการ THAI จะมีเส้นทางบินประมาณ 75-80 เส้นทางบิน

ขณะเดียวกัน เมื่อสายการบินถูกปรับเป้าหมายแล้ว THAI จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ด้วย นั่นคือการปรับลดผู้บริหาร และพนักงานให้เหลือ 14,000-15,000 คน จากต้นปีที่แล้วมีประมาณ 29,000 คน และสิ้นปีที่ผ่านมาเหลือพนักงานราว 20,000 คน ส่วนหน่วยธุรกิจในเครืออย่าง ครัวการบิน ฝ่ายช่าง คาร์โก้ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ จะถูกผลักดันออกมาเป็นบริษัทเพื่อขยายธุรกิจและหาพันธมิตรร่วมทุนต่อไป

เรื่องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้บริหาร THAI ให้น้ำหนักต่อการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพ โดยใน 5 ปีตามแผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ การบินไทยจะต้องลดค่าใช้จ่ายประมาณ 35% ของค่าจ่ายทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และเจรจาขอลดค่าเช่าเครื่องบิน และหากเป็นไปตามแผนบริษัทจะสามารถกลับมาเริ่มชำระหนี้ได้อีกครั้ง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ THAI กำลังเดินหน้าปล่อยขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป เพื่อลดปัญหาค่าเสื่อมราคา และภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา เช่น หุ้นของสายการบินนกแอร์ หุ้นของ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) รวมถึงเครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน และอาคารศูนย์ฝึกอบรม

อีกทั้ง THAI ยังผลักดันให้สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% หารายได้จากการบินเส้นทางภายในประเทศ รวมไปถึงปรับตัวในการหารายได้จากการขนส่งสินค้า และขายสินค้าที่เกี่ยวกับบริการด้านการบิน ถือเป็นการตอกย้ำว่า “ไทยสมายล์” ยังมีความจำเป็นสำหรับ “การบินไทย” โดยเฉพาะการทดแทนในส่วนที่บริษัทจะไม่ดำเนินการเอง เช่น มอบหมายให้ “ไทยสมายล์” เข้ามาให้บริการเที่ยวบินในประเทศบางเส้นทางของ “การบินไทย” เนื่องจากขนาดเครื่องบินนั้นเล็กกว่าจึงสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า ซึ่งแผนงานดังกล่าวผู้บริหาร THAI เชื่อว่าจะทำให้ “ไทยสมายล์” มีรายได้มากขึ้นและยั่งยืน

“ขณะนี้เรามีแผนโครงการที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายสร้างรายได้กว่า 500 โครงการและได้ทำไปแล้วหลายโครงการ คิดเป็นมูลค่าที่กลับคืนบริษัทในรูปแบบต่างๆ ประมาณ 5,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ จะเพิ่มเป็น 36,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแผนฟื้นฟูผ่านจะขับเคลื่อนโครงการได้เต็มที่ประเมินว่าในปี 2565 มูลค่าที่กลับคืนบริษัทจะเพิ่มเป็น 58,000 ล้านบาท” นายชาญศิลป์ กล่าว

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า จากช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินเป็นกลุ่มธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจสายการบินของประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ต่างมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิทุกบริษัท 

เริ่มที่ “การบินไทย” มีผลขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 129,163 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นขาดทุนสูงสุดในรอบ 7 ปี จากรายได้รวม 48,311 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 137,735 ล้านบาท หรือลดลง 73.8% เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 75.4%

ขณะที่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) รายงานผลประกอบการปี 2563 ขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 5,283.2 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 350.8 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 10,216.3 ล้านบาท ลดลง 64.2% โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) 62.9% ลดลงจากปีก่อน 68.1% มีผู้โดยสารรวม 1.88 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนที่มีผู้โดยสาร 5.86 ล้านคน

ด้าน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินไทยแอร์เอเชีย รายงานว่า ผลประกอบการปี 2563 บริษัทมีขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 4,764.1 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีขาดทุนสุทธิ 474 ล้านบาท และมีรายได้รวม 16,237.3 ล้านบาท ลดลง 61% โดยมีรายได้หลักคือรายได้จากการขายและการให้บริการ 13,633.9 ล้านบาท ลดลง 66%

ส่วน บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ายังไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้ตามกำหนด เนื่องจาก NOK ยังไม่สามารถประเมินรายการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อข้อมูลทางการเงินและผลการดำเนินงานอันเป็นสาระสำคัญได้

ไม่เพียงเท่านี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้แจ้งดำเนินการกับ บมจ.การบินไทย (THAI) กรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้นอาจเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน โดย THAI มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง -128,742 ล้านบาท ทำให้หลักทรัพย์ THAI มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนเป็นปีที่ 1 (NC ระยะที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.2564 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย NC และยังคงเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อหรือขายต่อไป พร้อมทั้งให้บริษัท กำหนดเวลาดำเนินการตามแนวทางที่เลือกฟื้นฟูกิจการ หรือทางเลือกอื่นใด และเผยแพร่ให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้ทราบภายในวันที่ 7 เม.ย.2564 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้ระยะเวลาแก่ THAI ในการแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายใน 3 ปี ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2564 ซึ่ง “การบินไทย” ได้รายงานผลประกอบการแก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลพี/อีเรโชของตลาดหุ้นพุ่งขึ้นเป็น 40 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า THAI จะมีมรสุมรอบด้าน และมองไม่เห็นแนวทางการฟื้นฟูกิจการ แต่ราคาหุ้นกลับไม่ได้ดิ่งลงก้นเหวเสียทีเดียว เพราะยังมีแรงซื้อเข้ามาในบางช่วง โดยใน 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาเคยต่ำสุดที่ 2.74 บาท แต่ก็มีการไล่ราคาไปสูงสุดที่ 7.85 บาท/หุ้น ล่าสุดก่อนถูกพักการซื้อขายหุ้น THAI ปิดที่ 4.08 บาท/หุ้น

