ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนช่วยผลักดันผลประกอบการหุ้นเดินเรือ และโลจิสติกส์จากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าระวางเรือที่กลับมาเติบโต ดันทั้งปีรายได้-กำไร และราคาหุ้นสดใส หลังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 แม้ภาพรวมการส่งออกของประเทศถูกกดดัน
ใกล้จะเข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกปี 2564 ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจโลกดูมีทิศทางที่สดใสขึ้น หลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ถึงระดับชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา หลายประเทศจะเริ่มฟื้นตัว สามารถควบคุมยอดผู้ติดเชื้อได้ แต่ในช่วงปลายปีกลับเกิดการระบาดระลอก 2 รวมถึงประเทศไทย ทำให้คาดการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แต่เดิมหลายฝ่ายเชื่อว่าจะต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/64 มาถึงไตรมาสแรกในปีนี้ถูกเลื่อนออกไป
ย้อนกลับมาที่คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 พบว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย การค้าระหว่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง นั่นทำให้การขนส่งสินค้าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโต และทำให้หุ้นในกลุ่มเดินเรือสินค้ามีความสนใจเพิ่มขึ้น นั่นเพราะค่าระวางเรือถูกปรับเพิ่มขึ้นสอดรับกับปริมาณขนส่งที่สินค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ (เรือตู้สินค้า)
ปี 64 ธุรกิจเดินหรือเติบโต
ก่อนหน้านี้ โบรกเกอร์หลายแห่งมีมุมมองที่ยกให้หุ้นกลุ่มเรือเดินสินค้าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะกลับมาโดดเด่นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื่อไวรัส COVID-19 คลี่คลาย เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เคยให้มุมมองต่อทิศทางการลงทุนในปี 2564 ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET index) จะฟื้นตัวตามพัฒนาการของวัคซีนป้องกัน COVID-19 รวมถึงทิศทางกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ (ฟันด์โฟลว์) ที่ยังคงไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยหนุนในปี 2564 ได้แก่ 1.การค้นพบวัคซีน ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจทั่วโลกทยอยฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2564 ดังนั้นจึงเห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากหุ้นที่เติบโตสูง (growth stock) มายังหุ้นคุณค่า (value stock) ซึ่งไทยมีสัดส่วนกลุ่มหุ้นดังกล่าวสูงถึง 51% ได้แก่ กลุ่มธนาคาร และกลุ่มการเงิน (finance) 2.ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบมหาศาล ค่าเงิน ดอลลาร์อ่อนค่าลง และส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย 3.มูลค่าหุ้น (valuation) ในตลาดหุ้นไทยถูกกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 15% และ 4.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2 ประเทศจะเริ่มกลับมาเจรจาทางการค้ากันอีกครั้ง แต่เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศจีน ดังนั้น หุ้นเด่นในกลุ่มโลจิสติกส์ ได้แก่ บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) และ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL)
ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่า หุ้นที่เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเฉพาะบริษัทที่มีไลน์ธุรกิจด้านเรือขนส่งและตู้สินค้า (ตู้คอนเทนเนอร์) อื่นๆ ก็ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของตู้สินค้า เนื่องจากสภาวะในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ขาดแคลน ขณะที่การขนส่งทางทะเลนับว่าเป็นเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศที่สำคัญของโลก
สาเหตุตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
ข้อมูลจาก UNCTAD ระบุปริมาณการส่งสินค้าทั่วโลกกว่า 80% ถูกขนส่งทางทะเลผ่านสายการเดินเรือ (Shipping Line) ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ (Container) หรือตู้สินค้าเนื่องจากบรรจุสินค้าได้หลายประเภท ดังนั้นตู้สินค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าจึงส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก
