xs
xsm
sm
md
lg

จับตากลุ่มลีสซิ่งหุ้นแรงเคลมเร็ว ปรับกลยุทธ์สู้โควิด-19 ดันพอร์ตสินเชื่อโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทจดทะเบียนกลุ่มเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง เร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจหนุนพอร์ตสินเชื่อโตตามเป้า “MTC” ปักธง 3 ปีขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่ม 20-25% กด NPLs ต่ำ พร้อมลงสนามชิงเค้กสู้ศึกรถมือสอง “SAWAD” จับมือพันธมิตร “ออมสิน” ลุยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ตั้งเป้าโต 20% ขณะที่ SINGER รุกขยายสาขา 1 เท่าตัว เพิ่มพอร์ตสินเชื่อปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท

หากเอ่ยถึงหุ้นกลุ่ม “เช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง” ในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นั้น เรียกได้ว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจอยู่ในช่วงผันผวนหนัก ปัจจัยต่างประเทศกดดันทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสถานะติดลบ และยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนักลงทุนเองกังวลในส่วนของความสามารถที่จะชำระหนี้ของลูกหนี้กันอยู่ไม่น้อย เพราะตัวเลข NPL ที่สะท้อนออกมาในรายงานผลประกอบการรายไตรมาสนั้นปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้กดดันให้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากปัจจัยบวกด้านการส่งออกและการดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจากการลงทุนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC กลับต้องชะงักงันและปักหัวลงไปในทันที บางอุตสาหกรรมต้องปิดทำการชั่วคราว จนถึงปิดกิจการถาวร เพราะไม่สามารถควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดหนักถึงขั้นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดเวลาเคอร์ฟิว และปิดประเทศ ปิดเมืองกันเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจนักว่าเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับปริ่มน้ำอยู่แล้ว กลับจมดิ่งจนยากที่จะพลิกฟื้นกลับขึ้นมาในเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ก่อนที่จะลุกลามกระจายไปยังหุ้นกลุ่มอื่นๆ ในห่วงโซอุปทานทั้งกลุ่มโรงแรม ขนส่ง บริการ โรงพยาบาล 

ล่าสุด จากการประชุมของคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพิจารณาแก้กฎหมายแพ่งฯ ในการลดดอกเบี้ยตามกฎหมายเพื่อช่วยลดภาระของลูกหนี้จากการชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย โดยจะปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายให้อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด โดยปรับลดจากอัตรา 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลังจะทบทวนทุก 3 ปี และอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ปรับลดจาก 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 5% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนี้เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี รวมถึงกำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้ ส่งผลให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งหมด

MTC ปักธง 3 ปีพอร์ตสินเชื่อโต 20-25%

ปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากลยุทธ์ธุรกิจกรอบระยะกลาง 3 ปี ในการที่จะขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20-25% พร้อมทั้งขยายสาขาย่อยไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอีกไม่น้อยกว่าปีละ 600 สาขา โดยวางเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อประมาณ 14.2-14.5 ล้านบาท/เฉลี่ยต่อสาขา พร้อมทั้งขยายรูปแบบการให้บริการสินเชื่อที่หลากหลายทั้ง 1.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์สัดส่วนประมาณ 34% 2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์สัดส่วนประมาณ 32% 3.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สัดส่วนปะมาณ 11% 4.สินเชื่อส่วนบุคคลสัดส่วนประมาณ 10% 5.สินเชื่อจำนำโฉนดที่ดินสัดส่วนประมาณ 7% และ 6.สินเชื่อจำนำรถแทรกเตอร์สัดส่วนประมาณ 4% นอกจากนี้ ยังได้ปรับกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงด้วยการควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไว้ไม่ให้เกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 1-1.5%

“จากการที่บริษัทศึกษา และทดลองตลาดธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่กลางปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อมากกว่า 6 พันคันในวงเงินประมาณกว่า 300 ล้านบาท โดยในปีสำหรับปี 2564 นี้ บริษัทมีการเน้นเพิ่มเข้ามาเป็น New S-Curve ทั้งยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ และรายได้ดอกเบี้ยรับ โดยผลสำรวจจากลูกค้าพบว่ามีการจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ณ ปัจจุบันกว่า 2 ล้านรายของบริษัท มีจำนวนลูกค้า 1.4 ล้านคนต้องการเปลี่ยนรถใหม่ ทำให้มั่นใจได้ว่าในปีนี้ธุรกิจ Hire Purchase จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่จะหนุนทั้งรายได้และพอร์ตสินเชื่อของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งปัจจุบันบริษัทคิดที่ 18%”

