ส่องราคาหุ้น “บัตรกรุงไทย” หลังพักฐาน พบธุรกิจหลักส่งสัญญาณเติบโตลดลงจากฐานลูกค้าปัจจุบันมีขนาดใหญ่มาก ทำให้อัตราการเติบโตชะลอตัว แต่ธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นสินเชื่อมีหลักประกัน มีโอกาสผลักดันการเติบโตของผลประกอบการในอนาคต โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่เข้าไปร่วมแบ่งกำไรจากบริษัทแม่ (ธนาคารกรุงไทย) เหตุดีมานด์ยังสูง แม้แข่งขันดุเดือดไม่แพ้สินเชื่อบุคคล
แต่เดิมหุ้นของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ถือได้ว่าเป็นหุ้นในดวงใจของใครต่อใคร และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่กลับปัจจุบันจากสถานการณ์หลายอย่างที่เปลี่ยนไป ทำให้วันนี้หลายคนเริ่มมีคำถามต่อหุ้น KTC ในท่าทีที่ต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ซึ่งกอด KTC ไว้เหนียวแน่นอย่าง “มงคล ประกิตชัยวัฒนา” ตัดสินใจขายหุ้นจนเหลือเพียง 10.25% จากที่เคยทยอยไล่เก็บหุ้นในสมัยที่ราคาเฉลี่ย 30 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท และเมื่อมีการแตกพาร์เหลือ 1 บาท จึงมีต้นทุนเฉลี่ยเพียงหุ้นละ 3 บาท โดยถือหุ้นในสัดส่วนสูงกว่า 15% ของทุนจดทะเบียน
การปล่อยขายหุ้น KTC ประมาณ 5% ของ “มงคล” ถูกโยงมาอ้างเป็นสาเหตุให้ราคาหุ้น KTC ปรับตัวลดลง จากที่เคยร้อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อต้นปี 2563 ราคาหุ้นลดลงมาเหลือ 23.30 บาทต่อหุ้น จากนั้น KTC ทยอยไต่ระดับราคาจนขึ้นมาสูงสุด 90.25 บาทต่อหุ้น และปรับฐานลงเรื่อยมาจนล่าสุด 12 มี.ค.2564 ราคาปิดอยู่ที่ระดับ 72.75 บาทต่อหุ้น และมีการคาดการณ์ว่า การขายหุ้น KTC แบบบิ๊กล็อตครั้งนี้ “มงคล” สามารถทอนทุนคืนจากการเข้าเก็บหุ้นรวมกว่า 1,000 ล้านบาทได้สำเร็จ อีกทั้งยังได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสูงมากจากที่เคยเริ่มเข้าสะสมกว่า 6,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การทำกำไรจากการขายหุ้น KTC ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง KTC ในครั้งนี้ เพราะประเด็นที่สำคัญกว่านั่นคือมุมมองต่อธุรกิจของบริษัทที่อาจมีส่วนสำคัญต่อการลดการลงทุนของผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของบริษัทมากกว่า แม้จะมีการปลอบประโลมลดการหวั่นวิตกของผู้ถือหุ้นว่าสัดส่วนหุ้นที่เปลี่ยนมือออกไป จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกองทุนต่างๆ ที่ให้ความสนใจเข้ามาถือหุ้น KTC แต่ปัจจัยที่ยังกดดันบริษัทคงหนีไม่พ้นค่า P/E ของบริษัทที่อยู่สูงจนใกล้แตะ 35 เท่า ขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจสินเชื่อในปัจจุบันนั้นรุนแรงมากกว่าเดิม และอาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทอาจไม่สดใสเหมือนในอดีต
ที่ผ่านมา KTC จัดเป็นหุ้น Growth Stock ซึ่งมีผลประกอบการเติบโตทั้งรายได้และกำไรระดับ 40-50% ต่อปีมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีธุรกิจ 3 ขาหลัก ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ช่วยกันผลักดันผลประกอบการ แต่ปัจจุบันธุรกิจบัตรเครดิตซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ด้วยฐานลูกค้าขนาดใหญ่ทำให้โอกาสในการเติบโตเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว
อีกทั้งธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลถือเป็นอีกธุรกิจที่ปัจจุบันมีคู่แข่งขันส่วนแบ่งการตลาดเป็นจำนวนมากแถมยังถูกกดดันโอกาสการเติบโตของรายได้จากมาตรการภาครัฐที่มีคำสั่งปรับลดเพดานดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จากเดิม 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปีกดดันเพิ่มเติมอีก
ขณะที่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ภายใต้ชื่อ “KTC พี่เบิ้ม” ภาพรวมจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการก่อร่างสร้างตัว เพราะในตลาดนี้ผู้เล่นรายใหญ่เจ้าเดิมล้วนมีศักยภาพ และมีส่วนแบ่งการตลาดของตัวเองที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การเพิ่มอีกหนึ่งไลน์ธุรกิจใหม่ของบริษัท เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจและเพิ่มโอกาสในการเติบของบริษัทในอนาคต นั่นคือการกระโดดเข้าร่วมชิงส่วนแบ่งในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ผ่านการเข้าถือหุ้นกลุ่มบริษัทในเครืออย่าง บริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด จากบริษัทแม่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในสัดส่วน 75.5% หรือเม็ดเงินลงทุน 594 ล้านบาท
“ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวว่า ตามนโยบายของธนาคารกรุงไทยที่จะให้บริษัทเข้าถือหุ้นสัดส่วน 75.05% ในบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง (KTB LEASING) นั้น คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 3 เดือน หรือประมาณเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งการเข้าไปถือหุ้นครั้งนี้เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจจำนำทะเบียนรถของบริษัทได้ ขณะเดียวกัน ถือเป็นการเข้าไปในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันได้มากขึ้น
ปัจจุบัน “เคทีบี ลีสซิ่ง” ยังเป็นผู้เล่นที่เล็กของตลาด ดังนั้นจำเป็นต้องกำหนดจุดขายให้ชัดเจนก่อน ซึ่ง KTC มองเห็นดีมานด์และความเดือดร้อนของประชาชน และจากการประเมินยอดขายรถเกือบ 1 ล้านคันต่อปี เริ่มเห็นคุณภาพเครดิตในช่วงที่ผ่านมาลดลงไปมาก จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทเริ่มคิดจะวิ่งหาสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น เพราะผลตอบแทนยังดี และเชื่อว่าจะเข้ามาช่วย KTC ได้มาก
จากข้องมูลระบุว่า “กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง” ดำเนินธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อมาตั้งแต่ปี 2548 โดยทำตลาดรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถบัส รถใหญ่ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่ในช่วงปี 2559 ได้หยุดขยายธุรกิจเพื่อเคลียร์ลูกหนี้จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ประมาณ 4,918 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ดี 627 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นลูกหนี้ innactive loans ราว 2,204 ล้านบาท และอยู่ในสถานะปรับโครงสร้างหนี้ (TDR loans) อีกกว่า 2,087 ล้านบาท
ดังนั้น แผนงานแรกของ KTC เมื่อเข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวถูกกำหนดว่า จำเป็นต้องเข้าไปตามทวงหนี้เก่าของ “กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง” ให้เรียบร้อย ขณะเดียวกัน ต้องเข้าไปติดต่อประสานงานกับดีลเลอร์ และอาจต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานใหม่ไม่ว่าจะเป็นระบบ และบุคลากร ด้วยการให้น้ำหนักต่อตลาดรถยนต์เป็นอันดับต้นๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้ผลประกอบการของ “กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง” โดดเด่นไม่น้อยหน้า 3 ปีก่อนหน้าที่มีกำไรโตต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2560 กำไร 68 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,138 ล้านบาท ถัดมาปี 2561 กำไรกระโดดแตะ 273 ล้านบาท จากรายได้รวม 1,246 ล้านบาท และปี 2562 กำไรแตะ 316 ล้านบาท จากรายได้รวม 842 ล้านบาท ซึ่งกำไรของบริษัทที่ระดับดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 6% จากกำไรสุทธิของ KTC ที่อยู่ในระดับ 5,000 ล้านบาท ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีโอกาสที่บริษัทจะคืนทุนจากการลงทุนในรอบนี้ได้อย่างรวดเร็วเพียง 2-3 ปี ไม่นับรวมมูลค่าเพิ่มของลูกค้าแต่ละรายในอนาคต จนหลายฝ่ายเริ่มมองว่าจะเป็นธุรกิจหลักใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของ KTC ในอนาคต
ส่วนภาพรวมธุรกิจในปี 2564 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC คาดการณ์ว่า แม้ในปี 2564 เป็นปีที่ธุรกิจในภาพรวมมีความค่อนข้างยากลำบาก แต่ในส่วนของบริษัทมั่นใจว่าการดำเนินในภาพรวมจะดีกว่าในปีที่ผ่านมา โดยบริษัทตั้งเป้าหมายมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8% พร้อมมั่นใจว่าจะมีกำไรสูงกว่าปี 2563 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท และในปีนี้จะโฟกัสไปยังสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเข้าลงทุนใน “กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง”
นอกจากนี้ ภายหลังการเข้าทำรายการในกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง นั้นจะทำให้บริษัทมีไลน์ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันเพิ่มเติม และทำให้ไลน์ธุรกิจของ KTC ครบวงจรทั้งสินเชื่อ ที่มีหลักประกันและไม่มี
ส่วนในแง่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลปี 2564 บริษัทยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการทำตลาดลูกค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งควบคู่ไปกับการทำกิจการทางการตลาดและโปรโมชันต่างๆ รวมถึงการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เพิ่มเติม หวังกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้าให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทมีฐานลูกค้าในส่วนดังกล่าวราว 800,000 ราย
ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตปีนี้ทาง KTC ประมาณการยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 8% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ -7.7% โดยมองว่าหมวดที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังเป็นการใช้จ่ายในประกัน การเติมน้ำมัน และธุรกิจโรงพยาบาล ส่วนหมวดการท่องเที่ยวและห้างสรรพสินค้านั้นเชื่อคงจะได้เห็นการฟื้นตัวในเดือนมีนาคม 2564 และหากแผนงานต่างๆ เป็นไปตามที่วางไว้ บริษัทคาดตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2564 คงปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนที่ราว 1.8% นั่นทำให้ KTC ได้วางงบลงทุนไว้ราว 400-500 ล้านบาท เพื่อดำเนินพัฒนาระบบและปรับปรุงระบบไอที เพื่อหวังเสริมศักยภาพการให้บริการทางด้านธุรกรรมออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้น จนเริ่มมีหลายฝ่ายเชื่อว่า Synergy ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเข้าซื้อ “กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง” จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้ KTC ทั้งลูกค้าที่ใหม่จากสินเชื่อรถยนต์ จะเข้ามาใช้บริการสินเชื่ออื่นๆ ของบริษัท และลูกค้าเดิมของบริษัทที่สนใจเข้ามาใช้บริการสินเชื่อรถยนต์ หรือจำนำทะเบียนรถ นำไปสู่คาดการณ์ว่า ดีลดังกล่าวจะทำให้มี Upside ต่อประมาณการปี 2564-2565 ที่ 1-2% ต่อปี ภายใต้สมมติฐานการเติบโตสินเชื่อปีละ 10% ตามเป้าหมายของบริษัท และหากธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จ อาจทำให้กำไรสุทธิของ KTC ในช่วงปี 2565-2566 เติบโตอย่างก้าวกระโดด
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ในช่วงที่ผ่านมา 3-4 เดือน KTC และ KTB (ธนาคารแม่) ทำดีลร่วมกันหลายดีลแล้ว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงเตรียมการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในเครือของธนาคาร ได้แก่ 1) การตั้งบริษัทใหม่ KTC Prepaid (KTB ถือหุ้น 25%) ในเดือนตุลาคม 2563 เพื่อให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2) KTC เข้าซื้อหุ้น 25% ใน KTBA จาก KTB เพื่อจะได้เข้าถือหุ้นทางอ้อมใน Infinitas (บริหารแอปมือถือของรัฐบาลอย่างเช่น เป๋าตัง) และ 3) KTC เพิ่งเข้าไปซื้อหุ้น “กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง” จาก KTB นั่นทำให้ถูกมองว่านี่คือการถ่ายโอนศักยภาพการเติบโตในธุรกิจรายย่อยจาก KTB มาที่ KTC แทน และน่าจะเห็นดีลการซื้อหุ้นลักษณะนี้อีกในช่วงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ดีลที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ทำให้กำไรในระยะสั้นของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะทำให้ภาพในระยะยาวของทั้ง KTC และ KTB เปลี่ยนไปจากเดิมในแง่การปลดล็อกข้อจำกัดทางการกฎเกณฑ์ของทางการที่ KTB เผชิญอยู่ และปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในระยะยาวให้แก่ KTC ก่อนจะเข้าสู่สนามแข่งขันในรูปแบบดิจิทัลที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่ง KTC เป็นผู้ปล่อยกู้ให้แก่รายย่อยทั้งบน platform การปล่อยกู้แบบดั้งเดิม และแบบดิจิทัล หรือกลายมาเป็น virtual bank เมื่อกฎเกณฑ์ของทางการเปิดให้ทำได้ นำไปสู่การปรับประมาณการรายได้และกำไรของบริษัทที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้แม้ทิศทางในอนาคตจากดีลดังกล่าวจะดูสดใส แต่หลายฝ่ายมองว่าราคาเป้าหมายเหลือ upside อีกไม่มาก เพราะ upside ของราคาเป้าหมายในอนาคตของ KTC จะขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของสินเชื่อใหม่ การบริหารให้ margin เพิ่มขึ้น และผลสำเร็จจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในอนาคต ดังนั้น ด้วยราคาในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งธุรกิจใหม่ยังไม่เป็นรูปร่าง และยังไม่สามารถส่งคืนผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน บางทีการพักฐานเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงของ KTC ในช่วงเวลานี้อาจส่งผลดีในระยะยาวต่อบริษัท โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายทางธุรกิจสำเร็จผล เราอาจได้เห็นการไต่ระดับขึ้นไปท้าลมหนาวบนยอดเขาของ KTC อีกครั้ง