xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ ปรับโมเดลออกแบบธุรกิจใหม่ ตั้ง AMC กวาดพอร์ต NPA บริหารหนี้บ้าน-คอนโดฯ หนุนรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กลายเป็น "ความเสี่ยง" ที่ รีเทิร์นกลับมาส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่จีดีพีอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ระดับ 4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวยังเป็นการพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในขั้นตอนของการเปิดรับในรูปแบบจำกัดพื้นที่ หรือแอเรียล ควอรันทีน โดยในวันที่ 1 เมษายนนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันจะเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวนำร่องใน 5 จังหวัด

ในส่วนของ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ปัจจุบัน ต้องหันกลับมาพึ่งพากำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าคนไทย เนื่องจากตลาดนักลงทุน และกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติยังติดข้อจำกัดในการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศยังต้องการป้องกันความเสี่ยงการไปรับเชื้อจากภายนอกประเทศมา ส่งผลให้โครงการคอนโดมิเนียมที่ทำตลาดในกลุ่มโควตาต่างชาติหลายแห่ง ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อและบางส่วนไม่สามารถเข้ามาตรวจสภาพห้องได้ มีผลให้บางโครงการไม่มีรายได้จากการโอนในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ แม้ว่าแต่ละโครงการจะพยายามจูงใจและเสนอเงื่อนไขพิเศษ แต่กระนั้นก็มีบางโครงการที่กำลังถูกลูกค้าฟ้องร้องที่ยึดเงินลูกค้า เป็นต้น

"มาตรการการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ อาจจะได้แค่บรรเทาสต๊อกสินค้าให้ลดลงไปได้บ้าง แต่คงไม่เพียงพอ ดังนั้น การกระตุ้นกำลังซื้อชาวต่างชาติจึงเป็นอีกเรื่องที่อยากนำเสนอให้รัฐบาลมาทบทวน ทั้งเรื่องการขยายวีซ่าฟรีให้ชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาฯ ได้เข้ามาอยู่ในไทยได้นานขึ้น เพื่อเกิดการจับจ่ายในประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกหรือลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติทำได้รวดเร็วขึ้น และการขยายเวลาสิทธิการเช่าจาก 30 ปี เป็นการเช่าระยะยาว 50-90 ปี โดยทำสัญญาฉบับเดียวไม่ต้องต่ออายุ" น.ส. สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวให้ความเห็น ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลได้ต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลงเหลือรายการ 0.01% ในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับไม่เกิน 3 ล้านบาทไปจนถึงสิ้นปี 2564

โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากได้รัผลกระทบจากโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่จีดีพีติดลบบ 7.8% ส่งผลให้ตัวเลขพรีเซลในปี 2563 ทั้งตลาดทำได้ระดับ 268,811 ล้านบาท ลดลง -31% และเทียบกับปี 2561 ลดลงกว่า -47% โดยกลุ่มคอนโดฯ ในปี 63 หนักสุด ลดลง -54% ยกเว้นกลุ่มทาวน์เฮาส์ที่เติบโตได้ระดับ 1% แต่ที่เป็นไฮไลต์ สำคัญในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงปี 2564 คือ กลยุทธ์เรื่องของราคา เพื่อบริหารเงินสด และเร่งระบายสต๊อกคงค้างออกไปให้มากที่สุด ส่งผลมูลค่าการโอน (Transfer amount) สูงถึง 457,116 ล้านบาท บวกเพิ่มขึ้น 4% มีพระเอก คือ กลุ่มสินค้าประเภทแนวราบ เนื่องจากโควิด-19 ได้เร่งพฤติกรรมผู้บริโภคตัดสินใจซื้อโครงการแนวราบ เนื่องจากมีพื้นที่รองรับการใช้ชีวิต และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเรื่องการทำงานที่บ้าน (WFH) สินค้าบ้านเดี่ยวเติบโตขึ้น 17%

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปมและประเด็นใหญ่ที่ต้องเฝ้าติดตามในปี 2564 คือ เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกและไทยยังไม่ยุติ เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง คาดว่าจีดีพีจะเติบโตระดับ 2% หนี้ครัวเรือนและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อสังหาริมทรัพย์อยู่ระดับสูง และเรื่องของตลาดแรงงานยังคงเปราะบางในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคบริการ แต่สิ่งที่จะพอเป็นความหวัง คือ การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันโควิด-19 แต่ทั้งนี้ต้องดูผลสำเร็จของการฉีดวัคซีน และสิ่งที่จะทำได้คือ มาตรการภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

