xs
xsm
sm
md
lg

ราคาหุ้น DELTA ไม่สะท้านไหว มาตรการสกัดร้อนแรงไร้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้น “เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ” หยัดสู้!! ยืนเทรดในราคาสูง เมินมาตรการ Cash Balance และเข้าข่ายถูกกำกับระดับ 2 ห้ามใช้เป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ทุกประเภทบัญชี ที่ ตลท. ประกาศใช้เพื่อสกัดความร้อนแรงไร้ผล เดินหน้าหามาตรการใหม่ปิดช่องทางปั่นราคาหุ้นพุ่งแบบไร้ปัจจัยหนุน ขณะโบรกเกอร์ประเมินพร้อมประสานเสียง “ขาย” เ พราะราคาหุ้นยังไม่กลับสู่ระดับที่พื้นฐานนำทาง

ปี 2563 ถือเป็นปีทองของนักลงทุนที่มีหุ้น DELTA หรือบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในพอร์ต เพราะราคาหุ้นช่วงปลายปีทะยานขึ้นต่อเนื่อง สร้างกำไรงามให้แก่ผู้ที่มีหุ้นตัวนี้ในมือ เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนมากถึง 600-700% ปี 2563 DELTA ครองความเป็นสุดยอดหุ้นแห่งปี โดยให้ผลตอบแทนกว่า 800% จากราคาปิดที่ 53.50 บาท เมื่อสิ้นปี 2562 ขยับขึ้นมาปิดที่ 486 บาท ในสิ้นปี 2563 ล่าสุดปิดตลาดเมื่อ 3 มีนาคม ราคาหุ้น DELTA อยู่ที่ 374 บาท ลดลง 19 บาทหรือ 5.01% ถือว่าราคาหลุด 400 บาทไปแล้วในรอบกว่า 2 เดือนนี้

แม้ช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ราคาหุ้นร่วงลงไปต่ำกว่า 30 บาท ก่อนจะกระเตื้องและขยับพุ่งไปแตะระดับ 400-500 บาทได้อย่างน่าทึ่ง สร้างความฉงนให้แก่วงการตลาดทุนไทย และด้วยราคาหุ้นที่พุ่งแบบฉุดไม่อยู่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สอบถามถึงสาเหตุที่มีผลต่อราคาหุ้นไปยังผู้บริหารของ DELTA หลายครั้ง ในวันที่ราคาหุ้นบวกไปอย่างน่าตกใจ แต่คำตอบที่ได้คือ ทางบริษัทฯ ไม่มีพัฒนาการที่สำคัญใดๆ เช่น การเพิ่มทุนการร่วมทุน การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือข้อพิพาทที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ

อย่างไรก็ดี ในที่สุด ตลท.ประกาศใช้มาตรการ Cash Balance หรือบัญชีเงินสด กับ DELTA มีผลตั้งแต่วันที่ 6-26 ม.ค.2564 และขยายเวลาอีกครั้งเป็น 27 ม.ค.-16 ก.พ.2564 ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี cash balance เท่านั้น ซึ่งลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ กระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ตลท.ประกาศให้ DELTA เข้าข่ายถูกกำกับระดับ 2 โดยห้ามใช้เป็นหลักประกันในการคำนวณวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ทุกประเภทบัญชีและต้องใช้ซื้อขายด้วย Cash Balance เท่านั้น ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ จนถึง 8 มีนาคม 2564  ซึ่งในวันถัดมาราคาหุ้น DELTA ร่วงลงทันที อยู่ที่ 426 บาท ลดลง 56 บาท มูลค่าซื้อขาย 102.71 ล้านบาท ของช่วงเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ หุ้น DELTA คือหุ้นหนึ่งในหลายตัวที่เข้าข่ายมาตรการ Cash Balance