ลงสนามชิงเค้กประมูลรถมือสอง

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เล็งหาโอกาสเติบโตด้วยการต่อยอดจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ธุรกิจประมูลรถมอเตอร์ไซค์มือสอง โดยปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ประมูลทั้งสิ้น 6 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดยนำรถที่บริษัทยึดได้มาประมูลขายทอดตลาด โดยจากปริมาณความต้องการรถจักรยานยนต์มือสองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมที่จะขยายศูนย์ประมูลเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมปี 2562 อยู่ที่ 12,687.93 ล้านบาท และปี 63 ที่ 14,768.73 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 4,237.47 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 5,213.92 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปี 2562 ที่ 135,150 ล้านบาท และปี 2563 ที่ 125,080 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ณ วันที่ 15 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 145,220 ล้านบาท ส่วนพอร์ตสินเชื่อปัจจุบันมีจำนวนคงค้างทั้งสิ้น 70,607 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ชั้นดีกว่า 92% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือจำนวน 2.6% และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ที่ 1.06% รวมวงเงินทั้งสิ้น 741 ล้านบาท

โบรกเกอร์แนะซื้อ 80 บาท/หุ้น

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) คาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 2564 ของ MTC ที่ 6.03 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% YoY หนุนจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัว +17% YoY จากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น 600 แห่ง/ปี พร้อมกันนี้คาดว่าลูกหนี้จะยังคงเลือกใช้บริการของ MTC แม้ GSB+SAWAD จะเข้ามาเพิ่มบรรยากาศการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน ด้วยจุดเด่นคือมีอัตราดอกเบี้ยต่ำก็ตาม แต่อาจส่งผลให้ loan yield ของ MTC ปรับตัวลงเป็น 20.9% จากปี 2563 ที่ 21.3% คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 80 บาท โดย MTC มีจุดเด่นคือการรักษาระดับ NPLs ให้อยู่ในระยะที่ต่ำ 1.1%

ขณะที่ กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.หลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกให้แก่กลุ่มธุรกิจบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาการผ่อนชำระของกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกปรับเข้าสู่ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือ NPL ซึ่งผู้ประกอบการตั้งสำรอง และหรือตัดบันทึกหนี้ดังกล่าวเป็น “ค่าใช้จ่าย” ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อลูกหนี้กลุ่มนี้เริ่มผ่อนชำระจะบันทึกเป็น “กำไร” ทันที โดย MTC และ SAK มีทั้งสินเชื่อมีหลักประกัน และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ด้วยศักยภาพทางธุรกิจจึงแนะนำ “ซื้อ” MTC ราคาเหมาะสม 79 บาท

SAWAD จับมือออมสิน ลุยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์

ดวงใจ แก้วบุตตา กรรมการผู้จัดการ บริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า บริษัทในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด” ซึ่งได้มีการร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารออมสิน เพื่อให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ โดยจะรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย คือคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ต่อปี พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำนำทะเบียนรถยนต์ของ SAWAD โดยคาดหวังว่ากลุ่มบริษัทจะสามารถปล่อยสินเชื่อรวมกันได้เพิ่มขึ้นจนสามารถครอบคลุมรายได้ในอนาคต

“ประเมินว่ารายได้และพอร์ตลูกหนี้จะเติบโต 20% โดยปีนี้กลุ่มศรีสวัสดิ์ ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจซึ่งประเมินว่าปี 2564 นี้ น่าจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัว และอาจจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาได้ในช่วงปลายปี เมื่อสามารถควบคุมโควิด-19 ในวงกว้างได้ทั้งโลกแล้ว ขณะที่สภาพเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นได้แล้ว เป็นไปได้ที่จะเริ่มมีความมั่นใจและ และประชาชนมีความต้องการเงินไปลงทุนหรือ หมุนเวียนในธุรกิจกันมากขึ้น” ดวงใจ กล่าว

ด้านวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเสริมว่า การร่วมมือเป็นพันธมิตรกันในการดำเนินธุรกิจ “จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์” ผ่านบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป มีวัตถุประสงค์หลักคือการปรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยทั้งระบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถขยายพอร์ตจำนำทะเบียนรถของบริษัทเงินสดทันใจแตะ 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.67% จาก ณ สิ้นปี 2563 ที่ 6,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินพร้อมที่จะเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อ หากมีความต้องการมากกว่าที่ประมาณการไว้

“จุดแข็งของเงินสดทันใจคือ จำนวนสาขาของทั้งออมสิน และเงินสดทันใจ โดยเงินสดทันใจมีสาขาที่มีอยู่เกือบ 5,000 สาขาทั่วประเทศ เมื่อรวมกับออมสินที่มีอีกเกือบ 1,000 สาขาแล้ว จะสามารถช่วยให้คนไทยเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น โดยในส่วนของ “SAWAD” เองก็ยังมีการดำเนินธุรกิจ “จำนำทะเบียนรถยนต์” อยู่แล้ว ซึ่งการทำธุรกิจร่วมกับออมสินอาจจะมีผลกระทบมาถึงส่วนนี้ คาดว่าวอลุ่มที่จะได้จากการร่วมทำธุรกิจกับออมสินจะสามารถกลับมาชดเชยได้ในอนาคต” วิทัย กล่าวทิ้งท้าย