"มองว่าดีมานด์ของภาคอสังหาฯ จะฟื้นตัวในปีนี้ แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าจะเป็นกลุ่มโครงการแนวราบที่เปิดตัวอย่างต่อเนื่อง การระบายสต๊อกสินค้ายังคงเกิดขึ้น ขณะที่ในครึ่งปีหลังจะเข้าสู่หมวดของการเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง" แหล่งข่าวกล่าวและฉายภาพต่อว่า

บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เริ่มปรับและจัดทัพธุรกิจใหม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการขยายไลน์ไปสู่ธุรกิจที่เสริมสร้างรายได้ประจำ เช่น ธุรกิจโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ รวมถึงในกลุ่มคอมเมอร์เชียล แต่ยังคงเป็นแนวที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่างเช่น บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่เดินทางไปกลุ่มดังกล่าวเพื่อรองรับรายได้ระยะยาว ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำ "แอสเสท" เหล่านี้จัดตั้งเป็นกองรีท สร้างรายได้และระดมทุนเพื่อขยายโครงการต่อ


อสังหาฯ ฉีกกฎธุรกิจ ตั้งเอเอ็มซีรุมทึ้ง NPA

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า เห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ในการแตกไลน์ธุรกิจไปสู่ "เซกเตอร์" ใหม่ที่ยังเป็นตลาดใหม่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาวะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan หรือ NPL คือ เงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระเงินต้นเกิน 90 วัน หรือที่เรียกว่า "หนี้เสีย") มีสัดส่วนที่สูงขึ้น และภาคสถาบันการเงินพยายามที่จะลดความเสี่ยงในตัวเลขเอ็นพีแอล และเรื่องการตั้งสำรองตามเกณฑ์จัดชั้นหนี้ โดยจัดกองเปิดประมูล ซึ่งร่วมถึงทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ออกจำหน่ายให้กลุ่มที่สนใจ

"การขยายธุรกิจสู่ธุรกิจใหม่ช่วยให้ผู้ประกอบการอาจไม่เคร่งเครียดเปิดโครงการเยอะ จนนำไปสู่ภาวะโอเวอร์ซัปพลายในปัจจุบัน และการเพิ่มความหลากหลายในธุรกิจจะเสริมรายได้หรือปันผลเข้าสู่บริษัท โมเดลธุรกิจของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่เป็นอยู่ถือว่าประสบความสำเร็จ และมีความแข็งแกร่งในธุรกิจที่ทำอยู่ ส่วนรูปแบบของ โนเบิล ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่นฯ เป็นอีกหนึ่งโมเดลของการกระจายความเสี่ยงเช่นกัน เป็นการก้าวสู่ธุรกิจบริหารหนี้ ผ่านการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งโนเบิลคาดหวังในเรื่องของผลตอบแทน และอาจจะต่อยอดไปสู่ตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากแอสเสทส่วนใหญ่ของ ศรีสวัสดิ์ จะอยู่ต่างจังหวัด เช่นเดียวบริษัท ออริจิ้นฯ ที่ประกาศเข้าสู่ธุรกิจการบริหารหนี้ ผ่านการจัดตั้งเอเอ็มซี เป็นการหาตลาดในน่านน้ำใหม่ แน่นอนลำพังของออริจิ้นฯ คงไม่พอ ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในวงการเงิน บริหารหนี้ และมีคอนเน็กชันที่ดีกับสถาบันการเงิน ร่วมขับเคลื่อนบริษัทเอเอ็มซี ที่จัดตั้งมา" แหล่งกล่าวให้ความเห็น


ORI จัดทัพธุรกิจ "รุกธุรกิจบริหารหนี้บ้าน-เฮลท์แคร์"

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) "ORI" กล่าวถึงการจัด "รูปแบบธุรกิจใหม่" ของบริษัทในปี 2564 ว่า บริษัทได้วางแผนก้าวไปข้างหน้าแบบ Next Level จะสร้างรากฐานการเติบโตที่แข็งแกร่ง และมั่นคงให้แก่บริษัทในระยะยาว โดยการขยายการเติบโตของบริษัทให้เป็นมากกว่าผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นธุรกิจที่สร้างสินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้คนในทุกช่วงวัย

"วันนี้เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย เรามองตัวเองสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสินค้าและบริการต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่อง หรือ Beyond Property เพื่อตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชันตลอดช่วงชีวิตของเขา" นายพีระพงศ์ กล่าว

โดยในปีนี้งบลงทุนที่จะเกิดขึ้น 10,000 ล้านบาท เป็นส่วนของธุรกิจหลักประมาณ 8,000 ล้านบาท และอีก 2,000 ล้านบาท จะนำมารองรับลงทุนใน 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ (ซึ่งได้ดำเนินการร่วมทุนกับ JWD) ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) และธุรกิจเฮลท์แคร์

ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) จะมีบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท บริหารสินทรัพย์ พรอมมิเนนท์ จำกัด รับผิดชอบ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งระหว่างที่รอใบอนุญาต (ไลเซนส์) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทางบริษัทจะเข้าไปช่วยบริหารหนี้ และเมื่อได้รับไลเซนส์แล้วจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเข้าประมูลกับสถาบันการเงิน เน้นพอร์ตหนี้ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดฯ ระดับราคา 5-10 ล้านบาทตามแนวรถไฟฟ้า บ้านจัดสรร 3-7 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured loan) โดยจะเน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และหาช่องทางในการช่วยหารายได้ให้แก่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้ได้ เช่น การหาผู้เช่าหรือการหาคนมาซื้อต่อ เป็นต้น

"ในระยะแรกมูลค่าที่จะเข้าไปประมูลหนี้มาประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งราคาตลาดอาจจะอยู่ระหว่าง 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทจะใช้กระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจช่วงแรก 200-300 ล้านบาท และพยายามบริหารเงินเพื่อหมุนรอบการเข้าไปซื้อหนี้ เช่น จะดูแลลูกหนี้ 1 รายประมาณ 2 ปี หนี้ที่ประมูลได้จะนำมาเข้าโปรแกรมชำระหนี้ เช่น ยืดการจ่ายชำระ การแฮร์คัตหนี้บางส่วน เพื่อให้ลูกค้าอยู่ได้ และสามารถยื่นรีไฟแนนซ์กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต่อ เพื่อเป็นสินเชื่อปกติ ดีกับระบบเศรษฐกิจ หนี้เสียในระบบลดลง ส่วนทรัพย์สินรอการขาย ทางเอเอ็มซี จะเข้าไปช่วยปรับปรุงทรัพย์ให้ดีขึ้น โดยเป้ารายได้ประมาณ 100-200 ล้านบาท ก่อนขยายพอร์ตให้เติบโตขึ้น"

ขณะเดียวกัน ในส่วนของลูกค้าของบริษัทออริจิ้นฯ ทางบริษัทจะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทฯ เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจของออริจิ้นฯ จะมีเอเอ็มซีเข้ามาดูแลลูกหนี้ เป็น case-by-case กับลูกค้าของแต่ละธนาคารที่ปล่อยกู้มา เป็นต้น

สำหรับภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้ มองว่ายังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นความท้าทายของบริษัทในเรื่องของการบริหารจัดการช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการยื่นขอสินเชื่อให้ผ่าน เพื่อให้ลูกค้าสามารถโอนโครงการได้ โดยในปีนี้บริษัทจะมีการรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน 12,800 ล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมดที่มี 35,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 3 ของปี 63 มีมูลค่าสูงถึง 13.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% ใกล้เคียงกับ 3.8% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อจีดีพี เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากสัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM หรือ Special Mention Loan) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม นั่นหมายความว่า กลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับชั้นไปสู่ลูกหนี้ NPLs


BAM ชงโมเดลช่วยลูกหนี้

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ "BAM" กล่าวว่าแผนในปีนี้ การซื้อ NPL และ NPA ยังคงมีอยู่ต่อไป แต่จะโฟกัสไปในกลุ่มที่มีโอกาสและอยู่รอด โดยปีที่ผ่านมา แม้จะมีโควิด-19 แต่ทีมผู้บริหารทำได้ดีมาก เอาเงินเข้า BAM ประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท ช่วยลูกค้าให้มีบ้านอยู่ได้ มีกิจการทำต่อในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเรามีการปรับโครงสร้างหนี้ไป 3,000 ราย ปี 64 วางเป้า 3,500 ราย แต่เนื่องด้วยโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ที่ผ่าน TDRI ไปแล้วผ่อนไม่ไหว ซึ่งเราพยายามเข้าไปช่วย เช่น ถ้าลูกค้าต้องการชำระเท่าเดิม สามารถตัดต้นหมดก่อนก็ได้ เมื่่อภาระเงินต้นลดเร็ว ภาระดอกเบี้ยก็น้อยลง ซึ่งเท่าที่เราเห็น ปีที่แล้วกำลังซื้อทรัพย์ไม่ได้ลดลง ขณะที่ทรัพย์บางประเภทเราต้องตัดใจขายออกไป เพราะถ้าถือไว้มีแต่ "ภาระ" ต้องส่งทีมไปดูแลทรัพย์ตลอด กาลเวลาทำร้ายสินทรัพย์ และกลายเป็น "พาหะ" เพราะจะมีผู้บุกรุกเข้าไปอยู่อาศัย เป็นต้น