สำหรับเกณฑ์ของหลักทรัพย์ที่ต้องเข้าข่ายติดระดับ 1 คือ Cash Balance โดยหุ้นสามัญ อย่างหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET ต้องมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาทต่อวัน ส่วนหลักทรัพย์ในกลุ่ม mai ใช้เกณฑ์มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 80 ล้านบาทต่อวัน อีกทั้งมีค่า P/E มากกว่าหรือเท่ากับ 40 เท่า หรือขาดทุน ซึ่งตลท.จะใช้ EPS ย้อนหลัง 4 ไตรมาสในการคำนวณ รวมถึงจะใช้เกณฑ์ค่า Turn Over Ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 40% ส่วนใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือวอร์แรนต์ที่อยู่ใน SET และ mai ต้องมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในรอบสัปดาห์มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาทต่อวัน อีกทั้งค่า % Premium ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 20% ของหุ้นแม่ รวมถึงต้องมี Turn Over Ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 100% และเพิ่มเติมเกณฑ์ให้วอร์แรนต์ของหุ้นที่ติด Cash Balance ต้องติดตามหุ้นหลักด้วย

กระนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งความร้อนแรงของหุ้น DELTA ได้ ดังนั้น การหามาตรการออกมาสกัดกั้นจึงจำเป็น เพราะเกณฑ์มาตรการกำกับดูแลนั้น ตลท.ต้องเร่งหากฎกติกาใหม่เพื่อกำกับการซื้อขาย หลังพบยังมีช่องทางที่ทำให้เกิดช่องว่างในการหากำไรอย่างไม่ผิดกฎ นั่นคือการกระจายหุ้นแก่ผู้ลงทุนรายย่อย (free float) ซึ่งข้อมูลของ DELTA คือเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มดัชนี SET50 ที่มีฟรีโฟลตน้อยที่สุดเพียง 22.35% จากเกณฑ์การเข้าคำนวณใน SET50 ที่กำหนดให้ บจ.ต้องมีฟรีโฟลตมากกว่า 20% ขึ้นไป ซึ่งตามมาตรการของ ตลท.กำหนดให้ บจ.ต้องมีฟรีโฟลตไม่ต่ำกว่า 15% ของทุนชำระแล้วใกล้เคียงกับตลาดหุ้นต่างประเทศที่อยู่ที่เฉลี่ย 10-15%

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ตลท.ใช้เกณฑ์กำกับดูแลหุ้นที่ฟรีโฟลตต่ำแบบเดียวกันกับหุ้นปกติ พร้อมกับติดตามข้อมูลการซื้อขายรายบุคคลที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมซื้อขายหุ้นอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการคิดและออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อกำกับดูแลเพิ่มเน้นไปที่การจัดการหุ้นที่มีสัดส่วนฟรีโฟลตต่ำโดยเฉพาะเพื่อป้องกันผลกระทบต่อดัชนี คาดจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้ ขณะที่ข้อมูลฟรีโฟลตเฉลี่ยที่รายงานออกมาของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่ในอนาคต ตลท.จะคำนึงถึงข้อกำหนดฟรีโฟลตในแง่ที่เป็นสภาพคล่องที่แท้จริงของ บจ.ไม่ใช่เพียงฟรีโฟลตที่มีไว้ตามเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีมาตรการดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำเป็นประเด็นสำคัญอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา หุ้นฟรีโฟลตต่ำหลายตัว มีผลต่อตลาดหุ้นทำให้ผันผวนเหวี่ยงขึ้นลงผิดปกติ โดยเฉพาะหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 และ SET100 ที่การปรับขึ้นลงของราคาหุ้นจะส่งผลต่อเนื่องมายังการซื้อขายบนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) และการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้นรายตัว (block trade) เป็นต้น

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ ในมุมมองนักลงทุนสถาบันมองว่า การที่ ตลท. มีแนวคิดเข้ามาดูแลหุ้นฟรีโฟลตต่ำจะช่วยควบคุมการซื้อขายของหุ้นที่ราคาปรับขึ้นร้อนแรงกว่าปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงได้