โดยสาเหตุของการขาดแคลนตู้สินค้านั้นมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เข้มงวดทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีก่อน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงัก การค้าระหว่างประเทศผ่านทางเรือได้รับผลกระทบ โดยปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าที่ลดลงมากทำให้สายการเดินเรือมีการยกเลิกการเดินเรือและมีการแล่นเรือเปล่า (Blank Sailing ) ที่สูงขึ้นมาก นั่นหมายถึงเกิดเหตุการณ์ตู้สินค้าในประเทศปลายทางไม่ได้ถูกส่งกลับตามเวลาที่กำหนดและติดค้างอยู่ในท่าเรือ
นอกจากนี้ ยังมาจากความไม่ได้ดุลทางการค้าระหว่างประเทศ (Trade Imbalance) โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปเป็นประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออก (Net Importer) ส่วนด้านสายเรือนั้นการส่งกลับตู้สินค้าเปล่าหรือสินค้าส่งออกในปริมาณน้อยนั้นมีต้นทุนสูงมากในภาวะที่ประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่ก็ไม่มีความต้องการส่งออกในช่วงเวลานั้น ดังนั้น ตู้สินค้าจำนวนมากจึงตกค้างอยู่ในประเทศปลายทางตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ และในยุโรป มีรายงานจาก Alphaliner ว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปิดเมืองเข้มงวดในหลายประเทศ พบว่ามีเรือขนส่งคอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้งาน (Idle Containership Fleet) ถึง 551 ลำ หรือ 2.7 ล้าน TEU หรือคิดเป็น 11.6% ของกองเรือทั่วโลก
ผลกระทบจากการขาดแคลน
แต่จากการที่ ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจจึงกลับมาดำเนินการอีกครั้ง และความต้องการสินค้าทางการแพทย์ การป้องกัน และสินค้าจำเป็นเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการในสหรัฐฯ และยุโรปมีการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเทศกาลต่างๆ ในช่วงปลายปี ทำให้ความต้องการตู้สินค้า (Container) ปรับเพิ่มขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม การที่ตู้สินค้าจำนวนมากตกค้างอยู่ในท่าเรือประเทศปลายทาง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานที่เพียงพอที่ท่าเรือเนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่ จึงทำให้กระบวนการภายในท่าเรือและการส่งต่อมีความล่าช้า นำไปสู่ระยะเวลาการขนส่งระหว่างประเทศจึงนานกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ตู้สินค้าที่ท่าเรือของประเทศจีนและในเอเชียไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค นั่นเพราะการที่อัตราค่าระวางเรือ (Freight) สำหรับส่งสินค้าโดยเฉพาะตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้นมาก เนื่องจากค่าระวางเรือนั้นถูกกำหนดจากหลักอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้นโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรปหลังจากคลายมาตรการล็อกดาวน์
ขณะที่ประเทศที่ต้องการส่งออกโดยเฉพาะจีนนั้นมีตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอเนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่ตกค้างในประเทศปลายทาง รวมถึงเกิดความล่าช้าในการขนส่งเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังมีอยู่ในหลายประเทศ นำไปสู่การปรับตัวขึ้นของอัตราค่าระวางเรือตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีก่อนเป็นต้นมา
ไม่เพียงเท่านี้ การขาดแคลนตู้สินค้าถือเป็นการกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออก เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์เป็นสิ่งจำเป็นในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เมื่อสายเดินเรือไม่สามารถจัดหาตู้สินค้าเปล่าได้ทัน ทำให้มีการจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด และต้องมีการจองที่ว่างในตู้สินค้าล่วงหน้าหลายสัปดาห์ รวมถึงมีโอกาสที่สายเรือจะยกเลิกการจองเนื่องจากที่ว่างในเรือไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กดดันการฟื้นตัวของภาคส่งออกให้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