"ปีนี้ตั้งเป้าซื้อเข้าเสริมพอร์ตเบื้องต้น 9,000 ล้านบาท ที่ตั้งเป้าซื้อน้อย เราเริ่มเห็นธนาคารไม่ปล่อยของออกมา เพราะกำลังรอมาตรการจากแบงก์ชาติ จากข้อมูลที่ได้จากผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม ระบุว่า ผมต้องโอนโรงแรมให้เจ้าหนี้หรือ แล้วต้องไปเช่าต่อจากเจ้าหนี้ ต้องเสียดอกเบี้ย และตอนซื้อกลับจากเจ้าหนี้ ต้องอยู่บนราคาเท่าไหร่ ถึงตอนนั้นลูกหนี้จะมีเงินซื้อโรงแรมกลับคืนมาหรือไม่ ยังไม่รู้เลย ตอนนี้สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการโรงแรม คือ ขาดเงินทุนหมุนเวียน และถ้าปล่อยกู้อีกจะเกินมูลค่าหลักประกันไปเยอะมาก ทำให้แบงก์ไม่ปล่อย ยกเว้นลูกหนี้หาสินทรัพย์มาเพิ่ม แล้วผู้ประกอบการจะหาแอสเสทจากที่ไหน เมื่อผ่านโควิด-19 มาปีกว่าแล้ว"

"ไซมิส" ลุยธุรกิจซื้อ NPA พัฒนาโครงการใหม่

ด้าน นายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) หรือ SA กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจว่า นอกจากการเพิ่มแบรนด์พันธมิตรใหม่ เพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงการในรูปแบบ Branded Residence หรือการปรับเปลี่ยนโครงการคอนโดฯ ให้เป็นโรงแรมระดับ 3-5 ดาว ด้วยการร่วมมือกับแบรนด์ระดับโลก เช่น Ramada, Ramada Plaza, Crown Plaza, Wyndham

บริษัทฯ ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจซื้อสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เพื่อนำมาพัฒนาต่อ หรือออกแบบโครงการใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มพื้นที่ขายให้มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ เน้นทำเลใจกลางเมืองที่มีศักยภาพ เช่น โซนสุขุมวิท โดยมองว่าในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นโอกาสซื้อสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจากความได้เปรียบด้านการก่อสร้าง ทั้งการคุมงานก่อสร้างเอง และประสบการณ์ในการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของ SA สูงกว่าบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มอสังหาฯ โดยทั่วไป

ขณะที่นายบุญ ชุ เกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) หรือ "CHEWA" กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่ชัดเจนในปีนี้ ในการเข้าลงทุนหรือร่วมลงทุนกับเจ้าของที่ดินเพื่อเริ่มพัฒนาโครงการ รวมถึงการเข้าซื้อโครงการที่อยู่อาศัยมาต่อยอดธุรกิจให้แก่บริษัทฯ

ธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาฯ ยื่นตั้งบริษัทบริหารหนี้ สนใจซื้อทรัพย์แบงก์

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มบริษัทที่ทำธุรกิจด้านที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ มองและให้ความสนใจในการเข้าไปบริหารหนี้และเอ็นพีเอจากธนาคารพาณิชย์ โดยมีบางแห่งได้ยื่นขอจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในเรื่องของบุคลากรที่เข้ามาร่วมทำงาน มีการทาบทามผู้บริหารที่เคยรับผิดชอบการบริหารหนี้ในบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (หรือบสท.ในอดีต) เข้ามาร่วมบริหารธุรกิจ

"ตอนนี้การบริหารหนี้เสียและเอ็นพีเอเป็นเค้กที่หลายๆ ธุรกิจให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถมาต่อยอดกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายสินทรัพย์ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สร้างรายได้จากการเข้าไปประมูลทรัพย์และมาบริหารจัดการ ที่สร้างกระแสเงินสดจากการติดตามหนี้เข้ามาในบริษัทเอเอ็มซีที่จัดตั้งขึ้นมาได้ หรือแม้แต่บางธนาคาร เช่น ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดที่จะดันหน่วยธุรกิจในการบริหารลูกค้าให้แก่โครงการอสังหาริมทรัพย์ ออกมาในรูปของบริษัท แต่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งโครงการที่เข้าไปดูแลจะเป็นบริษัทอสังหาฯ รายย่อยในตลาดต่างจังหวัด" แหล่งข่าวกล่าวและว่า สิ่งที่จะตามมาหากมีการจัดตั้งเอเอ็มซีเป็นจำนวนมาก การแข่งขันจะมีความรุนแรงมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น