DELTA หุ้นสุดยอดแห่งปี 2563

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หุ้น DELTA ก็ติดอันดับหุ้นสุดยอดแห่งปี 2563 ไปแล้ว ด้วยผลงานและการสร้างผลตอบแทนสูงที่สุด 600-700% นับว่ามหาศาลอย่างคาดไม่ถึง และนักลงทุนที่มองข้ามหุ้น DELTA ไม่ได้ซื้อเก็บไว้ คงรู้สึกเสียดาย เพราะพลาดโอกาสเก็บเกี่ยวกำไรงามๆ ทั้งที่เมื่อปลายปีก่อนคือ 30 ธันวาคม 2562 หุ้น DELTA ปิดที่ 53.50 บาท และไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก เนื่องจากผลประกอบการปี 2562 ชะลอตัวคือมีกำไรสุทธิ 2,959.96 ล้านบาท ลดฮวบจากปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 5,137.03 ล้านบาท

ขณะที่ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 DELTA ก็ถูกถล่มขายเหมือนหุ้นตัวอื่น จนราคาทรุดลงไปต่ำสุดที่ 27 บาท ก่อนจะกระเตื้องขึ้น และเคลื่อนไหวระดับ 50 บาทอยู่พักใหญ่ หลังปิดการซื้อขายหุ้น วันที่ 27 เมษายน 2563 ซึ่ง DELTA แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกของปีมีกำไรสุทธิ 856.48 ล้านบาท ลดลง 20.9% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 1,086.06 ล้านบาท เพราะรายได้จากยอดการขายและบริการลดลง

แม้ผลประกอบการชะลอตัว หากแต่ไม่ได้ส่งผลต่อราคาหุ้นยังคงไม่ขยับนัก และเมื่อปิดตลาดครึ่งแรกปี 2563 หุ้น DELTA อยู่ที่ 53.75 บาท เพิ่มขึ้นเพียง 25 สตางค์ เมื่อเทียบกับวันสิ้นปี 2562 ทว่า เข้าสู่ครึ่งปีหลัง หุ้น DELTA เริ่มคักคักเพราะราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง และมีนักลงทุนบางกลุ่มเข้ามาทยอยเก็บหุ้น กระทั่งก่อนวันแจ้งงบการเงินไตรมาส 2 ของปีดังกล่าว ราคาหุ้น DELTA ขึ้นไปปิดที่ 90 บาท ปรับตัวขึ้นมา 36.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 67.44% เมื่อเทียบกับจุดปิดที่ 53.75 บาท ในวันที่ 30 มิถุนายน2563

ทั้งนี้ เป็นไปตามคาดที่ DELTA แจ้งตัวเลขผลประกอบการเติบโตด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 2,021.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 872.58 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นพุ่งรับข่าวต่อเนื่อง กระทั่งกลางเดือนกันยายนราคาหุ้นยืนที่ 120 บาท หลังจากนั้นราคาหุ้น DELTA พุ่งต่อเนื่องแบบฉุดไม่อยู่ และเมื่อใกล้แจ้งงบไตรมาส 3 ราคาหุ้นวิ่งเป็นกระทิงอีกรอบแตะ 179.50 บาทในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้น 59.50 บาท หรือเกือบ 50% เมื่อเทียบกับจุดปิดวันที่ 14 กันยายน 2563

แน่นอนว่าผลงานไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 2,642.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 327.25% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 618.38 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นกลับนิ่งและมีการเทขาย ราคาร่วงมาอยู่ที่ 163 บาท กระทั่งปลายปีหุ้น DELTA วิ่งเป็นกระทิงดุ ราคาเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563 ทะยานแตะ 406 บาท ก่อนจะลงมาปิดที่ 343 บาท