มีรายงานว่า อัตราค่าระวางเรือโดยเฉพาะเส้นทางเอเชีย-อเมริกาเหนือ และเอเชีย-ยุโรป นั้นสูงเป็นประวัติการณ์ เพราะสายการเดินเรือต่างๆ เร่งนำตู้คอนเทนเนอร์กลับไปยังเอเชียโดยไม่รอสินค้าส่งกลับจากประเทศปลายทาง โดยเฉพาะประเทศในที่มีการส่งออกน้อย เนื่องจากมูลค่าตู้สินค้านั้นสูงขึ้นนำไปสู่อัตราค่าบริการที่สูงเป็นเงาตามตัว ทำให้ในหลายประเทศของยุโรปและสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและจากปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีการประเมินว่า ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน จะส่งผลให้ประเทศจีนเร่งการผลิตตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น ซึ่งล่าสุดในเดือนตุลาคมปีก่อน การผลิตตู้คอนเทนเนอร์ในจีนขยายตัวถึง 111.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่สายการเดินเรือต่างๆ ก็มีการเพิ่มปริมาณการบรรจุสินค้าเพื่อรองรับอุปสงค์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทาง East-West ทำให้ในอนาคตจึงมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างเร็วที่สุดจะมีระยะเวลาไปถึงปี 2565
ขณะเดียวกัน มีการเรียกร้องจากภาคเอกชนในประเทศไทยว่าปัญหานี้ภาครัฐต้องไม่มองว่าเป็นประเด็นของเอกชนเท่านั้น เพราะการต่อรองเพื่อให้ได้รับบริการตู้สินค้าสำหรับผู้ส่งออกไทยวันนี้ต้องเป็นในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลเพราะในภูมิภาคนี้โยงไปถึงจีนและเวียดนามนั้นมีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นจำนวนมาก ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งออกไทยปี 2564 สูญเสียกว่า 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 154,767 ล้านบาท และกระทบต่อส่งออกรวม 2.2%
ล่าสุด สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2564 ว่า มีมูลค่า 19,707 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.35% บวกต่อเนื่องเดือนที่ 2 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวสูงถึง 7.57% สะท้อนการเติบโตจากภาคเศรษฐกิจจริง ขณะที่การนำเข้า มูลค่า 19,909 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.24% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 202 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ปัญหาขนส่งและขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในระดับสูง และทิศทางเงินบาทแข็งค่ายังทำให้ราคาสินค้าไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
แต่เดิมมีการประเมินว่า ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนเดิมจะคลี่คลายในไตรมาสแรกของปี 2564 แต่ล่าสุดมีการประเมินว่าอาจจะลากยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือปัจจุบันได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 3-5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะค่าระวางเรือ 40 ฟุต เฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 8,530 เหรียญสหรัฐ จากปี 2563 ที่ 2,483 เหรียญสหรัฐ หรือมีส่วนต่างเพิ่มขึ้น 6,096 เหรียญสหรัฐ ซึ่งปัญหานี้จะทำให้การส่งออกไทยจะลดลง
ขณะที่ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กลับพบว่าหุ้นกลุ่มเดินเรืออย่าง บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) และ บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) นั้นตั้งแต่ต้นปี 2564 ราคาหุ้นยังคงปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่องจากปี 2563 โดย PSL ราคาหุ้น ณ วันที่ 25 ก.พ.2564 ปิดที่ระดับ 11.00 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน (25ก.พ.2563) ประมาณ 121.77%
ส่วน บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 7.25 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 130.89% ขณะที่ RCL ปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ระดับ 24.30 บาท เพิ่มขึ้น 778.05% ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กำลังลุกลามในหลายประเทศ และ บมจ.จุฑานาวี (JUTHA) ปัจจุบันอยู่ที่ 1.19 บาท เพิ่มขึ้น 310.34%
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มเดินเรือ โดยเฉพาะ PSL และ RCL ยังคงคล้ายกับเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา คือ Demand ที่ปรับตัวขึ้นสวนทางกับ Supply ที่ลดลงไป โดย PSL ส่วนใหญ่เป็นเรือเทกอง เน้นขนส่งสินค้าเกษตรและสินแร่ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประสบกับปัญหา Oversupply ในอุตสาหกรรมมาต่อเนื่อง แต่ความกังวลดังกล่าวผ่อนคลายลงมาก โดยคาดการณ์ว่าปริมาณการค้าขายโดยเรือเทกองจะเติบโต 5% ใน 2564 ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตทางการค้า แต่คาดว่า Supply จะเติบโตเพียง 