และสิ่งที่แปลกประหลาด คือ แม้ยังไม่อาจคาดหมายอนาคตได้ และไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับต่อความเหมาะสมของราคาหุ้น แต่ที่ผ่านมายังมีนักวิเคราะห์หรือนักเชียร์หุ้นบางรายออกมาแนะให้นักลงทุนซื้อหุ้น THAI อยู่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ให้ราคาหุ้นไม่ผันผวน และมูลค่าซื้อขายยังอยู่ในระดับหลายสิบล้านหรือบางวันเคาะซื้อขายกันกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ลงทุนชนิดที่ขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับ หรือไม่มีความสมเหตุสมผล

ทำให้ ณ ห้วงเวลานี้ “การบินไทย” ได้แต่รอความหวังว่าผลจากการเดินสายชี้แจงเจ้าหนี้ของผู้บริหารจะประสบผลสำเร็จ จนแผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบ ซึ่งจะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน บริษัทยังจำเป็นที่จะต้องตัดเฉือนยูนิตที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายและยอมรับกับจุดยืนใหม่ของสายการบินที่ไม่ใช่ “พรีเมียม” เพื่อค้นหาตัวตนที่มีศักยภาพของบริษัท รวมไปถึงการเฝ้ารอโอกาสให้เชื้อไวรัส COVID-19 ถูกควบคุมได้ทั่วโลก เพื่อให้โลกแห่งการบินกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

“ผมเชื่อว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด เราคาดว่าผู้โดยสารการบินไทยจะกลับมาในสัดส่วน 40-50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเหลือเพียง 10% ซึ่งการเดินทางจะเริ่มกลับมาในช่วงปลายปีนี้ หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว คนจะเริ่มมั่นใจ และกลับมาเดินทาง”... “ชาญศิลป์” แสดงความเห็น

ทั้งนี้ THAI คาดการณ์ต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า การเดินทางของผู้โดยสารจะกลับมาในปี 2565 ซึ่งจะมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ประมาณ 85% มีปริมาณเที่ยวบินประมาณ 81% มีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 77% เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปี 2562 ก่อนเกิด COVID-19 หลังจากนั้น ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งปี 2567 จะมีรายได้ถึงจุดคุ้มทุนและจะมีกำไรในปี 2568

นั่นหมายความว่า ในแผนฟื้นฟูฯ ของบริษัทมีการออกแบบการบินใหม่ให้สอดคล้องกับผู้โดยสารที่ผู้โดยสารทั่วไปที่จะเพิ่มขึ้นแทนนักธุรกิจซึ่งกำลังพิจารณาเรื่องที่นั่งชั้นธุรกิจ (Business Class) ว่าจะเพิ่มหรือลดขณะที่การเลือกเส้นทางบินจะมี 6 แนวทางในการพิจารณา พร้อมกันนื้ คือ การเลือกเส้นทางที่เคยมีกำไรมีความแข็งแกร่งในตลาดทั้งแง่สินค้าและผู้โดยสาร เช่น แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน โตเกียว จากนั้นปรับเปลี่ยนเครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทาง

รวมไปถึงปรับเปลี่ยนการขาย และปรับปรุงราคาเส้นทาง พร้อมกับการเชื่อมต่อเครือข่าย (Connecting) แบบไร้รอยต่อซึ่งการร่วมมือจะไม่เฉพาะระหว่างการบินไทยกับไทยสมายล์ แต่จะรวมถึงนกแอร์ บางกอกแอร์เวย์สด้วย ส่วนสตาร์อัลไลแอนซ์ จะใช้ประโยชน์ร่วมกันกับพาร์ตเนอร์โค้ดแชร์ให้มากที่สุด และสุดท้าย คือการเปิดเส้นทางบินใหม่

ส่วนราคาจะยืดหยุ่นมากขึ้นปรับเปลี่ยนตามจำนวนที่นั่งและปริมาณความต้องการในขณะนั้น และมีให้เลือกหลายราคาตามบริการที่ต้องการเพื่อให้มีมาร์จิ้นที่ดีกว่าเดิม หลังจากบริษัทมีปัญหาด้านผลประกอบการมาหลายปี และถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อต้นปี 2563

ปัจจุบัน แวดวงการลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ หุ้น THAI น่าจะกลับมาเปิดการซื้อขายอีกครั้ง แต่การฟื้นฟูกิจการ THAI ไม่ใช่เรื่องง่าย และเงื่อนเวลา 3 ปีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯขีดเส้นไว้ มีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจยังฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ ทำให้การเปิดซื้อขายหุ้น THAI ครั้งใหม่ถือเป็นอีกโอกาสของผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับหุ้นตัวนี้ จะถือต่อไปเพื่อซื้ออนาคต หรือยอมขายทิ้งออกไป

เพราะถ้าใน 3 ปีข้างหน้า หากบริษัทไม่สามารถแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนได้ หุ้น THAI จะถูกขับพ้นตลาดหุ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้ซื้อขายหุ้นรอบสุดท้ายอีก 7 วัน ซึ่งถึงตอนนั้นหุ้นคงแทบไม่มีราคาแล้ว และผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะชิงกันขายทิ้ง จนอาจเหลือไว้เพียงแค่ “ตำนาน”

การบินไทยประกาศติดป้ายขายสำนักงานฝึกอบรมลูกเรือ หลักสี่










กำลังโหลดความคิดเห็น