สำหรับแผนงานปีนี้ ผู้บริหาร DELTA วางเป้ารายได้รวมโต 10% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 64,275.71 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,101.64 ล้านบาท จากคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G เทเลคอม รถไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเติบโตได้อีกมาก และเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นดี ตามเทรนด์เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง รับกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) จึงต้องมีการลงทุนต่อเนื่องเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะงานส่วนเพาเวอร์ อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ระบบศูนย์ข้อมูล และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้รับความสนใจและติดต่อจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนขยายฐานธุรกิจในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ยอดขายและรายได้ในอนาคต อีกทั้งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมกับคู่ค้า ซึ่ง DELTA ทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้มาร์จิ้นดี รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำเสมอ เพื่อเพิ่มตัวกำไรให้เติบโตสม่ำเสมอ

โบรกฯ ประสานเสียง "ขาย" เหตุกำไรต่ำ-ราคาแพง

เดือนกุมภาพันธ์นี้ นักวิเคราะห์หลายแห่งประเมินราคาหุ้นต่ำกว่า 300 บาท หลังจากราคาหุ้น DELTA เคลื่อนไหวระดับเกินว่าปัจจัยพื้นฐานมาก และผลประกอบการต่ำกว่าที่โบรกเกอร์คาดการณ์ไว้

บล.ทิสโก้ แนะนำ "ขาย" ราคาเป้าหมาย 213 บาท/หุ้น หลัง DELTA รายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 63 ที่ 1.58 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 313% เทียบปีก่อน และลดลง 40% จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่คาด 11-22% ตามลำดับ จากอัตรากำไรที่ต่ำลงเป็น 22% จากเดิมที่ 25.5% หากไม่รวมผลขาดทุนจากการขายเงินลงทุนในบริษัทลูก 95 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 75 ล้านบาท โดยที่กำไรปกติอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 343% จากปีก่อนและลดลง 37% จากไตรมาสก่อน) ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 4 ต่ำกว่าคาด แต่ผลประกอบการทั้งปียังแข็งแกร่งที่ 7.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 39% จากกลุ่มสินค้าประเภท Power Electronic คิดเป็น 71% ของรายได้ทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจาก 62% ในปีก่อน) ทั้งนี้ ประกาศจ่ายเงินปันผล 3.3 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 58% ลดลงจาก 76% ในปี 2019 ขึ้นเครื่องหมาย XD ใน
วันที่ 4 มี.ค.

ทั้งนี้ รายได้ดีกว่าคาด 14% เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่ม EV และการจัดหาวัตถุดิบที่ขาดแคลน แต่อัตรากำไรขั้นต้นและการดำเนินงานลดลง เนื่องมาจากสัดส่วนผลผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานอัตรากำไรต่ำเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการทำ OT และต้นทุนการขนส่ง คาดผลงานครึ่งแรกปี 64 จะถูกกดดันจากสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แนะนำให้ “ขาย” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 213 บาท อิง PER ที่ 32.5 เท่า โดยมีความเสี่ยงคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่วนแบ่งกำไรจาก DELTA Taiwan และการขยายกิจการที่ล่าช้าในอินเดีย

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) แนะนำ "Underperform" แม้ว่ากำไรของ DELTA ในปี 2563 จะโตถึง 140% เทียบปีก่อน และมีแนวโน้มแข็งแกร่งในปี 2564-65 แต่ราคาหุ้นก็อยู่ในระดับที่แพงมาก ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำ “ขาย” โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2565 ที่ 200 บาท อิงจาก PER ที่ 28.0X (+2.0 S.D.) แม้กำไรไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน แต่เทียบไตรมาสลดลง ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของ บล.เคจีไอ 7% และต่ำกว่า Bloomberg 23% หากไม่รวมรายการพิเศษ (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว) กำไรจากธุรกิจหลักในไตรมาส 4ปี63 จะอยู่ที่ 1,624 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการของ บล.เคจีไอ 4% จาก GPM ที่ต่ำเกินคาดมีน้ำหนักมากกว่ารายได้ที่สูงเกินคาด และสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายที่ต่ำกว่าที่คาด กำไรจากธุรกิจหลักปี 2563 อยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากปีก่อนและดีกว่าประมาณการปี 2563 ของ บล.เคจีไอ 4%