1.4% เนื่องจากการส่งมอบเรือใหม่ ไม่เพียงเท่านี้ยังเชื่อว่า PSL ยังมีแนวโน้มเชิงบวกระยะยาวอีก 2-3 ปี จากคำสั่งซื้อเรือใหม่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปีที่ 6.5% ของปริมาณกองเรือในปัจจุบันและอาจลดลงไปอีก ขณะเดียวกัน ค่าระวางเรือเฉลี่ยในปีนี้ปรับขึ้นมาถึง 150% จากค่าเฉลี่ยเมื่อปีก่อน ทำให้คาดการณ์กำไรปีนี้ และปี 2565 เติบโต 28% และ 20% อยู่ที่ 946 ล้านบาท และ 1,176 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้าน RCL นักวิเคราะห์เชื่อว่าได้แรงหนุนจากปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ซึ่งยังไม่หมดไป และยังเห็น Demand ของประเทศต่างๆ ที่สั่งสินค้าจากจีนเพื่อชดเชยการผลิตที่ยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติช่วงครึ่งปีหลังเมื่อการผลิตของโรงงานต่างๆ เริ่มกลับมาปกติ ต้องจับตาดูอีกครั้งว่าปัญหาขาดแคลนตู้จะยังอยู่หรือไม่ รวมถึง Demand สำหรับการสั่งสินค้าจะลดลงมากน้อยเพียงใด
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับสถานการณ์นี้คือ นอกเหนือจากหุ้นกลุ่มเดินเรือที่กำลังได้รับอานิสงส์จากค่าระวางเรือที่ปรับตัวขึ้น และการขาดแคลนตู้สินค้า ยังพบว่าหุ้นในกลุ่มโลจิสติกส์อื่นๆ บนกระดานหลักทรัพย์ต่างคาดหวังจะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน เช่น บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ (NCL) คาดว่าในปี 2564 ทุกธุรกิจในเครือ ได้แก่ ธุรกิจบริการขนส่งครบวงจรทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือทั่วโลก รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำยาล้างไต และจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์มีทิศทางที่ดีมาก โดยเฉพาะได้แรงหนุนจากการให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ (FCL) ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก ส่งผลบวกต่อธุรกิจโดยตรง และปรับอัตราค่าบริการได้ในระดับสูง
โดยปัจจุบันบริษัทมีตู้สินค้าในส่วนของ NCL เอง จำนวน 500 ตู้ ซึ่งเป็นมูลค่าที่ซื้อมาประมาณ 1,800 ล้านบาท ตอนนี้มูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3,800 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีการให้บริการตู้สินค้าของ LG TH (บริษัทในเครือ NCL) จำนวนประมาณ 1,500 ตู้ ทำให้มีตู้สินค้าบริการรวมมากกว่า 2,000 ตู้ ด้วยอัตราราคาการเช่าตู้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง รวมไปถึงธุรกิจขนส่งในประเทศยังบริการไปได้ดี ควบคู่ไปกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำยาล้างไตฯ ที่มีศูนย์บริการมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ
ขณะที่ บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา มองว่าความต้องการขนส่งสินค้า ทั้งบริการภาคพื้นดินระหว่างประเทศ (Cross Border Transportation) และทางเรือ (Sea Freight) ยังมีอยู่อีกมาก แต่เนื่องด้วยปัญหาของ Supply ตู้สินค้าที่ไม่เพียงพอในปัจจุบันทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสินค้าได้เท่าที่ควรนัก
ทำให้ปัญหาเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ค่อนข้างรุนแรงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงส่งผลต่อกระบวนการต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้ากระทบต่อปริมาณตู้สินค้ากลับสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการสั่งซื้อตู้สินค้าใหม่เข้ามาเพิ่มอีก 200 ตู้ โดยคาดว่าจะสามารถทยอยรับมอบได้ครบจำนวนภายในไตรมาส 2/2564 ส่งผลให้บริษัทจะมีตู้สินค้ารองรับการให้บริการลูกค้าเพิ่มเป็นกว่า 500 ตู้ จากปัจจุบันที่มีตู้สินค้าให้บริการทั้งสิ้นราว 300 ตู้ ส่วนสถานการณ์ตู้สินค้าจะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ในช่วงครึ่งหลังปี 2564 นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่เริ่มกระจายใช้งานว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหา และทำให้สถานการณ์ฟื้นตัวได้ดีมากน้อยแค่ไหน
เรียกได้ว่าปี 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองคำ สำหรับหุ้นกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำ จากอัตราค่าระวางเรือที่หลายฝ่ายเชื่อว่าทั้งปียังอยู่ในระดับสูง แถมการขาดแคลนตู้สินค้ายังเข้ามาช่วยผลักดันราคาในการให้บริการอีกด้วย จึงนับเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ไม่ควรถูกมองข้ามในปีนี้