โบรกเกอร์เคาะเป้า 101 บาท/หุ้น

บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในบทวิเคราะห์ว่า การที่ SAWAD ลงนามธุรกิจร่วมกับ ธ.ออมสิน จัดตั้ง JV เพื่อใช้เป็น platform การปล่อยกู้ใหม่ที่ตั้งขึ้น จะทำให้ SAWAD สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจ non-bank รวมถึงการที่มีผู้เล่นรายใหม่ที่เพิ่มเข้าในตลาดเป็นจำนวนมากได้อย่างดี โดยฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่า โครงสร้างบริษัทของ SAWAD จะมีศักยภาพในการแข่งขันที่ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น และจะช่วยให้บริษัทสามารถเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มนี้ได้ อีกทั้งการร่วมกับบริษัทพันธมิตรจะสามารถเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ และฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของทั้งธนาคารออมสินได้ นอกจากนี้ การแยกธุรกิจ leasing มอเตอร์ไซค์ออกมา และบริหารโดยมืออาชีพ จะทำให้บริษัทมี platform สำหรับการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมปี 2565 ที่ 101 บาท/หุ้น

SINGER ตั้งเพิ่มพอร์ตสินเชื่อ 1 หมื่นล้าน

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 277 ล้านบาท หรือโต 166.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 166 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,050 ล้านบาท หรือ 40.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2,610 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 195.2% รายได้รวมอยู่ที่ 1,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.3%

“แม้ในปีที่ผ่านมาจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้ง การล็อกดาวน์ปิดเมือง แต่บริษัทฯ มีจุดแข็งในรูปแบบการขายตรงผ่านตัวแทน 2,000 ราย ประกอบกับการขยายสาขาผ่านแฟรนไชส์ หรือร้านสาขาย่อยได้แล้ว 2,000 แห่ง รวมถึงการ Synergy ร่วมกันในกลุ่มเจมาร์ท ผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 6,604 ล้านบาท เติบโตขึ้น 82.8% จาก 3,612 ล้านบาทเมื่อต้นปี โดยแบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) 3,155 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 3,449 ล้านบาท” กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SINGER กล่าว

โดยวางกลยุทธ์ปี 2564 เดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อให้เติบโต หรือมีสินเชื่อแตะระดับ 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อรถทำเงินเป็นพอร์ตที่มีอัตราดอกเบี้ยดี และความเสี่ยงต่ำ จะยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ระดับที่ดี แม้จะเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

บริษัท เคทีบีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST ให้มุมมองต่อหุ้น SINGER ว่า จากการที่ Loan yield ของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (C4C) มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 15-16% (KTBST คาด 15%) จากการปล่อยสินเชื่อรถกระบะที่มียิลด์สูงเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ปล่อยสินเชื่อจำนำรถบรรทุก 10 ล้อ อีกทั้งรายได้จากการขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.5 พันล้านบาท หนุนโดยการขยายช่องทางขายออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถนำข้อมูลลูกค้ากลุ่มนี้มาใช้ในการขายสินค้า/ปล่อยสินเชื่อในอนาคตเพิ่มขึ้น (Online to offline platform)

ในด้าน NPLs ที่มีการปรับลดลงเป็น 3.4% (จากปี2563 ที่ 4.4%) ตามสัดส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (สินเชื่อที่มี NPLs ต่ำเพียง 0.4%) เพิ่มขึ้นเป็น 65% จากปี 2563 ที่ 52% ขณะเดียวกัน ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 637 ล้านบาท เติบโต 44% ทำสถิติสูงสุดหรือนิวไฮต่อ ดังนั้น ยังแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 40.00 บาท

ขณะที่ กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้นั้นเป็นผลดีต่อประชาชน แต่อาจจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเพียงเล็กน้อย ถึงแม้รายได้จากดอกเบี้ยจะเป็นรายได้หลัก แต่รายได้จากค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้มีสัดส่วนไม่มาก อาจจะลดลงจากปกติที่เคยได้ แต่ไม่มีผลมากนัก

นอกจากนี้ สถาบันการเงินไม่ได้คาดหวังกับรายได้ในส่วนนี้มากนัก เพราะการทำธุรกิจไม่ควรมีหนี้เสีย และเน้นลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินภาพรวมของหุ้นกลุ่มเช่าซื้อว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเช่าซื้อจำกัด เพราะรายได้จากการปรับล่าช้า คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรายได้รวม ซึ่งไม่ใช่รายได้หลักของกลุ่ม อีกทั้งในปี 2563 ผู้ให้บริการในกลุ่มเช่าซื้อแทบไม่ได้มีการคิดค่าปรับจากลูกค้ามากนัก เนื่องจากลูกค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ได้จากการระบาดของโควิด-19 ผู้ให้บริการจึงต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเอาไว้

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการในกลุ่มเช่าซื้อในปัจจุบันนี้หันมาเน้นขายประกันให้ลูกค้ามากขึ้นแทน โดยแนะนำหุ้นที่ราคาหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อหลายตัวปรับเพิ่มขึ้นมากจนใกล้เคียงมูลค่าพื้นฐานปี 2564 แล้ว

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อจำนำทะเบียน ได้แก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท.ที่เข้มงวดมากกว่า และ MTC ไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระ แต่กลุ่มไฟแนนซ์จะไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย และการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระบนเงินต้น เนื่องจากปัจจุบันสัญญาได้ระบุอัตราดอกเบี้ยแบบ EIR และคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นเท่านั้นอยู่แล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น