แม้ว่ายอดขายแข็งแกร่งเพราะไตรมาส 4 ปี 63 อยู่ที่ 1.82 หมื่นล้านบาท มาจากธุรกิจในกลุ่ม data center และยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23.6% สูงกว่าปีก่อนแต่ต่ำกว่าไตรมาสก่อน ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่คาดค่อนข้างมาก เพราะ product mix ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในปี 63 อยู่ที่ 24.2% ต่ำกว่าสมมติฐานเล็กน้อย แต่สัดส่วน SG&A ต่อยอดขายที่ต่ำเกินคาดเป็นเพราะยอดขายที่แข็งแกร่งทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด กระนั้นบอร์ดอนุมัติจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 3.30 บาท

บล.ดีบีเอสฯ แนะนำ "ขาย" DELTA ราคาเป้าหมาย 224 บาท/หุ้น ให้ราคาพื้นฐาน 224 บาท อิงกับ P/E ปี 21 ที่ 35 เท่า หลังแจ้งงบไตรมาส 4 ปี 63 ต่ำกว่าคาดเพราะ GPM ลดลง โดยในไตรมาสดังกล่าว DELTA มี Core profit 1.6 พันล้านบาท แม้เทียบปีจะเพิ่มขึ้น 344% แต่ลดลง 37% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ 20% การเติบโตของรอบปีเป็นผลจากรายได้เพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อน เป็น 586 ล้านดอลลาร์ อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 22% ส่วนการลดลงจากไตรมาสก่อน มาจากอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ลดลง ส่วนกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายในไตรมาส 4 อยู่ที่ 1.58 พันล้านบาท เพราะมีกำไร FX 71 ล้านบาทและขาดทุนในบริษัทร่วม 95 ล้านบาท สำหรับทั้งปี 20 มีกำไรสุทธิ 7.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 3 พันล้านบาทในปี 19 แต่ DELTA ประกาศจ่ายปันผลปี 20 เท่ากับ 3.3 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD วันที่ 4 มี.ค.21 ชำระเงินปันผล 8 เม.ย.21 (อัตราการจ่ายเงินปันผล 58% ของกำไรสุทธิ)

บล.ดีบีเอสฯ คาดรายได้และกำไรแรกปี 64 จะเติบโตสูงจากฐานต่ำในไตรมาสแรกปี 63 เพราะมีปัญหาอุปทานตึงตัวช่วงโควิด-19 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาส จากเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 5% QTD (หรือราว 1.5 บาท/ดอลลาร์) ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาททุก ๆ 1 บาท จะมีผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นบริษัท 1%

บล.คันทรี่ กรุ๊ป แนะนำ "ขาย" ราคาเป้าหมาย 222 บาท/หุ้น หลัง DELTA มีกำไรสุทธิไตรมาส 4 ที่ 1.6 พันล้านบาท โดยการเติบโตเมื่อเทียบรอบปี เป็นผลมาจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่ง ขณะที่การลดลงเมื่อเทียบไตรมาส เพราะมีแรงกดดันมาจากอัตรากำไรที่ลดลง โดยสรุปในปี 63 DELTA มีกำไรสุทธิ 7.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 133% เทียบปีก่อน จึงประกาศจ่ายปันผล 3.30 บาท XD วันที่ 4 มี.ค.21 บล.คันทรี่ กรุ๊ป ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรปี 64-65 ขึ้น 10-15% คาดกำไรปี 64 ที่ 7.5 พันล้านบาท เติบโต 4% จากปีก่อน ตามรายได้ที่คาดว่าจะยังคงขยายตัว จึงประเมินว่าราคาหุ้นซื้อขายค่อนข้างแพงที่ 71 เท่า PE’21E จึงยังคงแนะนำ “ขาย”










กำลังโหลดความคิดเห็น